สุจิตต์ วงษ์เทศ : “แมนเมด” แหล่งท่องเที่ยว จากตำนานนิทานท้องถิ่น

 

แหล่งท่องเที่ยวสร้างใหม่ได้ในลักษณะ “แมนเมด” แต่ควรให้สอดคล้องสังคมวัฒนธรรมที่เคยมีมาก่อน โดยพัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องราวเล่าขาน หรือคำบอกเล่าต่างๆ ซึ่งรองนายกฯ เศรษฐกิจ กับ รมต. ท่องเที่ยว หารือกันเมื่อเร็วๆ นี้ [ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2559 หน้า 9]

เรื่องราวเล่าขาน ส่วนหนึ่งมีบันทึกไว้ในพงศาวดารตำนานนิทานประจำท้องถิ่นกระจายทั่วประเทศ แต่ไม่ครบทุกแห่ง และที่มีก็ไม่สนุกตื่นเต้นเร้าใจเหมือนกันทั้งหมด

ถ้าจะใช้งานจริงๆ อาจเพิ่มเติมได้ให้มีสีสันคัลเลอร์ตามต้องการ

Advertisement

[มีผู้เล่าว่าในเวียดนามขณะนี้ มีการแสดงร่วมสมัยสร้างสรรค์จากคำบอกเล่าเก่าแก่ เป็นกายกรรมบนลำไม้ไผ่ my village เขาร่ำลือกันว่ายอดเยี่ยมเป็นที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง]

ปัญหาของไทยอยู่ที่ไม่มีเหลือแล้วตำนานนิทานท้องถิ่น ส่วนที่เหลือก็ถูกลดทอนทำลาย โดยระบบการศึกษาสมัยใหม่ของไทย ที่เน้นยกย่องชาดกนิทานจากอินเดียที่มากับศาสนา แล้วตัดทิ้งทุกอย่างอันเป็นมรดกตกทอดของท้องถิ่นดั้งเดิม

ทางแก้เฉพาะหน้าอยู่ที่ รมต. ท่องเที่ยว กับ รมต. วัฒนธรรม ต้องร่วมกันแบ่งปันเผยแพร่ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว

Advertisement

ขณะเดียวกันก็บอก รมต. ศึกษา ปรับทัศนะใหม่ทางการศึกษาให้มีตำนานนิทานท้องถิ่น แต่กว่าจะแก้ไขหลักสูตรและวิธีคิดของครูผู้สอนสำเร็จคงต้องรัฐประหารอีกหลายครั้ง

แต่ ก. วัฒนธรรม กับ ก. ท่องเที่ยว ก็ล้วนถูกหล่อหลอมครอบงำจากการศึกษาไทยที่ผ่านมาช้านาน จึงไม่รู้จักและไม่เข้าใจตำนานนิทานท้องถิ่นมากพอจะเอาไปปรับใช้งานเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แม้ใน ก. วัฒนธรรม หน่วยงานบางแห่งยังตีไม่แตก จึงไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงความสำคัญตำนานกำเนิดมนุษย์จากน้ำเต้าปุงของไทดำ (ในเวียดนาม) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญมากๆ ของความเข้าใจประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ตรงนี้เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image