อาศรมมิวสิก สองคอนเสิร์ตวงทีพีโอ รูปลักษณ์ภายนอกศิลปินกับคุณค่าทางดนตรีภายใน โดย:บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ถ้
าหากว่าซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกี (P.Tchaikovsky) ที่บรรเลงโดยวงทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) ในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร ภายใต้การอำนวยเพลงโดยวาทยกรหญิงรับเชิญสาวสวยชาวสวิสนามว่า “เลนา-ลิซา วึซเท็นดอร์เฟอร์” (Lena-Lisa Wustendorfer) ได้จบลงอย่างงดงามและน่าทึ่งเสมือนรูปร่างหน้าตา, บุคลิกภาพ อีกทั้งประวัติ-ประสบการณ์อ้างอิงอย่างสวยหรูของเธอแล้วนี่คงน่าจะเป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตยอดเยี่ยมแห่งปีของวงทีพีโอทีเดียว

แต่ก็นั่นแหละการบรรเลงดนตรีสดๆ จริงๆ อาจมีอะไรๆ ที่ผิดคาด-พลิกล็อกเกิดขึ้นได้เสมอๆ ทั้งแง่บวกและลบ

และถ้าหากจะกล่าวถึงบทเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกีบทนี้แล้ว แม้โดยส่วนตัวผมเองจะรักดนตรีจากปลายปากกาของไชคอฟสกีเป็นอย่างมาก แต่ก็ขอบอกว่านี่คงเป็นซิมโฟนีบทเดียวในจำนวน 6 บทของเขา ที่ดูจะมีลักษณะ “ปลายปิด” มากที่สุด คือมีพื้นที่ว่าง (Space) ในการใช้ความคิดเชิงการตีความสร้างสรรค์ได้น้อยที่สุด และขอใช้ภาษาทับศัพท์ว่า “Routine” ที่สุดในบรรดาซิมโฟนีของเขาทั้งหมด (นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว)

Advertisement

ดังนั้น การจะจุดประกายไฟให้ลุกโชนสร้างความแตกต่างมีชีวิตชีวาประดุจเพลงแต่งใหม่ในขณะบรรเลงจึงเป็นเรื่องที่น่าจะยากสำหรับวาทยกร (แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีทางทำได้เลย) น่าเสียดายที่ในคืนวันนั้นเลนา-ลิซายังคงก้าวไม่ข้ามหลุมพรางแห่งความเฉื่อยชา (Routine) ของซิมโฟนีบทนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปแบบที่เรารู้จักกับบทเพลงนี้มานาน “ทางดนตรี” ที่ยังคงดำเนินไปตามแบบการคาดเดาได้ไม่มีผิด แทบจะไม่มีประเด็นอะไรเลยที่ “คาดไม่ถึง” (โดยเฉพาะสำหรับคนที่รู้จักบทเพลงนี้มาอย่างดี)
ความสำเร็จในคืนวันนั้นดูจะมาจากบุญเก่าและบารมีสะสมของวงทีพีโอล้วนๆ เช่น การบรรเลงเดี่ยวฮอร์นในท่อนที่สอง ซึ่ง นันทวัฒน์ วารนิช หัวหน้ากลุ่มบรรเลงได้อย่างหมดจดไพเราะและสง่างาม สร้างมโนภาพแห่งขุนเขาอันกว้างใหญ่ได้ทีเดียว (แม้ว่าบทเพลงนี้จะไม่ใช่ Program Music) ลักษณะความสำเร็จแบบนี้คือความรับผิดชอบโดยส่วนตัวของผู้บรรเลงแท้ๆ เรื่องอื่นๆ ที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องเสียงของวงที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญใดๆ

Advertisement

ที่ผ่านมาวาทยกรรับเชิญหลายคนของวงทีพีโอสามารถสร้างเสียงที่แตกต่างเฉพาะตัวออกมาได้ ภายใต้การฝึกซ้อมร่วมกันเพียง 3-4 ครั้ง อาทิ “โยฮันเนส คลุมพ์” (Johannes Klumpp) ที่ทำให้วงอวดความสามารถในด้าน “Ensemble” นั่นคือการบรรเลงที่มีน้ำเสียงอันละเมียดละไมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและกลมกลืนกันมากที่สุด หรือในขั้วตรงกันข้ามกัน “จาง กั๊วะหย่ง” (Zhang Guoyong) วาทยกรจีนศิษย์ก้นกุฏิสำนักรัสเซียที่ทำให้ทีพีโออวดพลังความดุดัน (ที่ไม่บ้าบอเลอะเทอะ), ระเบียบวินัยที่เนี้ยบเฉียบในแบบรัสเซียแท้ (ยุคสังคมนิยม) ได้อย่างชัดเจนแตกต่าง

