สศก.แจงเกษตรกรพึงพอใจ แผนจัดโซนนิ่ง ปลูกพืชตรงใจ-ผลตอบแทนดีขึ้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยจากการติดตามการจัดโซนนิ่ง ตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (อกริ-แมพ) ช่วง 2 ปีที่ผ่าน นั้น สศก.ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปีงบประมาณ 2559 ใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุทัยธานี ช่วงเดือนมิถุนายน 2560 และปีงบประมาณ 2560 ใน 15 จังหวัด คือ ภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ช่วงเดือนสิงหาคม 2560 พบว่า ปีงบ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิต 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด มีเกษตรกร 10,502 ราย โดย 3 จังหวัดนำร่อง ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (เอ็น) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวม 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวม 28.7 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ย 7,303 บาท/ไร่/ปี เพิ่มจากเดิมที่ 3.4 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ย 864 บาท/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาท/ปี หรือเฉลี่ย 6,463 บาท/ไร่/ปี จากสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจระดับมาก

สำหรับปีงบ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เอ็น สำหรับการปลูกข้าว รวม 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วม 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่ พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยปรับเปลี่ยนการผลิต และให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก.จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image