ฟังเสวนา ‘พระเจ้าตาก’ แน่น เผยมุมมองใหม่ ชี้ทรงมี ‘วิชั่นนักรบ-พ่อค้า’ ไขปริศนาชื่อจีนยุคเฉียนหลง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมใหญ่สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา โดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเรื่อง “ตากสินมหาราช ในประวัติศาสตร์ต่างมุม” นำเสวนาโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการเสวนา บรรยากาศในงานมีผู้เข้าร่วมฟังจนแน่นห้อง

ผศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่มีผู้คนทุกวัยสนใจมาร่วมฟังการเสวนาในหัวข้อเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าพระเจ้าตากสินอยู่ในใจของทุกคน และทุกคนมีชุดข้อมูลเกี่ยวกับพระองค์อยู่แล้ว แต่ในการเสวนาวันนี้จะเป็นการพูดคุยในมุมมองใหม่ๆ จึงขอให้ทุกท่านเปิดใจรับฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องราวของพระเจ้าตากสินนั้น เป็นเรื่องราวที่มีเสน่ห์และเปิดกว้างมากในประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีชุดข้อมูลหลายชุดและหลายฉบับ แต่กระนั้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน โดยอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบเพิ่มเติม

สำหรับเรื่องพระเจ้าตากสินนั้นมีชุดข้อมูลที่ค้นพบใหม่ที่แย้งกับชุดข้อมูลที่เคยรับทราบมาในหลายๆด้าน อาทิ ในบางส่วนของพงศาวดารพม่าได้กล่าวถึงกองทัพของอยุธยา ไว้ว่า ทัพของอยุธยานั้นเข้มแข็งมาก แต่ต้องพ่ายแพ้เพราะขาดเสบียงและอ่อนเพลีย สะท้อนให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นผู้ครองกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นไม่ได้อ่อนแอ ในขณะที่พระเจ้าตากสินสามารถฝ่าวงล้อมของพม่าออกไปได้อย่างไร อาจอธิบายได้ว่า เพราะพม่ามุ่งโจมตีอยุธยา ทำให้กลุ่มเล็กๆของพระเจ้าตากสินสามารถฝ่าออกไปได้

“พระเจ้าตากสินมีกำลังน้อยมากในขณะนั้น แต่ทรงมีขุนนางเคียงข้าง และมีครอบครัวติดตามไปด้วย พระองค์สั่งสมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากการตีบ้านดงสำเร็จ ”

Advertisement

“พระเจ้าตากสินมีวิชั่นที่มองไปข้างหน้า จึงนำหน่วยของตนเองไปตั้งที่วัดวิชัย และพระองค์ยังเป็นนักภูมิรัฐศาสตร์ที่เก่งมากด้วย” ผศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์ กล่าว

ผศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ด้านบุคลิกของพระเจ้าตากสินน่าจะมีอายุประมาณ 30 กว่าปี มีความเป็นผู้นำที่ทำให้มีผู้ยินดีติดตาม และมีวิชั่นที่ดี นอกจากวิชั่นของการเป็นนักรบแล้วพระองค์ยังมีวิชั่นของการเป็นพ่อค้า มุ่งสร้างกรุงธนบุรีให้รุ่งเรือง เพื่อชาติและราษฎร ตลอดจนการไม่ถือพระองค์ด้วย

Advertisement

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์  เผยว่า เรื่องพระเจ้าตากสินถูกนำเสนอมาแล้วหลายครั้งแล้ว จึงคิดมาตลอดว่าจะมีมุมมองใหม่ๆ อะไรที่น่าสนใจ จนกระทั่งได้รับหนังสือ “หมิงสือลู่-ชิงสือลู่” จากคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ตีพิมพ์โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ปี 2559 ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวถึงตอนเสียกรุงศรีอยุธยา การสถาปนากรุงธนบุรี และผลัดแผ่นดินสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อนสมัยใหม่ ซึ่งในขณะนั้นมีระบบความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมกัน คือ ระบบบรรณาการจิ้มก้อง กับอาณาจักรจีน ซึ่งมี เฉียนหลงฮ่องเต้ ครองบัลลังก์อยู่ ซึ่งในขณะนั้น จีนได้ถือตนเป็นศูนย์กลางของโลกสมัยนั้น

โดยในบางส่วนของหนังสือได้อ้างถึงพระเจ้าตากสิน อาทิ การเรียกพระนามพระเจ้าตากสินของเฉียนหลงฮ่องเต้ที่สะท้อนการยอมรับจากจีน เริ่มต้นจากช่วงแรกที่มีการสถาปนากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินถูกขานพระนามในชื่อ ‘กันเอินซื่อ’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘กำแพงเพชร’ โดยไม่ได้รับการยอมรับจากจีน และถูกบริภาษอย่างแรง หลังจากนั้นมีจุดเปลี่ยนคือ พระเจ้าตากสินจับกุมคนจีนที่หลบหนี นำส่งคืนอาณาจักรจีน คำเรียกพระนามจึงเปลี่ยนไปเป็น ‘พีหย่าสิน หรือ พญาสิน’ จากนั้นความสัมพันธ์ดีขึ้นเรื่อยๆจนพระเจ้าตากสินได้รับตราตั้งและเรียกพระนามว่า ‘เจิ้งเจา หรือ แต้เจียว’

ส่วนในคำถามที่ว่า ‘พระเจ้าตากสินฟั่นเฟือนจริงหรือไม่’ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าพระเจ้าตากสินนั้นฟั่นเฟือน แต่ยังคงต้องมีการศึกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image