ชุมชนปลอดถัง(ขยะ) ถนนปลอดถัง(ขยะ) : โดย ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

กว่า 20 ปีของการทำงานในแวดวงขยะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ / องค์กรปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ นักธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว พบกับการมีส่วนร่วมและการต่อต้านคัดค้านแม้กระทั่งการข่มขู่นานารูปแบบ ปัญหาขยะจึงไม่ใช่แค่ปัญหาทางวิชาการหรือปัญหาทางเทคนิค มันรวมเอาปัญหาเงินๆ ทองๆ ผลประโยชน์ ปัญหาสังคม จนถึงปัญหาการเมือง

หลายปีมานี้ ท้องถิ่นหลายแห่งตื่นตัวทำโครงการจัดการขยะต้นทาง ไม่ใช่แค่กิจกรรมรณรงค์หรือกิจกรรมนำร่องเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่เป็นโครงการที่เชื่อมโยงการลดและคัดแยกขยะของชาวบ้านกับการปรับระบบการจัดการของท้องถิ่น โครงการที่ว่า คือโครงการชุมชนปลอดถัง (ขยะ) และถนนปลอดถัง (ขยะ)

เรามักเห็นท้องถิ่นทำกิจกรรมง่ายๆ เป็นเรื่องๆ เป็นทีๆ ทำเสร็จจบกัน ครั้งหน้าทำใหม่ ไม่ต่อเนื่อง ไม่มีการประเมินผล อย่าง เรื่องขยะแลกไข่ ขยะแลกของ หรือแม้แต่กิจกรรมธนาคารขยะ ทำกันเท่าไหร่ขยะก็ยังไม่ลด การจัดการขยะในพื้นที่ก็ไม่ดีขึ้น แต่พอมาทำโครงการชุมชนปลอดถังขยะ หรือถนนปลอดถังขยะ ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ กับท้องถิ่น ทั้งชุมชนและถนนที่ร่วมโครงการสะอาดเรียบร้อยผิดหูผิดตา

เริ่มแรกของพัฒนาการชุมชนปลอดถังขยะ หรือถนนปลอดถังขยะของแต่ละท้องถิ่นมีที่มาแตกต่างกัน แต่ระยะหลังเป็นการนำรูปแบบจากท้องถิ่นที่ทำสำเร็จมาขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ก่อนนี้เราเห็นชินตากับการวางถังขยะสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่ถังขยะที่ผลิตจากยางรถ ถังเหล็ก 200 ลิตร ถังเคมีสีฟ้า จนถึงถังขยะสารพัดสี ตั้งตามถนนเป็นระยะ บางแห่งตั้งกันทุกเสาไฟฟ้าก็มีให้เห็น แต่ละปีจึงต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อถังขยะไม่น้อย

Advertisement

ต่อมา หลายท้องถิ่นเริ่มสรุปผลของการวางถังขยะ ไม่ได้ช่วยให้ถนนหรือชุมชนสะอาดขึ้น ตรงข้ามรอบถังกลับเต็มไปด้วยขยะ น้ำขยะ ส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้าน บางแห่งมีปัญหาคนคุ้ยถัง ขยะกระจุยกระจาย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ท้องถิ่นคิดเรื่องโครงการปลอดถัง บางท้องถิ่นเริ่มจากการทำโครงการหน้าบ้านน่ามองและเห็นว่าถังขยะไม่ได้ทำให้หน้าบ้านน่ามอง นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอีกแบบ บางท้องถิ่นถูกบังคับโดยสถานการณ์ ความปลอดภัย การวางถังขยะตามถนนหรือในชุมชนเกิดความไม่ปลอดภัย ก็ต้องยกถังออก นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด

ผลที่ออกมาก็เหมือนกัน คือในชุมชนหรือตามถนนที่ถูกกำหนดให้ปลอดถังจะไม่มีการวางถังขยะอีก เว้นแต่มีการกำหนดให้วางในบางจุดที่จำเป็น..

ประโยชน์ของการวางถังขยะคือความสะดวกทั้งคนทิ้งและการเก็บขน คนทิ้งจะทิ้งเมื่อใดก็ได้ และรถเก็บขนจะมาเมื่อใดก็ได้ แต่การทำชุมชนหรือถนนปลอดถังเป็นการสร้างกติการะหว่างชาวบ้านคนทิ้งขยะกับท้องถิ่นที่มีหน้าที่เก็บขนให้ทิ้งและเก็บตามเวลาที่ตกลงกัน เมื่อทำได้ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวางถังขยะต่อไป การกำหนดกติกานี่แหละคือการปรับระบบการจัดการของท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นต้องมีแผนการจัดเก็บเพื่อให้สามารถจัดเก็บขยะจากชุมชนหรือตามถนนที่ปลอดถังตามเวลาที่รับปากชาวบ้านไว้ เรื่องนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย มีท้องถิ่นบางแห่งที่ต้องเลิกโครงการเพราะไม่สามารถบริหารจัดการให้รถขยะจัดเก็บได้ตามกำหนดเวลา สุดท้ายชาวบ้านก็ขอให้เอาถังขยะมาวางเหมือนเดิมเพราะรถมาเก็บไม่ตรงเวลา

