นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ.2017 ริชาร์ด ทาเลอร์ แห่งสำนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม : โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หนังสือ “โภคทรัพย์แห่งประชาชาติ” (Thewealth of Nations) ของอดัม สมิท (Adam Smith) ที่พิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1776 (พ.ศ. 2319) สันนิษฐานว่าบรรดาการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค, การผลิต, การลงทุน ฯลฯ เป็นการกระทำที่อยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล (rationality) ซึ่งหมายถึงว่าอรรถประโยชน์ (utility) ที่จะได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย (cost) ที่จะต้องเสียไป, หรือกล่าวง่ายๆ ว่าจะต้อง “คุ้มค่า” การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่บนข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้เสมอไป, ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ของสำนักความคิดใดก็ตาม

อย่างไรก็ดี นับเป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนได้ตั้งข้อสงสัยว่าข้อสันนิษฐานว่าด้วย “ความมีเหตุมีผล” ของการตัดสินใจทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะนักจิตวิทยา (phychologist) หลายคนได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรม (behaviour) ของคนเราและพบว่าโดยทั่วไป คนเราก็ตัดสินใจไปตามทัศนคติ, ตามความคิดและความพอใจ โดยมิได้พิจารณาถึงเหตุถึงผลอะไรมากนัก เพราะอาจจะเป็นการไม่มีเวลาและสมาธิที่จะทำเช่นนั้น, หรือก็เพราะมีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเสียแล้ว, จึงเห็นว่าเป็นการยุ่งยากที่จะมาทบทวนการตัดสินใจ

นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มีความวิตกกังวลว่า หากการศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาคือสภาพความเป็นจริงแล้ว การวิเคราะห์การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่ทำๆ กันอยู่ก็น่าจะมีปัญหา

ภายหลังจากที่ได้พยายามนำเสนอข้อสังเกตทางจิตวิทยามาเป็นเวลาพอสมควร นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ได้แสดงออกซึ่งความคิดที่ไปในทำนองเดียวกัน ทั้งที่เป็นข้อเขียน การค้นคว้าวิจัย และการสื่อสารผ่านกระบวนการต่างๆ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เองก็ได้ปรากฏเป็น “สำนักความคิด” (school of thought) ขึ้นมาอีกสำนักหนึ่งภายใต้ชื่อว่า “สำนักความคิดทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม” (behaviorial economics)

Advertisement

ริชาร์ด ทาเลอร์ (Richard Thaler) ศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้

ศาสตราจารย์ทาเลอร์ได้ให้ความสนใจต่อ “พฤติกรรม” ของคนเราในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจต่างๆ มาตั้งแต่สมัยทำปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ (PH.D.) ที่มหาวิทยาลัย โรเชสเตอร์ (University of Rochester) รัฐนิวยอร์ก และได้ศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และมีผลงานเป็นบทความและหนังสือจำนวนพอสมควร ซึ่งมุ่งไปที่ผู้อ่านซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือสาธารณชน ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) ริชาร์ด ทาเลอร์ ได้ร่วมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งกับศาสตราจารย์ แคส ซันสไตน์ (Cass Sunstein) แห่งโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยเยลหนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “Nudge : Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness” ซึ่งได้เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดทั่วโลก (world’s best-selling) สำหรับในปีนั้น

ดร.แคส ซันสไตน์ เป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมาย มีภรรยาคือ ดร.ซาแมนธา เพาเวอร์ (Samantha Pewor) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้กล่าวถวายพระราชสดุดี (royal tribute) แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติภายหลังการเสด็จสวรรคต สุนทรพจน์ถวายราชสดุดีครั้งนั้นมีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสาธารณชนไทยต่อสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

หนังสือที่ริชาร์ด ทาเลอร์และแคส ซันสไตน์ ร่วมกันเขียน ได้รับการพิจารณาว่าเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันจากวิทยาลัย Booth Business School แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และราชบัณฑิตยสถานแห่งสวีเดน ในฐานะที่รับผิดชอบการพิจารณามอบรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ได้มีมติมอบรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 35 ล้านบาท แก่ศาสตราจารย์ริชาร์ด เอช. ทาเลอร์, เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์คนที่ 77 นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) เงินรางวัลดังกล่าวมาจากธนาคารแห่งชาติของสวีเดน

ริชาร์ด ทาเลอร์ ได้รับเกียรติและรางวัลอันสูงส่งดังกล่าวเนื่องมาจากเหตุผลสองประการคือ (1) มีผลงานทางวิชาการที่สร้างสะพานเชื่อมการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาเข้าด้วยกันในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล และ (2) ได้ทำการค้นคว้าวิจัยที่ได้มาทั้งข้อเท็จจริงและหลักคิดในทางทฤษฎีที่ได้ก่อกำเนิดสำนักความคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ในการนั้น ริชาร์ด ทาเลอร์ ได้สร้างและนำเสนอทฤษฎีว่าด้วยการสะกิดจิตสำนึก (Nudge Theory) ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดานักการเมือง นักธุรกิจและแม้กระทั่งสาธารณชนทั่วไป โดยคำว่า “nudge” หรือ “การสะกิดจิตสำนึก” หากจะพยายามถ่ายทอดเป็นภาษาไทยที่อาจใกล้เคียงที่สุด เป็นคำที่ปรากฏในหนังสือที่ร่วมเขียนกับแคส ซันสไตน์

