“เคแบงก์”เปิดแผนโกยรายได้ปี’61 รุกดิจิทัลแบงก์กิ้ง

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ธนาคารจะพยายามรักษาความสามารถในการกำไรให้เทียบเท่ากับปี 2560 แม้ว่ากฎระเบียบของการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชั่นนอล อีเพย์เม็นต์) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกดดันค่าธรรมเนียมให้ลดลง และมาตรการบัญชี ที่จะมีผลต่อการตั้งสำรองหนี้สูญ ซึ่งปัจจัยนี้คาดจะไม่กดดันมาก เพราะปีหน้าการตั้งสำรองฯอาจลดลงจากปีนี้โดยตั้งไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ที่ลดลงเพราะคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ในปีหน้าจะดีขึ้น และเพื่อทดแทนค่าธรรมเนียมที่อาจจะลดลง ปีหน้าธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีต้นทุนต่ำลง ในส่วนปี 2560 คาดว่ากำไรจะใกล้เคียงกับปี 2559 ที่อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จาก 9 เดือนแรกปี 2560 มีกำไรประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท

นางสาวขัตติยา กล่าวว่า เป้าหมายภาพรวมการดำเนินงานในปี 2561 ของธนาคาร อัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ 5-7% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับทรงตัว อัตราส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมสุทธิ ประมาณ 40%อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) 3.2-3.4% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม(NPL Ratio)3.3-3.4% ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายปีหน้ารายกลุ่มธุรกิจดังนี้ ธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคล ให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยขยายตัว 5-7% ฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 15.1 ล้านราย จาก 14.3 ล้านราย และขยายฐานลูกค้าโมบายแอพพลิเคชั่นเค พลัส (K PLUS)อีก 34-35% เป็น 10.8 ล้านราย จาก 8 ล้านราย โดยมุ่งเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าที่นำเสนอโซลูชั่นในระดับบุคลที่ดีที่สุด เพื่อรักษาการเป็นธนาคารหลักอันดับ 1 ในลูกค้าบุคคล

นางสาวขัตติยา กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ ให้สินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีขยายตัว 4-6% รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว 2-4% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในแง่มูลค่าสินเชื่อที่ 28.5% โดยมุ่งเน้นเป็นธนาคารเพื่อลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ส่วนธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท สินเชื่อกลุ่มนี้ขยายตัว 6-8% รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว 2-5% ครองส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อที่ 22% โดยมุ่งเป็นธนาคารที่ลูกค้าเชื่อมั่น ตอบโจทย์ความต้องการรอบด้านของลูกค้าธุรกิจ ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคอาเซียน บวก 3 ทั้งขยายธุรกิจธนาคารทั่วไป เปิดสาขาในเวียดนามและเมียนมาภายในปี 2561-62 และขยายธุรกิจธนาคารดิจิทัล เพื่อการเป็นศูนย์กลางการชำระเงินในภูมิภาค

“ผลจากความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีคนใช้โมบาย แบงกิ้งมากขึ้นกว่าใช้บริการสาขา มีคนถามว่าจะปิดสาขาหรือไม่นั้น จะดูจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลักว่ามียอดเข้ามาใช้บริการที่สาขามากน้อยเพียงใด อาจจะเป็นการยุบรวมสาขาที่อยู่ใกล้กันและรวบพนักงานเข้าด้วยกัน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปจำนวนสาขาว่าเท่าไหร่ ที่ไหน”นางสาวขัตติยากล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image