Advertisement

เทศบาลตำบลพนา จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นเทศบาลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำโครงการชุมชนปลอดถังขยะ จากที่เคยปฏิบัติภารกิจรักษาความสะอาดเหมือนท้องถิ่นทุกแห่งโดยการตั้งถังขยะตามจุดทิ้งขยะหน้าบ้านเรือนและตามริมถนน แต่ก็พบปัญหาการทิ้งขยะไม่ลงถัง ขยะล้นถังลงมาเกลื่อนกลาดและไม่มีการแยกขยะ เทศบาลและชุมชนจึงร่วมกันจัดทำชุมชนปลอดถังขยะ ปรับพื้นที่หน้าบ้านและถนนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม พร้อมกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการลดขยะด้วยการคัดแยกก่อนทิ้งตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเทศบาลเมืองสตูล มีโครงการ “ถนนสีขาวไร้ถังขยะ” เพื่อทําให้ถนนสายหลักของเทศบาลปราศจากถังขยะ มีทัศนียภาพที่สวยงาม โดยเทศบาลส่งมอบถังขยะมาตรฐานขนาดกลางแก่ทุกครัวเรือนที่ตั้งบ้านอยู่ในแนวถนนปลอดถังขยะและจัดเก็บขยะตรงเวลาแน่นอน คือเวลา 18.00 น.ของทุกวัน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาด คัดแยกขยะและนําขยะที่ทิ้งในถังขยะมาวางไว้หน้าบ้านเรือนเพื่อรอการเก็บตามเวลานัดหมาย

เทศบาลเมืองปัตตานี จัดทำโครงการถนนปลอดถังขยะตามถนนสายหลักและในชุมชนทั่วพื้นที่เขตเทศบาลเพื่อการปรับทัศนียภาพของบ้านเมืองให้มีความสะอาดสวยงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดข้อร้องเรียนเรื่องการวางถังขยะหน้าบ้านของประชาชน รวมถึงเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดีที่นำสิ่งแปลกปลอมมาทิ้งในถังขยะ

นอกจากตัวอย่างข้างต้น ยังมีท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการปลอดถังขยะ โดยจัดทำถุงขยะและขายให้ทุกครัวเรือนแทนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะ บ้านไหนขยะมากก็ต้องซื้อถุงมากหรือถุงที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แบบนี้เข้าตามหลักเกณฑ์ “จ่ายตามที่ทิ้ง” หรือ “Pay As You Throw” เหล่านี้แหละที่เป็นนวัตกรรมของท้องถิ่น นี่คือความงดงามของการกระจายอำนาจ..

ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยออกประกาศเรื่อง การ จัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34/1 วรรคสอง วรรคสามและวรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ข้อ 7 ให้ท้องถิ่นจัดให้มีภาชนะรองรับขยะไว้ในที่สาธารณะและสถานสาธารณะให้เพียงพอและเหมาะสมกับประเภท ปริมาณขยะและกิจกรรมในสถานที่นั้น โดยอย่างน้อยต้องมีภาชนะรองรับขยะทั่วไปและขยะที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน นอกจากนั้นยังกำหนดลักษณะและสีของถังขยะตามความในข้อ 8 ของประกาศนี้ ภาชนะรองรับขยะตามข้อ 7 ต้องมีลักษณะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยมีสีเฉพาะสำหรับรองรับขยะแต่ละประเภท หรืออาจกำหนดข้อความหรือสัญลักษณ์อื่นซึ่งแสดงถึงขยะประเภทนั้นไว้อย่างชัดแจ้งที่ (1) สีน้ำเงิน สำหรับขยะทั่วไป (2) สีเขียว สำหรับขยะอินทรีย์ (3) สีเหลือง สำหรับขยะนำกลับมาใช้ใหม่ (4) สีส้ม สำหรับขยะที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน

ทันทีที่ประกาศกระทรวงฉบับนี้ออกมา ก็มีคำถามเกิดขึ้น ความก้าวหน้าที่ท้องถิ่นหลายแห่งได้พัฒนาการจัดการขยะจากที่เคยมีถังขยะเกลื่อนกลาด จนสามารถจัดระเบียบให้เป็นชุมชน ถนน กระทั่งเป็นเมืองปลอดถังขยะแล้ว จะทำอย่างไรกัน หรือจะต้องถอยหลังย้อนกลับไปตั้งต้นทำกันใหม่..

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image