กรมวิชาเกษตรจับมือกรมศุลกากร สกรีนส้มแมนดารินจีน นำเข้าพร้อมกิ่ง-ใบ ห่วงทำลายพืชศก.ไทย

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคมของทุกปี เป็นฤดูกาลที่ประเทศไทยนำเข้าส้มแมนดารินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมากโดยผ่านด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาการมีใบและกิ่งส้มติดมากับผลส้มไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507และข้อตกลงตามพิธีสารไทย-จีน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่อาจติดมากับใบและกิ่งส้ม จะทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศไทย รวมทั้ง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ด่านตรวจพืชแหลมฉบังจึงจัดทำแผนเฝ้าระวังและควบคุมการนำเข้าส้มแมนดารินจากจีน โดยจัดประชุมร่วมกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ผู้ประกอบการและตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้า เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติการตรวจปล่อยและนำเข้าผลส้มแมนดารินให้เป็นไปตามเงื่อนไขการนำเข้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

โดยขอความร่วมมือกำหนดสถานที่ตรวจร่วมสินค้าเกษตร ระหว่างศุลกากรกับด่านตรวจพืชแหลมฉบัง พร้อมกับกำหนดวิธีสุ่มตรวจ โดยเปิดสินค้าทุกตู้คอนเทรนเนอร์ 100 % กำหนดรูปแบบในการสุ่มเปิดตรวจ 2 รูปแบบ โดยพิจารณาจากประวัติการนำเข้าของผู้นำเข้าแต่ละรายที่มีประวัติการนำเข้าดีไม่ผิดเงื่อนไขการนำเข้า จะได้รับการพิจารณาสุ่มตรวจ 1 : 3 ของจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่นำเข้าในวันนั้น พร้อมกับได้วางมาตรการติดตามและเฝ้าระวังหลังการตรวจปล่อย จากด่านตรวจพืชแล้ว โดยขอความร่วมมือสารวัตรเกษตรและตำรวจเศรษฐกิจตรวจสอบการครอบครองส้มแมนดารินของผู้นำเข้า ณ ตลาดไทย ตลาดไทยไอยรา ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดค้าส่งอื่นๆ ด้วย

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การดำเนินการเมื่อตรวจพบแมลงศัตรูพืชทั่วไปที่มีชีวิต ให้กำจัดโดยการรมยา โดยผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว จึงอนุญาตให้นำเข้าได้ แต่หากพบศัตรูพืชกักกันจะรมยาแล้วให้ผู้นำเข้าส่งสินค้ากลับไปยังประเทศต้นทางพร้อมหนังสือแจ้งเตือน กรณีตรวจพบกิ่งและใบส้มติดมาให้ผู้นำเข้าดำเนินการกำจัดใบและกิ่งออกให้หมด โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช

“การนำเข้าส้มแมนดารินจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนตุลาคม – ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการนำเข้าส้มแมนดารินมาในประเทศแล้ว 24 ราย จำนวน 314 ชิปเม้นท์ ปริมาณการนำเข้า 9.25 พันตัน มูลค่า 277.14 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่พบการปฏิบัติที่ผิดเงื่อนไขการนำเข้าแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจพบผู้นำเข้ารายใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการนำเข้าสิ่งต้องห้าม ได้แก่ การลักลอบนำเข้า การปลอมแปลงเอกสาร จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสุวิทย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image