เปิดแนวคิด ‘ย้ง ทรงยศ’ ไปข้างหน้าก็ได้ ถอยหลังก็ดี เพราะการไม่อยู่ที่เดิม ดีที่สุดแล้ว

ถึงวันนี้ซีรีส์ โปรเจ็คต์ เอส เดอะ ซีรีส์ ที่ประกอบด้วยเรื่องราวของกีฬา 4 เรื่องคือ ‘Spike’, ‘Side by Side พี่น้องลูกขนไก่’, ‘SOS skate ซึม ซ่าส์’ และ ‘Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ‘ ได้ออกอากาศมาจนถึงเรื่องสุดท้าย ท่ามกลางเสียงชื่นชมของคนดู

“แต่ภาพในวันนี้ที่ออกมา ไม่เหมือนวันที่ผมคิดไว้ 100% ครับ” ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้เป็นโปรดิวเซอร์บอก

ด้วยที่อยากทำตอนแรกจะมีอารมณ์คล้ายๆ ซีรีส์กีฬาญี่ปุ่นที่เคยดูสมัยเด็กแล้วชอบมาก

“แต่โปรเจ็คต์ เอส ณ วันนี้มันไปอีกทางหนึ่ง”

Advertisement

“ซึ่งก็ดีเหมือนกัน”

เหตุผลที่ไปอีกทางนั้น ย้งว่าน่าจะเพราะการชวน ปิง เกรียงไกร วชิรธรรมพร มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์ และชวน พิชย จรัสบุญประชา, นฤเบศ กูโน, พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ และ ธนีดา หาญทวีวัฒนา มากำกับ แล้วปล่อยให้เขาเหล่านั้น ‘ลุย’

ทั้งๆ บางคนเพิ่งเป็นผู้กำกับเรื่องแรกด้วยซ้ำ

Advertisement

“การเป็นโปรดิวเซอร์ก็เหมือนเราเป็นพ่อแม่นะ ก็แค่บอกเขาว่า ต้องระวัง ต้องทำการบ้านอย่างหนัก แล้วก็แค่กล้าปล่อย ผลักเขาลงน้ำ ถ้าเขาเรียนรู้ที่จะว่ายได้ ก็จะไม่จม”

แต่แน่นอน ถ้าดูทรงแล้วจมแน่ พ่อแม่ก็จะช่วยเหลือ

การได้ทำงานกับคนใหม่ๆ เหล่านี้ ย้งบอกว่าสำหรับเขาเป็นเรื่องที่โชคดีมาก

“ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ของคนที่อายุห่างกับผม 10 ปี 15 ปี ถ้าผมยังเกาะกลุ่มกับงานแบบเดิมๆ กับกลุ่มคนที่โตๆ แบบเดิม ผมคงอยู่ที่เดิม แต่การที่ผมทำงานกับเด็กๆ รุ่นใหม่ เหมือนเขาพาผมไปอีกจุดหนึ่ง”

“คนรุ่นนี้ วิธีคิด การทำงาน วิธีเขียนบท แตกต่างจากคนรุ่นเรา แล้วถ้าปล่อยให้เขาเป็นตัวเขา โดยดูแลเขาอยู่ข้างๆ เขาจะไม่ไปถึงจุดที่มันยากเกินไป แล้วเขาจะทำมันไม่ได้ ผมรู้สึกว่าเขาจะพาเราไปสู่ที่ ถ้าจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นตัวเราเองจะเดินไปไม่ถึง”

ที่ซึ่ง “ผมไม่รู้ว่ามันไปข้างหน้าหรือเปล่า”

ขณะเดียวกัน “ผมบอกตัวเองตลอดเวลา ว่าเราชวนเขามาเป็นผู้กำกับ ถ้าเอามา แล้วทุกอย่างเป็นอย่างที่เราคิดหมด จะชวนเขามาทำไม”

“ผมจึงไม่เข้าไปควบคุม แต่ก็ไม่ได้ปล่อย กระบวนการเขียนบท ก็อาศัยจังหวะไปฟัง แล้วดูว่าไปถึงไหนแล้ว ถ้ามีประเด็นอะไรที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ ผมจะถาม ผมจะไม่อยู่ในจุดที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ”

เมื่อถามว่าถึงวันนี้ การเคลื่อนที่ของเขา ‘ก้าวหน้า’ หรือ ‘ถอยหลัง’ ย้งบอกตามตรง เขาเองก็ไม่รู้ หากก็ไม่ได้สนใจ

เพราะ “ผมว่าการไม่อยู่ที่เดิม คือก้าวหน้าแล้ว”

“สำหรับผม การอยู่ที่เดิมเป็นสิ่งที่อันตรายมาก”

ดังนั้นกับคนรักๆ กัน โดยเฉพาะน้องๆ นักแสดงในสังกัด ฿บริษัทนาดาว฿ ของเขาจึงได้รับคำเตือนให้เคลื่อนที่อยู่เสมอ

“ผมบอก ต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) ว่าจะให้คนพูดถึงว่าเป็น ไผ่ ฮอร์โมนส์ ได้ไม่เกิน 2 ปีนะ ถ้า 2 ปีแล้วคนยังเรียกอยู่ ต้องพิจารณาตัวเองว่าอะไรทำให้อยู่ที่เดิมนานขนาดนั้น”

ต่อ ธนภพ

“นักแสดงวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงเร็ว อีกไม่กี่ปีก็มีคนใหม่ขึ้นมาแทน เราต้องพาตัวเองไปอยู่ในจุดต่อไปได้แล้ว”