นี่อาจจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกันอย่างสุดขั้ว แต่วาทยกรแต่ละคนก็สามารถสร้างรูปแบบแนวทางตามที่ตนเองถนัด, ศรัทธา, เชื่อมั่น และผันแปรเป็นการบรรเลงซึ่งมี “ทางดนตรี” เฉพาะตัวมีความหมายใหม่ๆ เด่นชัดสำหรับผู้ฟัง ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบ-ไม่ชอบ, เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ “ทางดนตรี” ของเขา แต่เราจะสยบยอมเมื่อมันแสดงความหมายอันประจักษ์ชัดโดยตัวของมันเองในรูปแบบนั้นๆ

เราอาจแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เลยจากเลนา-ลิซาในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของไชคอฟสกี หากแต่บทเพลงคอนแชร์โตสำหรับขิมดัลซิเมอร์ (Dulcimer) ของนักประพันธ์ดนตรีชาวสวิสแห่งศตวรรษที่ 20 นาม “พอล ฮูเบอร์” (Paul Huber) มีประเด็นที่น่าศึกษาเปรียบเทียบในกรณีที่ดุริยกวีคิดที่จะนำเอาเครื่องดนตรีพื้นถิ่นของตนมายกระดับสู่สากล ด้วยการประพันธ์บทเพลงอวดฝีมือขั้นสูงสุดที่เรียกว่า “คอนแชร์โต” มอบให้

โจทย์สำคัญก็คือการมุ่งอวดศักยภาพเชิงประจักษ์และศักยภาพแฝงของทั้งเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงออกมาให้น่าประทับใจ โจทย์สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือการหลบหลีกทางกันให้ดีระหว่างเครื่องดนตรีพื้นบ้านแบบนี้ที่มีเสียงเบา กับวงออเคสตราสากลทั้งวงที่มีเสียงดังกว่ามากไม่ให้เกิดการบรรเลงกลบเสียงเครื่องดนตรีเดี่ยวอย่างน่าอับอาย ซึ่งในกรณีนี้ ฟังดูว่าพอล ฮูเบอร์ พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวมากเอาการอยู่ ด้วยการหลบหลีกสับรางกันอย่างชัดเจน จนบางครั้งก็รู้สึกว่าตัวขิมดัลซิเมอร์ติดขีดจำกัดบางอย่างอยู่ลึกๆ
ปัญหาเรื่องการอวดศักยภาพของตัวเครื่อง (ขิม) มีคำตอบที่ชัดเจนในช่วงที่วงออเคสตราหยุดบรรเลง ทั้งส่วนที่เป็นช่วงเดี่ยวคาเด็นซา (Cadenza) ในบทเพลงคอนแชร์โตและเมื่อบรรเลงบทเพลงแถม (Encore) คริสตอฟ เฟนด์เลอร์ (Christoph Pfandler) ศิลปินเดี่ยวขิมผู้นี้สามารถแสดงให้เห็นว่าเมื่อหลุดจากกรอบแนวคิดคอนแชร์โตคลาสสิกสากลแล้วเครื่องดนตรีพื้นบ้านชิ้นนี้มีความร่าเริง, หลากหลายเพียงใดในยามที่ได้รับอิสรภาพให้บรรเลงคนเดียว บรรเลงได้อย่างเร็วมาก, อวดความหลากหลายในความดัง-เบา (Dynamic) อย่างเป็นอิสระ แสดงสีสันทางเสียงได้อย่างกว้างขวางขึ้น

