โรงเรียนขนาดเล็ก ยุบแล้วฟื้นด้วยพลัง PLC ชุมชน : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน ,นวพร สุนันท์ลิกานนท์

ถ้าหากพูดถึงการอบรมครูกับการจัดการศึกษา คนในแวดวงข้าราชการครูก็คงมีความรู้สึกร่วมคล้ายๆ กัน การอบรมช่วงชิงเวลาการเตรียมการสอนบ้าง เพิ่มภาระงานเอกสารบ้าง เพิ่มวิธีการวัดประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่สิ่งที่ครูต้องการมากกว่า คือเวลาที่มีคุณภาพกับนักเรียน และเพื่อนพี่น้องครูด้วยกัน

เวลาที่มีคุณภาพนี้ หมายถึง เวลาที่ครูได้พูดคุยกัน ได้ปรึกษาหารือกัน แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ การจัดการชั้นเรียน การออกแบบบทเรียนให้กับนักเรียน เป็นการใช้เวลาเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกันเพื่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้เวลาของครูเพื่อเรียนรู้ร่วมกันถูกตีความใหม่เป็นการเพิ่มเวลาอบรม ให้แนวคิดและวิธีการสร้างสังคมการเรียนรู้ของครูมืออาชีพ หรือ Professional Learning Community ที่เรียกว่า PLC การให้แนวคิดนี้เผยแพร่ออกไปผ่านการอบรมซึ่งถือว่าผิดถนัด หากจะเรียนรู้กระบวนการได้ดีนั้นจำเป็นต้องลงมือทำ การอบรมแบบให้ความรู้ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้และใช้เป็นได้

ฉะนั้น เราคงต้องตั้งคำถามใหม่กับการสร้างสังคมการเรียนรู้ของครูมืออาชีพ

Advertisement

การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของครูมืออาชีพเกิดขึ้นได้เฉพาะกลุ่มครูเพียงเท่านั้นเองหรือ? หากมองในมุมของบุคลากรทางการศึกษาตามโครงสร้าง ก็คงไม่พ้นกลุ่มคนการศึกษา ครูผู้น้อย ครูผู้ใหญ่ และผู้บริหาร แต่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นคำใหญ่ที่ไม่ได้จำเพาะที่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเท่านั้น

การเป็นครูมืออาชีพก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สร้างด้วยกลุ่มคนในระบบการศึกษาเพียงกลุ่มเดียว การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของครูมืออาชีพควรเป็นพื้นที่โอกาสที่คนในสังคมมีส่วนร่วมได้เรียนรู้ไปด้วยกัน โดยครูมืออาชีพนั้นเปรียบเป็นนักจัดการ ผสาน และเชื่อมโยงให้ครู นักเรียน และสังคมที่แวดล้อมโรงเรียนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิด ร่วมกันจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายที่ทุกคนมีร่วมกันในสังคมนั้น

ครูจะไม่ใช่เพียงคนสอนตามหนังสือ นักเรียนจะไม่ใช่เพียงคนที่ท่องหนังสือเพื่อไปสอบ สังคมจะไม่เป็นเพียงผู้คาดหวังและฝากฝังอนาคตของสังคมกับระบบการศึกษา การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แบบมืออาชีพจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพียงผู้ประกอบอาชีพครู

Advertisement

กว่า 10 ปีมาแล้ว เกิดตัวอย่างการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมขึ้นในชุมชนหนึ่งของจังหวัดยโสธร โรงเรียนบ้านกุดเสถียรเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัด สพฐ. ที่เคยถูกยุบไปแล้วเมื่อปี 2543 ด้วยความห่วงใยบุตรหลาน กลัวบุตรหลานถูกฉุดคร่า ข่มขืน ทำร้าย เมื่อไปเรียนโรงเรียนห่างไกล ชาวบ้านชุมชนบ้านกุดเสถียรจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการเปิดโรงเรียนขึ้นอีกครั้ง แม้ไม่มีบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนถูกเปิดขึ้นอีกครั้งในปี 2545 แม้การจัดการศึกษาลุ่มๆ ดอนๆ แต่ผู้บริหารในขณะนั้น ผอ.จำรัส ช่วงชิง ก็มองเห็นโอกาสในการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตนเองโดยใช้ต้นทุนที่ชุมชนมีทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพเกษตรกรรม

ต้นทุนทั้งหลายนี้มีความรู้ภูมิปัญญาซ่อนอยู่ ในช่วงแรกของการดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาจัดการเรียนรู้ของลูกหลานอาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากยังมีความเชื่อและทัศนคติต่อการศึกษาว่าเป็นเรื่องของคนที่จบครูเท่านั้น คนที่ไม่มีวุฒิครู ไม่มีใบประกอบวิชาชีพจะสอนได้อย่างไร อีกทั้งความรู้ที่คนในชุมชนมี ยังไม่ใช่ความรู้ที่จะทำให้ลูกหลานประสบความสำเร็จทางการศึกษาในระดับสูงขึ้นไปได้

การเฝ้าเพียรหากลุ่มคนที่สามารถสร้างความเข้าใจต่อการจัดการศึกษาบนฐานชีวิตของ ผอ.จำรัส ถูกท้าทายด้วยระบบความคิด ความเชื่อดังกล่าวของคนในชุมชน หากแต่การเข้าถึงชุมชนโดยแท้ของผู้บริหารและครูในโรงเรียนทำให้ชุมชนมองเห็นสิ่งที่ขาดหายไปจากตัวลูกหลานสมัยนี้

นั่นคือ ทักษะการทำงานบนฐานชีวิต

ปี 2551 ชุมชนบ้านกุดเสถียรและโรงเรียนบ้านกุดเสถียรได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัย “การศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน” โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า เด็กและเยาวชนบ้านกุดเสถียรส่วนใหญ่ทำงานไม่เป็น

งานในที่นี้ คืองานฐานอาชีพของชุมชน เช่น การทำนา เกี่ยวข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น และมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบแนวทางบริโภคนิยม รับสื่อแบบไม่รู้เท่าทัน ไม่เห็นคุณค่าของความรู้ภูมิปัญญาตลอดจนอาจเกิดค่านิยมที่ละทิ้งท้องถิ่นของตน ความตระหนักร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนจึงเกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่าการปลูกฝังและสร้างค่านิยมรักถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ใช่หน้าที่ของผู้ปกครองหรือครูเท่านั้น หากแต่เป็นสังคมแวดล้อมทั้งโรงเรียนและชุมชนต้องร่วมมือกัน

ด้วยการวิจัยครั้งนี้เองที่เริ่มผูกคนในชุมชนเข้าหากัน การผสมผสานบูรณาการกันระหว่างความรู้ท้องถิ่นจากชุมชนโดยครูภูมิปัญญากับความรู้วิชาการสากลโดยครูในโรงเรียนได้เริ่มต้นขึ้น ห้องเรียนของโรงเรียนบ้านกุดเสถียรที่เคยจัดการเรียนรู้แบบผ่านไปวันต่อวัน

กลายเป็นห้องเรียนไร้กำแพง

เด็กนักเรียนโรงเรียนนี้มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากเดิม นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชีวิตผ่านห้องเรียนท้องนา ห้องเรียนป่าชุมชน เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ผ่านการทดลองย้อมสีผ้าจากเปลือกไม้ เรียนรู้การคำนวณจากกิจกรรมการออมทรัพย์ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างครูภูมิปัญญาของชุมชนกับคุณครูในโรงเรียนนำไปสู่บทเรียนใหม่ๆ ไม่รู้จบ ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นที่ตัวนักเรียนหรือลูกหลานบ้านกุดเสถียรนี้เอง

ประการแรก คือพบประกายความสุขในดวงตาของเด็กๆ ระหว่างเรียน เด็กๆ กล้าคิด กล้าถามเมื่อมีข้อสงสัย เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ ประการต่อมา คือเด็กๆ มีทักษะอาชีพติดตัวจากการเรียนตามหลักสูตรแบบภูมิสังคม ทั้งยังเกิดความเปลี่ยนทางลักษณะนิสัย เด็กๆ ส่วนใหญ่มีความนอบน้อม ขยัน มีความรับผิดชอบ เห็นคุณค่าของสิ่งรอบข้างทั้งธรรมชาติ ผู้ใหญ่ในชุมชน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม

นอกจากผลลัพธ์จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กแล้ว การเปลี่ยนแปลงระหว่างทางของการดำเนินโครงการวิจัยยังสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในตัวผู้ใหญ่ด้วย จากความคิดและทัศนคติเดิมที่มองเห็นว่าวิถีชีวิตที่ดำเนินอยู่ทุกวันไม่ใช่ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับลูกหลาน ถูกเปลี่ยนให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม และความตระหนักในการสืบสานภูมิปัญญา ความภาคภูมิใจจึงตกอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและคนในชุมชนนี้เอง