ด้วยวิธีคิดนี้ ในฐานะบริษัทดูแลศิลปินเขาจึงพยายามหาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ให้นักแสดงได้ก้าว

อย่างบทเด็กออทิสติกใน ‘Side by Side’ ที่ให้ต่อเล่นก็มาจากแนวคิดนี้

เปิดใจอีกว่า แม้จะรู้ว่าบทดังกล่าวเป็นบทที่ดี หากขณะเดียวกันก็รู้ว่ายากมาก จึง “กลัวอยู่ตลอดเวลาว่าถ้าพลาดนิดนึงอาจจะเป็นตัวตลก ถ้าเล่นไม่ถึง คนจะมองไม่ดี แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ และก็ดีกว่าให้เล่นในบทเดิมๆ ที่อาจจะไม่ได้เสียหาย แต่ก็ไม่ไปข้างหน้า หรือไปในจุดอื่นๆ ยอมเสี่ยงให้เขาเล่นบทยากๆ กระตุ้นให้เขาทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้เรียนรู้”

บทคนเป็นโรคซึมเศร้าของ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ใน SOS ก็เช่นกัน

เจมส์ ธีรดนย์

เรื่องนั้นเจมส์ต้องเล่นสเก๊ตบอร์ด กีฬาซึ่งเจ้าตัวไม่มีพื้นฐานมาก่อน และก็พลาดจนแขนหัก ตอนซ้อม กองถ่ายจึงเสนอให้ใช้สแตนด์อินในฉากยากๆ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ขอเล่นเองให้มากที่สุด เพราะ ‘อยากจะทำให้ได้’

ซึ่ง “ผมชอบเด็กทะเยอทะยานแบบนี้” เขาว่า

“เราไม่ต้องไปเข็น ไปลาก เพราะเขาจะพยายามพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สูง เป็นสเต็ปต่อไป ดังนั้นต่อให้วันนี้เขาพลาดหรือล้ม แต่แอดติจูดเขาจะไม่มีทางพาถอยหลัง”

ซึ่งน่าดีใจที่นักแสดงของนาดาวส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้-เขาว่า

“ผมว่าจุดเริ่มต้นอาจจะเป็นตั้งแต่ที่เราเลือก”

เนื่องด้วยในการตอนการคัด เขาไม่ดูแค่หน้าตา แต่พิจารณาทัศนคติเป็นหลัก เพราะไหนๆ จะทำงานร่วมกันทั้งที ก็อยากมั่นใจว่าจะเป็นคนที่ร่วมงานกันได้

“เด็กทุกคนผมสืบประวัติ ดูไอจีจนถึงรูปสุดท้าย แล้วถ้าเขามีคนรู้จักก็จะถามคนรู้จัก อยากรู้ว่าชีวิตเขาเป็นยังไง”

ถ้าเจอเรื่องเก่าๆ ที่อาจจะถูกขุดให้เป็นปัญหาภายหลังก็จะนัดคุย ‘เปิดใจ’

“วัยรุ่นเคยทำผิดพลาดมา ไม่แปลกหรอก ไม่ตัดโอกาสเขาตรงนั้น แต่พอเป็นดารามีชื่อเสียง สิ่งที่เคยทำในอดีตอาจตามมาตรงนี้ ดังนั้นก่อนถึงวันนั้น ขอให้เล่าให้ฟัง อย่างน้อยเราจะได้หาวิธีรับมือในอนาคต”

เล่าด้วยว่า ทุกวันนี้แม้นาดาวจะไม่มีการประกาศรับนักแสดงชัดเจน แต่ก็มีคนส่งใบสมัครมาเรื่อยๆ ทั้งหน้าใหม่ และที่เป็นดาราอยู่แล้ว

ในส่วนเด็กใหม่เขาว่าประเภทเดียวที่เขาจะไม่รับ แม้ว่าจะหน้าตาดี และมีศักยภาพจะเป็นซุปเปอร์สตาร์ได้ คือ คนที่ปิดตัวเอง และมีกำแพงสูง

“เพราะผมไม่รู้ว่าจะเข้าหาเขาได้ยังไง”

ขณะในส่วนคนดัง ถ้าอยู่ในข่ายมีคนดูแลอยู่แล้วมากระซิบบอกว่าอยากย้ายมาให้นาดาวดูแล “ก็จะบอกเขาว่าเคลียร์ตัวเองได้เมื่อไหร่ จบตรงนั้นแล้ว ค่อยมาคุยกัน เพราะเราจะไม่มีปัญหากับใคร”

ณ ปัจจุบัน นาดาวมีศิลปินทั้งหมด 41 คน ซึ่งไม่มาก หากมองในแง่ของการเป็นบริษัทที่ทำงานด้านนี้ อย่างไรก็ดีนี่เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้วางแผนไว้

ด้วย “บริษัทดูแลศิลปินไม่ใช่ความฝันของผม”

“ผมเป็นคนทำโปรดักชั่น คงขาดใจตายถ้าไม่ได้ทำ แต่ผมรักน้องๆ พวกคนทำงานกลุ่มดูแลศิลปิน และรักนักแสดงกลุ่มนี้ พอวันหนึ่งที่ผู้ใหญ่ฝากให้ทำ ผมช่วยได้ เพราะเรามีตาอะไรบางอย่างที่ทำสิ่งนี้ได้”

อย่างไรก็ตาม ลึกๆ ในใจก็ยังคิดถึงงานโปรดักชั่น

และตั้งใจจะลงมือในสักวัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image