นี่เราอาจดูแคลนศักยภาพของเครื่องดนตรีพื้นบ้านไปอย่างผิดถนัด เมื่อขิมพื้นบ้านถูกจับมาเข้ากรอบความคิดแบบ “สากล” เสมือนนำเครื่องดนตรีพื้นถิ่นมาจองจำ มันสะท้อนภาพชีวิตจริงหรือไม่ว่า ปราชญ์พื้นบ้าน, นักคิดชุมชน, หรือศิลปินพื้นถิ่นจะอยู่ในสถานะใดเมื่อเรานำเอากติกา, กรอบความคิดแบบสังคมเมือง หรือกติกาจากต่างบริบทเข้าไปครอบงำ และเอาป้ายนิยามความหมายในทำนองว่า “Vulgar” หรือไร้ความเจริญไปยัดเยียดให้กับพวกเขา

อย้อนไปกล่าวถึงคอนเสิร์ตของทีพีโอก่อนหน้านี้ในค่ำวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ที่ใช้ชื่อว่า “Italian Nights” โดยมีศิลปินเดี่ยวเปียโนและวาทยกรที่เป็นชาวอิตาลีทั้งคู่ ศิลปินเดี่ยวเปียโน (และประพันธ์ดนตรีด้วยตัวเอง) นามว่า “สเตฟาโน บอลลานิ” (Stefano Bollani) ส่วนวาทยกรก็คือ “อัลฟอนโซ สการาโน” (Alfonso Scarano) วาทยกรหลักคนเดิมของวง

และในทันทีที่ สเตฟาโน บอลลานิ เดินออกมาปรากฏกายบนเวที ผมเองแทบไม่เชื่อสายตา นอกจากเขาจะไม่สวมชุดสูท หรือเสื้อนอกรูปแบบอื่นใด เพื่อแสดงการให้เกียรติต่อเวที, ต่อผู้ชมและเคารพต่อการแสดงดนตรีแล้ว เขายังกล้าใส่เพียงเสื้อเชิ้ตสีฟ้า-เทาสไตล์ลำลองพับแขนเสื้อถึงข้อศอก, สวมกางเกงยีนส์และรองเท้าหนังแบบลำลอง ไว้หนวดเครายาว, ไว้ผมยาวมัดรวบไว้ข้างหลัง

มันเป็น “สารรูป” ที่ขัดต่อสายตาและความรู้สึกอย่างรุนแรงที่แรกเห็น เขาดูแคลนเวทีการแสดงและผู้ชมมากเกินไป ทำราวกับนี่เป็นเพียงการซ้อมวงธรรมดาๆ

แต่นึกไม่ถึงว่าหลังคอนเสิร์ตนี้จบลง จากความรู้สึกแย่ๆ เชิงลบต่อ “สารรูป” แรกเห็นบนเวทีนั้น มันได้ผันเปลี่ยนกลายเป็นบทเรียนและประสบการณ์ใหม่ทางดนตรีครั้งสำคัญที่ส่งผลต่อมุมมองและวิธีคิดของเราอย่างมาก

สเตฟาโนบรรเลงเดี่ยวเปียโนในรายการนี้ 2 เพลง โดยในครึ่งแรกเขาบรรเลงบทเพลง “คอนแชร์โต อัซเซอร์โร” (Concerto Azzurro) ซึ่งเป็นบทเพลงที่เขาแต่งเอง โดยแนวบรรเลงเดี่ยวเปียโนนั้นจะอยู่ในรูปแบบด้นสดด้วยปฏิภาณกวี (Improvisation) นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่นำผลงานชิ้นนี้ออกบรรเลง แนวเดี่ยวเปียโนจะแตกต่างกันทุกครั้งไป ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าดนตรีคลาสสิกยุคบาโรค (Baroque) นั้นก็อาศัยวิธีปฏิภาณกวีด้นสดแบบนี้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะจารีตการบรรเลงคลอที่เรียกกันว่าแนวเบสต่อเนื่อง (Basso Continuo)

บทเพลงนี้คือคอนแชร์โตในลีลาแบบดนตรีแจ๊ซ (Jazz) ซึ่งปัจจุบันสเตฟาโน ผันตัวเองไปอยู่ในดินแดนดนตรีแจ๊ซอย่างมากจนเราสัมผัสได้ว่าเขาได้ทุบทำลายปราการกำแพงอันแข็งแกร่งที่กั้นระหว่างดินแดนดนตรีแจ๊ซและคลาสสิกลงราบคาบแล้ว

