ชาวสวนยาง-ปาล์มนราธิวาส ถกยุทธศาสตร์ แก้ปัญหาราคาตก หนุนตั้ง รง.แปรรูปในพื้นที่

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ที่ห้องประชุมส่งเสริมและพัฒนาการยาง อาคารกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางแห่งประเทศไทย อ.เมือง จ.นราธิวาส ตัวแทนสหกรณ์กองทุนสวนยางต่างๆ ในพื้นที่ จ.นราธิวาส รวม 6 สหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านป่าไผ่ จำกัด (ผลิตน้ำยางสด) อ.ระแงะ, สหกรณ์กองทุนสวนยางไอร์กรอส จำกัด (ผลิตยางแผ่น) อ.จะแนะ, สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านบาโงดุดุง จำกัด (ผลิตยางก้อนถ้วย) อ.เจาะไอร้อง, สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านแซะ จำกัด (ผลิตยางก้อนถ้วย) อ.สุไหงปาดี, สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านโคกเคียน จำกัด (ผลิตน้ำยางสด) อ.เมือง และสหกรณ์การเกษตรเมืองนราธิวาส จำกัด (ผลิตยางแผ่นและยางก้อนถ้วย) อ.เมืองนราธิวาส ร่วมกันประชุมเพื่อหารือมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือชาวเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปลูกปาล์มน้ำมันที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำในขณะนี้ เพื่อให้เกิดรายได้ สามารถเลี้ยงครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ ผู้แทนพิเศษรัฐบาลกลุ่มภารกิจงานพัฒนาศักยภาพในพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรจังหวัดนราธิวาส และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นราธิวาสนายคล้อย ไกรน้อย เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน เปิดเผยว่า เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดขณะนี้จากผลกระทบจากราคายางตกต่ำ ไม่คุ้มต้นทุน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับสมดุลกับความต้องการพื้นที่ให้เหมาะสม หากผลผลิตออกสู่ตลาดมากเกินไป ราคาย่อมตกต่ำลง นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับผลผลิตของผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าสงวนลงบ้าง แต่รัฐบาลกลับพยายามลดการผลิตและพื้นที่ปลูกของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ตัวเองตามกฎหมาย หากรัฐบาลปรับผลผลิตและพื้นที่ทั้ง 2 พื้นที่ให้สมดุลกัน ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจะน้อยลง ทำให้ราคาดีขึ้น สมดุลกับความต้องการของตลาดนายนอร์ดีน เจะแล ตัวแทนสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า น่าจะถึงเวลาที่ชาวเกษตรกรปลูกยางพารากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นราธิวาสมาร่วมคิดกัน วางยุทธศาสตร์การพัฒนายางของนราธิวาสให้มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างพัฒนา ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะมาถอดบทเรียนเรื่องการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งเรื่องของยางพารา ในอดีตที่ผ่านมามีการก่อตั้งสหกรณ์ต่างๆ ประมาณ 60 แห่งทั่วทั้งภาคใต้ รวมถึง จ.นราธิวาส ระยะเวลาผ่านมากว่า 20 ปี สหกรณ์บางแห่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ บางแห่งต้องเลิกกิจการไป ในแง่ศักยภาพการผลิตยางแผ่นรมควัน ถูกมองว่าอาจไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนพื้นที่นัก เพราะเกษตรกรต้องการเงินเร็ว ซึ่งเหมาะกับการขายน้ำยางสดและการทำยางอัดก้อน ฉะนั้น วิธีคิดและยุทธศาสตร์การพัฒนายางของ จ.นราธิวาส ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การคิดค้นพัฒนาน้ำยางสดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่าราคาปัจจุบัน

“ยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ น่าจะศึกษาความเป็นไปได้ในการหาช่องทางจัดตั้งโรงงานปรับสกัดน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น เพราะอย่างน้อยสามารถนำน้ำยางสดที่มีประมาณ 50-60 ตันต่อวันเข้าสู่โรงงานน้ำยางข้น ซึ่งมีอายุการเก็บน้ำยางนานกว่าน้ำยางสด ล่าสุดพบเกษตรกร อ.ระแงะ นำน้ำยางข้นไปแปรรูปเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง สามารถสร้างรายได้ดี เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องส่งเสริมในอนาคต” นายนอร์ดีนกล่าว
สำหรับ จ.นราธิวาส มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งสิ้น 1,008,345 ไร่ มีผลผลิต 823,691 ไร่ มีผลผลิต 201,564 ตันต่อปี โดยได้ผลผลิต 245 กิโลกรัมต่อไร่ โดยแยกเป็นยางก้อนถ้วยประมาณ 85% น้ำยางสดประมาณ 10% และยางแผ่นดิบประมาณ 5%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image