ระหว่างเส้นทางการสร้างสังคมแห่งการเรียนของครูมืออาชีพ ไม่ได้จำกัดความเฉพาะครูโดยอาชีพเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยครูเป็นผู้เชื่อมร้อยเอาความรู้วิชาการมาผสมผสานให้การเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของนักเรียนลื่นไหลและเรียนรู้ได้แบบองค์รวม จึงจะถือได้ว่าเป็นการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แบบครูมืออาชีพ ครูมืออาชีพมักเรียนรู้ตลอดเวลา ใช่เพียงเรียนจากตำราแล้วจบลง

ถ้าครูและผู้บริหารของโรงเรียนบ้านกุดเสถียรยอมพ่ายแพ้ต่อการสั่งการและการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบนโยบายส่วนกลางเมื่อใด คงไม่ได้เห็นความสวยงานของการเรียนรู้ของนักเรียน คงไม่ได้หลักการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจจากชุมชน คงไม่ได้สร้างคนคุณภาพตามนิยามบ้านกุดเสถียรที่ลุงทองเหรียญ ชายทวีป ครูภูมิปัญญาด้านสมุนไพรได้สรุปคุณธรรม 8 ประการในการทำงานร่วมกันของชุมชนไว้ ดังนี้ 1) ตั้งใจจริง 2) อิงธรรมะ 3) ละผลประโยชน์ 4) โปรดวิชาการ 5) ทำงานเป็นระบบ 6) ครบทุกฝ่าย 7) ขยายประชาธิปไตย และ 8) มีนิสัยเป็นนิจ

ด้วยหลักการทำงานของครูภูมิปัญญาส่งต่อไปยังครูในโรงเรียน ทำให้เห็นได้ชัดขึ้นว่า PLC ฉบับชุมชนจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ใครต่อไปได้อีกบ้าง เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่ชอบยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กมาโดยตลอด

นโยบายยุบควบรวมเป็นปัญหาความไม่แน่นอนของนโยบายส่วนกลาง ซึ่งสร้างผลกระทบ ความหวั่นไหว ไม่แน่นอน ไม่มั่นใจเชิงคุณภาพให้กับโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 12,000 โรงทั่วประเทศ เหตุผลหลักคือจำนวนนักเรียนลดลง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน ปัญหาเทียม ส่วนใหญ่เด็กเข้าไปออนั่งเรียนในตัวเมือง โรงเรียนขนาดใหญ่ 3,000 ถึง 5,000 คน ห้องเรียนยัดเยียดชั้นละ 40-50 คน ทางเลือกทางออกวิธีแก้ไข คือกระทรวงศึกษาธิการควรยกเลิกนโยบายยุบควบรวมเสีย แต่ส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้าสู่หลักการโรงเรียนประชาสังคม สร้างการมีส่วนร่วม PLC ชุมชน ค้นหาอัตลักษณ์ จุดเด่นโรงเรียนผ่านหลักสูตรภูมิสังคมหรือหลักสูตรท้องถิ่น เกิดกระบวนการเรียนรู้ “โครงงานฐานวิจัย” เชื่อมโยงเปิดโรงเรียนนำครูภูมิปัญญา ผู้ปกครองที่มีองค์ความรู้มาช่วยสอน สร้างเครือข่าย ร่วมมือกันด้านบริหาร วิชาการ ทรัพยากร ที่โรงเรียนไทรงาม อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง สร้างหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนวัดเมตารางค์ จังหวัดปทุมธานี สร้างหลักสูตรคณิตศาสตร์ชุมชน โรงเรียนบ้านโพธิ์กอง จังหวัดสุรินทร์ สร้างหลักสูตรทวิภาษา เป็นต้น มีพี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏช่วยงานวิชาการ

งานวิจัยทุกขั้นตอน โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้อาจเสี่ยงถูกยุบเพราะจำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเปลี่ยนไป เด็กเพิ่มขึ้นหรือคงที่ พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจคุณภาพ ลูกหลานเป็นคนดี มีทักษะ ผลสัมฤทธิ์คะแนน O-NET สูงขึ้น กล้าแสดงออก มีความรับผิดชอบ 3R 8C มีครบทุกด้าน ลองมองอีกมิติทางด้านสังคมมากกว่าเศรษฐศาสตร์ ต้องคิดว่าโรงเรียนขนาดเล็กเป็นสิทธิของเด็ก ผู้ปกครองและชุมชน ที่ต้องดี มีคุณภาพและใกล้บ้าน

แต่ถ้าโรงเรียนขนาดเล็กไม่ทำอะไรเลย ปล่อยปละละเลย หมดอาลัยตายอยาก รอวันยุบย้าย ชุมชนปฏิเสธโรงเรียน ท่านได้สมปรารถนาแน่ 100% ทีเดียว

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังควาทิน
นวพร สุนันท์ลิกานนท์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image