ระบบโซตัส การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษา : โดย อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

“การธำรงวินัย” ของทหาร ตำรวจและหน่วยกำลังติดอาวุธ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ “ระบบโซตัส” หรือระบบยึดถือความอาวุโสที่แพร่หลายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ที่นิยมจัดพิธีรับน้องใหม่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้รุ่นน้องต้องเคารพและเชื่อฟังรุ่นพี่ โดยยึดหลักอาวุโสแบบเข้มข้น จนบางคราวเกิดบาดเจ็บกลายเป็นข่าวเล็ดลอดออกมาให้รับรู้กันแทบทุกปี รวมทั้งกรณีล่าสุด ข่าวนักเรียนเตรียมทหารได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิตที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีการตั้งข้อสงสัยจากฝ่ายญาติของผู้ตายว่าอาจมาจากกระบวนการที่เรียกว่า “การธำรงวินัย” จนปรากฏเป็นข่าวใหญ่เผยแพร่ทั้งทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการละเมิด “สิทธิมนุษยชน (human rights)

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอนำหลักกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UN) ตามกฎบัตรสหประชาชาติ พ.ศ.2488 ที่รับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติขึ้นในปี พ.ศ.2489 และประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights 1948:UDHR) เพื่อคุ้มครองหลักสิทธิมนุษยชนสี่ประการ ได้แก่ สิทธิของปัจเจกบุคคล (Individual rights), สิทธิของกลุ่ม (Group rights), สิทธิโดยร่วมกันของบุคคล (Collective rights) และสิทธิชุมชน (Communities rights) มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

ทั้งนี้ หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทรมาน ได้แก่

หนึ่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 5 บัญญัติว่า “บุคคลใดๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้”

Advertisement

สอง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 7 บัญญัติว่า “บุคคลจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลจะถูกใช้ในการทดลองทางการแพทย์ หรือทางวิทยาศาสตร์โดยปราศจากความยินยอมอย่างเสรีของบุคคลนั้นมิได้ และ

สาม อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ (accession) เป็นการเข้าผูกพันตามอนุสัญญาในภายหลังจากที่อนุสัญญาได้ผ่านการเจรจาและลงนามแล้วเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550
และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา

ตามอนุสัญญาฯข้อ 1 ให้นิยามความหมายของคำว่า “การทรมาน” หมายถึง “การกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม การลงโทษบุคคลนั้น สำหรับการกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือเป็นการข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุผลใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เมื่อความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานนั้นกระทำโดย หรือด้วยการยุงยง หรือโดยความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งทางการ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจาก หรืออันเป็นผลปกติจาก หรืออันสืบเนื่องมาจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย”

Advertisement

และข้อ 2(3) บัญญัติว่า “คำสั่งจากผู้บังคับบัญชาหรือจากทางการ ไม่สามารถยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสำหรับการทรมานได้”
อนุสัญญาฯดังกล่าวนี้ กำหนดให้รัฐภาคีมีภาระหน้าที่ห้าประการ ได้แก่

1.กำหนดหน้าที่ของรัฐภาคีแต่ละรัฐในการดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำทรมานในรัฐภาคี และต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ ผลักดันกลับออกไป หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน
2.รัฐภาคีแต่ละรัฐประกันว่าการกระทำทรมานทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
3.รัฐภาคีแต่ละรัฐดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็นเพื่อให้ตนมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่เกี่ยวข้องตามอนุสัญญา
4.รัฐภาคีจะดำเนินการคุมขังไว้ หรือดำเนินมาตรการทางกฎหมายอื่นที่จะประกันว่าจะได้ตัวบุคคลนั้นเพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดน
5.รัฐภาคีจะพิจารณาทบทวนอย่างเป็นระบบสำหรับกฎเกณฑ์ คำสั่ง วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการไต่สวน ตลอดจนการจัดระเบียบทั้งปวงสำหรับการควบคุม

และการปฏิบัติต่อบุคคลที่ตกอยู่ใต้ภาวะของการจับ การกักขัง และการจำคุก ไม่ว่าในรูปแบบใดในอาณาเขตที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน เพื่อที่จะป้องกันมิให้เกิดมีกรณีการทรมานใดขึ้น

นอกจากนี้ รัฐภาคีจะต้องดำเนินการตามพันธกิจในสี่ประการตามหลักการ “การปฏิบัติการโดยสุจริต” (pacta sunt servanda) ได้แก่ การประกันให้เกิดสิทธิต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญา, การปฏิบัติให้เกิดสิทธิตามที่รับรองไว้ในอนุสัญญาด้วยความก้าวหน้า, การเผยแพร่หลักการของสิทธิตามอนุสัญญานั้นให้กว้างขวาง และการเสนอรายงานผลของการปฏิบัติให้เกิดสิทธิและความก้าวหน้าต่อองค์กรตามอนุสัญญา ตามกรอบระยะเวลา

ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สนธิสัญญา อนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้อัยการสูงสุดของแต่ละประเทศเป็นผู้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเสนอต่อสหประชาชาติ

หลักการตามอนุสัญญาดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ประเทศไทยได้นำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่มีบทกำหนดโทษในทางอาญาและในทางปกครอง โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่สอดส่องดูแลคุ้มครองเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง ซึ่งอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง หลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศจึงได้เปิดช่องทางเพื่อให้ประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลและร้องทุกข์หรือร้องเรียนไว้สำหรับผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อ หรือญาติของเหยื่อ หรือผู้ที่พบเห็นหรือรู้ถึงการกระทำหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องต่อหน่วยงานดังต่อไปนี้

– ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือผู้บัญชาการตำรวจ หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรืออธิบดีกรมการปกครอง หรือปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือ
– ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานนั้น หรือรัฐมนตรี หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือ
– ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. หรือ
– ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือประธานรัฐสภา หรือ
– ร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด หรือ
– ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ
– ร้องเรียนต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ
– ร้องเรียนต่อเลขาธิการสหประชาชาติ

ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อของการทรมานหรือการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมหรือญาติ (ของผู้ถูกกระทำ) ยังสามารถพึ่งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้ ซึ่งวิธีการดีที่สุดคือการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้มีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง ทั้งพยานเอกสารพยานบุคคลพยานวัตถุและการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์การกระทำและเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทย (จะ) ยึดมั่นการปกครองโดยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ (The Rule of Law) และสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและนานาอารยประเทศต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆ เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการปกครองในสถานการณ์พิเศษ หลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนของประชาชนจึงต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามกรอบของมาตรฐานสากล

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image