เมื่อไม่มีกำแพงปราการใดๆ มาขวางกั้น มันจึงกลายเป็นดินแดนแห่งดนตรีอันกว้างใหญ่ไพศาลสุดขอบฟ้า, สุดสายตา มันไม่ใช่แจ๊ซ, มันไม่ใช่คลาสสิก มันคือดินแดนแห่งศิลปะดนตรีที่มีลักษณะสากลของมนุษยชาติทั้งมวล นี่คือสิ่งที่สเตฟาโนต้องการจะสื่อสารกับเราผ่านผลงานประพันธ์ดนตรีของเขา ภาพรวมของเขามีประเด็นอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กันและร่วมกันในบางจุดกับเมื่อครั้งที่ “ไนเจล เคเนดี” (Nigel Kenedy) ศิลปินเดี่ยวไวโอลินชั้นนำระดับโลกจอมขบถที่เคยแต่งตัวแบบพังก์ร็อก ขึ้นเวทีดนตรีคลาสสิกมาแล้ว
หลังจบบทเพลงของเขาในครึ่งแรก เขาร้องถามบรรดาผู้ชมว่าใครอยากฟังเพลงแถมอะไรบ้าง, เพลงอะไรก็ได้ขอมาเถอะ แล้วก็จดรายชื่อเพลงลงกระดาษ ว่าแล้วเขาก็ลงมือด้นสดๆ แต่งเพลงใหม่ขึ้นมาทันที
มันคือเมดเลย์ที่ผ่านการร้อยเรียงผสมผเสกันขึ้นมาใหม่ๆ สดๆ ชุดใหญ่ จากบาคไปจนถึงแฟรงค์ ซินาตรา เขาผสมผสานไปโดยตลอดได้อย่างกลมกลืนและโก้เก๋ ตามรายชื่อเพลงที่แฟนๆ ร้องขอในตอนนั้น โดยมีใจความบางส่วน (Motif) จาก Toccata and Fugue ของบาคสอดแทรกไปโดยตลอดอย่างน่าทึ่ง และในทันทีที่เพลงแถมอันน่าอัศจรรย์ใจนี้จบลง บรรดาเด็กนักเรียนวัยรุ่นขาสั้น-กระโปรงจีบในคืนวันนั้นที่มีอยู่ไม่น้อยจึงพากันลุกขึ้นยืนอย่างพร้อมเพรียงกันโดยไม่ต้องนัดหมาย

พวกเขาส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด, ปรบมือโห่ร้องลั่นโรงด้วยความชอบใจ ไม่แตกต่างจากการชื่นชมศิลปินป๊อปร็อก, หรือดนตรีต่างๆ ที่ร่วมสมัยกับพวกเขา สเตฟาโนคว้าหัวใจผู้ฟังวัยรุ่นและวัยเก๋าอีกเป็นจำนวนมากไปครอบครองได้อย่างสำเร็จงดงาม

ารแสดงในครึ่งหลังสเตฟาโนบรรเลง “แร็พโซดี อิน บลู” (Rhapsody in Blue) ของ เกิร์ชวิน(G.Gershwin) โดยใช้แนวบรรเลงเดี่ยวเปียโนที่เขาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง ถ้าเราศึกษามาก่อนว่าเกิร์ชวินเป็นใครเติบโตและใช้วิถีชีวิตดนตรีและมีแนวทางดนตรีอย่างไรแล้ว เราคงจะแอบคาดเดาได้เป็นแบบเดียวกันว่า หากเกิร์ชวินยังคงมีชีวิตอยู่ เขาคงจะต้องชื่นชมกับวิธีคิดทางดนตรีของสเตฟาโนในครั้งนี้เป็นอย่างมากที่ไม่ยอมบรรเลงแนวเดี่ยวเปียโนจากปลายปากกาที่เขาเขียนไว้ให้สำเร็จรูปแล้ว แต่กลับไปต่อยอดความคิดเขียนมันขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง

ความคิดและวิถีปฏิบัติที่บางประเทศบางดินแดนเรียกมันว่าการสร้างสรรค์ใหม่ แต่ในบางประเทศบางดินแดนเรียกมันว่าการเหิมเกริมและบังอาจล้างครู