จุดเริ่มต้นก็คือสภาพความเป็นจริงที่ว่าการตัดสินใจของคนเราที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภคนั้นมิได้เป็นการตัดสินใจที่อยู่ในเหตุและผลเสมอไป โดยเป็นการตัดสินใจที่ยึดเอาความพอใจของตน การเอาอย่างกัน ความสะดวกและความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งต่างๆ และเช่นนั้นจึงมิใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด หรือมีเหตุมีผลที่สุด การสะกิดจิตสำนึกด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการตัดสินใจได้ ซึ่งการนั้นจะเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจ โดยไม่ต้องใช้วิธีการบังคับในลักษณะใดๆ

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลมีนโยบายใคร่ที่จะให้บรรดาผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชนมีการออมทรัพย์เอาไว้ใช้จ่ายภายหลังเกษียณอายุ เช่นเดียวกับบำเหน็จบำนาญของพนักงานของรัฐที่มีการหักเงินเดือนเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญทุกเดือน และรัฐบาลก็ตระหนักว่าผู้ใช้แรงงานและพนักงานในภาคเอกชนก็ปรารถนาที่จะออมเงิน มิได้มีความขัดข้องประการใด

ในกรณีนี้ รัฐบาลก็อาจมีมติคณะรัฐมนตรีหรือออกระเบียบข้อบังคับอะไร ให้มีการหักเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานและผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชน ในลักษณะเดียวกับพนักงานของรัฐ แต่ในกรณีที่บุคคลใดไม่ประสงค์เช่นนั้นก็สามารถยื่นคำร้องแสดงเจตนารมณ์ของตนได้ โดยวิธีการที่อาจเรียกว่า “การสะกิดจิตสำนึก” นี้

ผลจะปรากฏว่ากองทุนออมทรัพย์จะก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะจะมีพนักงานและผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนเพียงจำนวนเล็กน้อยที่แสดงเจตนารมณ์ไม่ประสงค์จะให้มีการหักเงินเดือนค่าจ้างสมทบกองทุน

ในบางกรณี แม้เพียงการเปลี่ยนข้อความหรือถ้อยคำที่ใช้ รัฐบาลก็อาจเก็บภาษีอากรได้เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เสียภาษีมีความเต็มใจที่จะเสียภาษี และการนั้นก็ไม่มีความยุ่งยากประการใด

การรับบริจาคอวัยวะของผู้ที่เสียชีวิต โดยจะได้นำอวัยวะดังกล่าวไปเปลี่ยนถ่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการ อันเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ ในเรื่องนี้ บุคคลส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะบริจาคอวัยวะของตน หากการบริจาคอวัยวะมีกระบวนการและขั้นตอนที่อาจไม่สะดวก ดังนั้น หากจะมีประกาศของรัฐบาลว่าสภากาชาดจะนำอวัยวะของผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปเปลี่ยนถ่ายให้แก่ผู้ที่รอคอย ซึ่งหากผู้ใดขัดข้องก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ได้ ผลจะปรากฏว่าสภากาชาดจะมีอวัยวะสำหรับดำเนินการอันเป็นกุศลมากมาย ทั้งนี้เพราะผู้บริจาคเต็มใจจะบริจาคและไม่มีความยุ่งยาก

เช่นเดียวกัน วิธี “สะกิดจิตสำนึก” สามารถใช้ได้ผลดีในอีกหลายๆ กรณี อาทิ การสะกิดให้ผู้ใช้ช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่อันเป็นสาธารณะ ก็ทำให้สถานที่
ดังกล่าวมีความสะอาดอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้ไม่มีใครกล้าจะทำสกปรก

นโยบายให้บุคคลเลิกสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือเล่นการพนัน ฯลฯ ก็สามารถกระทำได้ด้วยวิธี “สะกิดจิตสำนึก” ทั้งนั้น โดยต้องยึดหลักการว่าจะต้องสะดวก และไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย…

ริชาร์ด ทาเลอร์ รับประกันว่าวิธี “nudge” หรือการสะกิดจิตสำนึกดังกล่าวนี้จะได้ผลอย่างน้อยที่สุดก็ไม่น้อยกว่าการใช้วิธีบังคับ แต่มีโอกาสที่จะได้ผลมากกว่าในหลายประเทศในปัจจุบัน ทั้งสหรัฐ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ ต่างก็มีหน่วยงานสำหรับคิดค้นวิธี “nudge” เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

จิตวิทยามีความสำคัญต่อการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจในการบริโภคและพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ การใช้มาตรการบังคับ หรือการมอมเมาซ้ำซาก โดยไม่ยอมให้เป็นไปตามธรรมชาติ น่าจะเป็นโทษมากกว่าจะเป็นคุณ

 

 

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image