พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ 9 คำสอน ‘พ่อ’ ต่อตำรวจไทย

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ณ พระที่นั่งชุมสายและนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในโอกาสโรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนาครบ 100 ปี ณ ลานฝึกศรียานนท์ ดรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2545
“…ขอให้สำนึกถึงความรับผิดชอบของตำรวจ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ตำรวจย่อมมีหน้าที่เป็นผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของอาณาประชาชนอย่างใกล้ชิด ในการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายและรักษาสันติสุขนั้น นอกจากความรู้ความสามารถในหน้าที่แล้วย่อมต้องวางตนให้เป็นแบบอย่างอันดี เพราะความนิยมเคารพเลื่อมใส ยังความอบอุ่นร่มเย็นแก่บรรดาประชาราษฎร์ มีความซื่อสัตย์สุจริต ความยุติธรรมและความกรุณาปราณีประกอบไปด้วย คราวใดที่ควรให้ความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำอันจะเป็นประโยชน์ได้แล้ว ก็ต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหรือคำตักเตือน เช่นว่านั้น ด้วยความเมตตาปราณี รวมความว่าควรจะต้องวางตนเหมือนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยงและผู้รับใช้ประชาชนด้วยในคราวเดียวกัน ถ้าท่านได้ยึดมั่นอยู่ในข้อเหล่านี้ และพยายามบำเพ็ญตนและอบรมผู้ที่จะอยู่ในบังคับบัญชาของท่านต่อไปตามนัยที่่ว่านี้แล้ว ประโยชน์และความสุขจะบังเกิดแก่ชาติบ้านเมืองเป็นแท้ “
พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกระบี่แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระบี่

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) ได้รับพระบรมราชานุญาตให้คัดลอกนำอ้างอิงไว้ ในงานวิจัยเรื่อง “พระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในการบริหารงานตำรวจ” ที่ศึกษาไว้เมื่อครั้งศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) ปีการศึกษา 2539 ครั้งยังดำรงตำแหน่งรองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มียศ “พล.ต.ต.” และได้จัดพิมพ์เผยแพร่ ในปีพ.ศ. 2540 เป็นครั้งแรก และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2547

อดีตรองผบ.ตร. บอกว่า งานวิจัยอันทรงคุณค่านี้ มีแรงบันดาลใจ จากความรัก และ ศรัทธา ต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตนเองยังเป็นนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย มีโอกาสได้รับเสด็จฯพระองค์ท่านบ่อยครั้งตามวาระ ได้สัมผัส รู้ ศึกษาถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สำนึกในพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ ก่อตัวมาตลอดเวลาที่ได้รับการศึกษาอบรม ได้ประจักษ์น้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์ทรงมีต่อเด็กวชิราวุธฯ ทุกปีจะทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเลี้ยงปีใหม่ ทรงดนตรีกับวงดนตรีของวชิราวุธฯ เสด็จพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนที่จบการศึกษา และพระราชทานพระบรมราโชวาทได้เราได้คิด สดับ ไตร่ตรอง จนโต เรียนจบจากโรงเรียนายร้อยตำรวจ ได้รับพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ และทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ก็รับใส่เกล้าฯไว้

“กระทั่งผมไปเป็นนักเรียนฝึกหัดการบิน ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน ผมได้ก้มลงกราบแทบฝ่าพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รับพระราชทานพระเครื่องกำลังแผ่นดิน หรือสมเด็จจิตรลดา พระราชทานบรมราโชวาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม 4-5 ประการไว้เป็นหลักในการรับราชการและประพฤติปฏิบัติตน เช่นความสัตย์ สุจริต ที่ทรงย้ำว่าหากทำได้ตามนี้จะถึงซึ่งความเจริญ และพระองค์ท่านยังมีพระราชดำรัสให้ไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระ เหมือนการทำความดี ไม่ต้องไปสนใจว่าใครจะเห็นหรือไม่ นับแต่วาระนั้น ตั้งสัตย์ปฏิญาณ แก่ตนเองว่าจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณให้ตรงพระบรมราโชวาททุกประการ” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ หรือ อาจารย์ป๋อม เล่าถึงแรงบันดาลใจ ปฏิญาณอันยิ่งใหญ่