เสียเวลาเสียพื้นที่กระดาษเปล่าๆ หากจะไปรายงานถึง An American in Paris ที่เป็นเพลงบรรเลงปิดท้าย เพราะ “ปรากฏการณ์ดนตรี สเตฟาโน” มีอะไรๆ ที่ชวนท้าทายทางความคิดและควรค่าแก่การค้นหาบทสรุปมากยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีแจ๊ซและดนตรีคลาสสิกที่ควรจะเป็นดนตรีที่ตรงกันข้ามกันแบบสุดโต่งในแบบที่คนส่วนใหญ่รู้สึกนึกคิดกันหรือไม่ เรามาแบ่งแยกดนตรี (หรือแม้แต่ชนชั้นเผ่าพันธุ์ของมนุษย์) กันเพราะอะไร
หากเราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิกเราจะทราบดีว่า ย้อนไปในสมัยศตวรรษที่ 18 ยุคของไฮเดิน, โมซาร์ท และเบโธเฟนนั้น ผู้คนชมคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก (ซึ่งยุคนั้นมันก็คือดนตรีป๊อปของยุคสมัยนั่นแหละ) ด้วยบรรยากาศที่เบาสบายกว่าในยุคของพวกเรามาก มีการปรบมือระหว่างท่อน หรือแม้แต่ปรบมือโห่ร้องสอดแทรกขึ้นทันทีเมื่อถูกใจ

เสียงดนตรี ณ ช่วงเวลานั้นๆ หรือวาทยกรชั้นนำของโลกบางคนในศตวรรษที่ 20 ที่ลงมือแก้ไขสกอร์ดนตรีบางส่วนตามที่ตนเองพึงพอใจ โดยไม่รู้สึกว่านั่นคือการข้ามหัวดุริยกวีอันสูงส่งที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา ยิ่งเมื่อมาทราบในภายหลังว่าสเตฟาโนผู้นี้ได้กล่าวบรรยายบนเวทีก่อนการแสดงคอนเสิร์ต (Pre-Concert Talk) ยกย่องยืนยันในทำนองที่ว่า ดนตรีคลาสสิกนี่แหละที่เป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับการเรียนรู้ในการบรรเลงดนตรีทั้งหลาย เพราะมันได้ประมวลหลักการชั้นเชิงทางเทคนิคพื้นฐานทางดนตรีไว้ได้อย่างครบถ้วนและแข็งแกร่งที่สุด และดนตรีแจ๊ซก็เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญ สเตฟาโนยังย้ำอีกว่าเขา “โชคดี” ที่ได้เรียนดนตรีคลาสสิกมาก่อน

บทสรุปที่สำคัญท้ายสุดนี้น่าจะอยู่ที่ว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะแสดงออกกับศิลปะดนตรีได้แบบสเตฟาโนในครั้งนี้ สิ่งที่เขาแสดงออกมาล้วนกลั่นกรองออกมาจากพื้นฐานทางการศึกษาอย่างมั่นคงแข็งแกร่งทางด้านดนตรีคลาสสิกและไปผสมผสานต่อยอดกับความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นอิสระของดนตรีแจ๊ซ อีกทั้งมุมมองเชิงปรัชญาด้านอื่นๆ อีกมากมายที่สะท้อนอยู่ในข้อเขียนและการบรรยายของเขา

สิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันจนกลายเป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยรสชาติ, ความมีชีวิตชีวาอันสดใหม่ ผมอยากจะเรียกมันว่ารสแห่งดนตรีที่มาจากรสมือของผู้สูงด้วยรสนิยม (หมายถึงผู้ที่สูงด้วยการศึกษาจนสำนึกได้ถึงความควร-ไม่ควรใดๆ) นี่จึงทำให้ผมนึกย้อนไปถึงคำพูดของ “ไอแซค สเตอร์น” นักไวโอลินเอกของโลกที่กล่าวยกย่องการตีความทางดนตรีของ “พาโบล คาซาล” นักเชลโลในระดับเดียวกันว่ามันคือ “เสรีภาพที่สูงด้วยระเบียบวินัย” คำพูดเชิงปรัชญาที่มาจากดนตรีนี้มันควรค่าแก่การเป็นปรัชญาชีวิตจริงสำหรับทุกคนได้ดีทีเดียว “เสรีภาพที่สูงด้วยระเบียบวินัย”

นี่คือเรื่องราวของสองคอนเสิร์ตกับศิลปินระดับผู้นำทางดนตรีสองคน ,คนที่เราสบประมาทใน “สารรูป” เมื่อแรกเห็นนั่นแหละกลับกลายเป็น “เจ้าเงาะถอดรูป” ในตอนจบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image