เมื่อมีโอกาส เรียน วปอ. จึงเกิดความคิดว่าเรามีแรงบันดาลใจมาตลอดชีวิต ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงอยากศึกษาค้นคว้า รวบรวมว่าตลอดรัชสมัยพระองค์ทรงสอนแก่พสกนิกรไว้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะตำรวจ จึงรวบรวมพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่ตำรวจในทุกโอกาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493-2542 มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้สอดคล้องกับวิชาการตำรวจ อุดมคติตำรวจ หน้าที่ความรับผิดชอบของตำรวจ เพื่อเป็นประโยชน์ได้ศึกษา รับรู้ถึงสิ่งที่ทรงสอนและทรงห่วงใยตำรวจ และให้ตระหนักถึงคำว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ อธิบายถึงงานวิจัยที่ถ่ายทอดเป็นหนังสือและอยากให้ตำรวจทุกนายอ่าน

Advertisement

ในงานวิจัยบทตอนเรื่อง “อุดมคติตำรวจ” ที่ว่า “เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต” ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาท ในหลายวาระ สะท้อนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้ข้าราชการ โดยเฉพาะตำรวจ พึงคิด ปฏิบัติตนตามอุดดมคติ

ดังพระบรมราโชวาท ตอนหนึ่ง ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตร แก่ว่าที่ ร.ต.ต. ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2525 และพระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มสันติพิทักษ์แก่ผู้ที่สำเร็จการอบรมหลักสูตรผู้กำกับการรุ่นที่ 4 และพระราชทานประกาศนียบัตรกับเข็มพิทักษาธิปัตย์ แก่ผู้สำเร็จการอบรมหลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ รุ่นที่ 5 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม 2526

Advertisement
“..อุปสรรคสำคัญของตำรวจคือความท้อถอยและความขลาดหวาดหวั่น อันเป็นเครื่องบั่นทอนความสามารถและความฉลาดในตนเองอย่างร้ายกาจ ตำรวจจะยอมแพ้แก่ความยากลำบากหรือแก่คนทุจริตไม่ได้เป็นอันขาด ตรงข้ามจะต้องตั้งมั่นและระลึกไว้เสมอว่าตำรวจเป็นฝ่ายที่เป็นธรรมและสุจริต ย่อมอยู่ในสภาพที่เหนือกว่าผู้กระทำผิดทุกประการ จึงต้องเอาชนะผู้กระทำผิดได้เป็นแน่นอน..”
และตอนหนึ่งจากบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการตำรวจที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปี 2533 และตำรวจที่ผ่านการศึกษาอบรมหลายหลักสูตร ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันพุธ ที่ 10 เมษายน 2534
“..ตำรวจจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกตนให้มีความหนักแน่น ทั้งในกาย ในวาจา และสำคัญที่สุดคือในความคิดจิตใจ นายตำรวจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับใด จะต้องฝึกควบคุมจิตใจให้เข้มแข็งหนักแน่นในความเป็นกลาง มิให้หวั่นไหวสะดุ้งสะเทือนไปกับความโกรธ ความหลง และอคติ ความคิดพิจารณาของแต่ละคนก็จะกระจ่างแจ่มใส สามารถวินิจฉัยตัดสินกรณีทั้งปวงได้ตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริงด้วยความกล้าหาญ มั่นใจ และภาคภูมิ จิตใจที่ฝึกฝนให้เข้มแข็งและเที่ยงตรงแล้วนี้ ยังจะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงสำหรับรองรับและส่งเสริมการปฏิบัติภาระหน้าที่ ให้ก้าวหน้าไปโดยราบรื่น และบรรลุความสำเร็จ ความเจริญ อันเป็นเป้าหมายอีกโสดหนึ่งด้วย”
สะท้อนว่า ผู้เป็นตำรวจ ต้อง “อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก”
และ  ” ไม่มักมากในลาภผล “
” ..อุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางการปฏิบัติงานและทำลายความเป็นตำรวจของท่าน ได้แก่สิ่งล่อใจ ได้แก่คำหว่านล้อม พร้อมทั้งคำสบประมาทเย้ยหยัน ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงจิตใจอันใสสะอาดให้เป็นมลทินและชักนำให้ค่อยๆถลำลงไปในความชั่ว หันเข้าประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดและเป็นภัยต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างร้ายแรง เพราะฉะนั้น ท่านจะต้องสำรวม ระวังตัว ต้องทำใจให้เข้มแข็ง เด็ดขาด ต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของตำรวจไว้ ถ้าทุกคนต่อสู้เอาชนะได้ ก็จะประสบความสำเร็จในการงาน ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจที่แท้ ..”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่แก่ว่าที่ ร.ต.ต. ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2513 ณ กระทรวงมหาดไทย วันอังคาร ที่ 6 เมษายน 2514
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช

และ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ เขียนไว้ในบทท้าย ข้อเสนอแนะงานวิจัย น้อมนำพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2519 อันสะท้อนรวมความของ “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์”

“….พิทักษ์สันติราษฎร์นี้ หมายถึงให้ประชาชนมีความสันติ สันติก็คือความสุขความสงบ เป็นงานที่กว้างขวางเหลือเกินเพราะว่าประกอบด้วยกิจการมากและหนัก กิจการที่แตกต่างกันหลายอย่าง งานหนัก การรักษาความปลอดภัยก็เป็นงานในหน้าที่ของตำรวจที่จะดูแลให้ประชาชนอยู่ด้วยความสงบในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ก็ต้องรับหน้าที่รักษาความสงบสุขของบ้านเมือง คือท่านเป็นผู้ที่จะรักษาประเทศชาติให้คงไว้ซึ่งอธิปไตย ซึ่งความมั่นคง ซึ่งเอกราช อันนี้ก็เป็นงานที่สำคัญ นอกจากงานนี้ ก็มีงานในด้านที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของประเทศชาติและประชาชนอีกส่วนหนึ่ง งานทุกด้านย่อมมีความสำคัญเมื่อสำคัญแล้วก็มีความลำบาก ความลำบากนี้ก็มีมากพอแล้วในงานในด้านที่เรียกว่าวิชาการ หรือระเบียบการ ฉะนั้นก็ขอให้แต่ละคนมุ่งให้งานนั้นสำเร็จเรียบร้อย อย่าให้สิ่งที่มาขัดขวางเป็นสิ่งที่ทำให้งานไม่สำเร็จหรือล่าช้าได้
ความเพียรที่จะปฏิบัติงานต้องขจัดความเกลียดคร้าน ความสุจริตก็กำจัดความทุจริต และยังมีคุณธรรมอีกหลายอย่างที่จะกำจัดเหตุขัดข้องขัดขวาง ความจริงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่เฉพาะตำรวจก็เห็นเหตุขัดข้องอยู่เสมอ บ่นว่างานมันไม่เดิน คนโน้นไม่ดีบ้าง คนนี้ไม่ดีบ้าง อันนี้เป็นเหตุธรรมดา แต่ทว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อมีหน้าที่ที่สำคัญบังคับบัญชา และที่ว่าตำรวจสมัยนี้ต้องปฏิบัติงานหลายด้าน มีความรับผิดชอบมาก ก็ขอให้กำจัดความขัดข้องต่างๆด้วยการปฏิบัติของตน ฉะนั้นก็เคยกล่าวอยู่เสมอ ทั้งแก่ตำรวจ ทั้งแก่ทหาร และพลเรือนว่า ขอให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความแข็งแรงขยันหมั่นเพียร ก็ขอให้ท่านไปพิจารณาในแนวนี้เพื่อว่าท่านทั้งหลาย จะได้รับความเจริญในหน้าที่ หมายความว่าได้รับความสำเร็จและได้รับการยกย่องจากผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนทั่วไป ทั้งจากผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า ก็จะยกย่องว่าปฏิบัติดีด้วยความขยันหมั่นเพียร อันเป็นความสุขที่เราจะได้ ถ้าทำงานก็ได้รับการชมเชย ได้รับการรับรู้ว่าทำงานดีก็ปลื้มใจ ความปลื้มใจยิ่งใหญ่ก็คือรู้ว่าตนได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่มีอะไรที่จะอายได้ ทั้งหมดนี้ถ้าแต่ละคนทำ ไม่ต้องอายตัวเอง ไม่ต้องอายผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ต้องอายประชาชน ข้อนี้ที่จะทำให้งานของส่วนรวมกล่าวโดยเฉพาะคือกรมตำรวจจะรุ่งเรือง จะสำเร็จตามเป้าหมายสำคัญคือพิทักษ์สันติราษฎร์ ในทุกความหมายของคำว่าพิทักษ์สันติราษฎร์ ” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 พระราชทานเป็นแนวทางแก่ข้าราชการตำรวจ

:ขอบคุณภาพจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image