ขสมก.เล็งรื้อสัญญาติดเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลังพบใช้งานไม่ได้จริง ติดตั้งแล้ว 200 จาก2,600 คัน

แฟ้มภาพ

ขสมก. เล็งรื้อสัญญาติดแคชบ็อกบนรถเมล์เพื่อจำกัดความเสียหาย หลังพบว่าไม่สามารถใช้ได้จริง ด้านการทดสอบอี-ทิกเก็ตรอบแรกใช้ไม่ได้ 35 คัน จาก 100 คัน เอกชนอยู่ระหว่างแก้ไขและนัดทดสอบรอบ 2

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (e-Ticket) ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 1,665 ล้านบาทว่า กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทนำ ได้ติดตั้งเครื่องอี-ทิกเก็ตบนรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขสมก. ไปแล้วกว่า 700 คัน แต่การดำเนินงานภาพรวมยังคงไม่ราบรื่น

โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขสมก.ได้ทดสอบระบบอี-ทิกเก็ตบนรถเมล์ล็อตแรกจำนวน 100 คันแรก พบว่าใช้งานได้ 65 คัน ส่วนที่เหลืออีก 35 คันเครื่องยังไม่เสถียร อ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ดังนั้น ขสมก.จึงยังไม่ตรวจรับและจะไม่ตรวจรับจนกว่าระบบอี-ทิกเก็ตบนรถเมล์ทั้ง 100 คันจะเสถียร

ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาและจะนัด ขสมก.ทดสอบระบบอีกครั้ง โดยตอนนี้การส่งมอบระบบอี-ทิกเก็ตล็อตแรกล่าช้ากว่าสัญญาที่กำหนดไว้ในวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ด้านการตรวจรับล็อตที่ 2 อีก 700 คัน รวมเป็น 800 คัน จะดำเนินการในกลางเดือนธันวาคมนี้

Advertisement

สำหรับเครื่องชำระค่าโดยสารแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ (Cash box) ที่ต้องติดตั้งบนรถเมล์ 2,600 คัน พร้อมกับอี-ทิกเก็ตนั้น ตอนนี้ได้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 200 คัน และยังไม่ได้เริ่มทดสอบระบบ แต่เท่าที่ดูพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จริงและอาจจะมีปัญหา

ขสมก.จึงอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะสามารถชะลอหรือยกเลิกสัญญาการติดตั้งแคชบ็อกได้หรือไม่ ถ้าหากระบบมีปัญหาหรือเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา เพื่อจำกัดไม่ให้ความเสียหายขยายวงมากขึ้น โดย ขสมก.ต้องพิจารณาว่าสัญญาติดตั้งอี-ทิกเก็ตและแคชบ็อกผูกพันกันอย่างไร และต้องการจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่สามารถใช้การได้เท่านั้น

สำหรับกรณีที่ ขสมก.ประกาศให้บริษัท ออโต้เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะโครงการว่าจ้างปรับปรุงสภาพรถเดิม (อายุสัญญาเหมาซ่อม 5 ปี) จำนวน 1,552 คัน ราคากลาง 4,899 ล้านบาท ด้วยการจัดซื้อ/จัดจ้างวิธีพิเศษ โดยบริษัทออโต้เทคนิคฯเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติและเสนอราคาเพียงรายเดียว และได้รับการคัดเลือกด้วยข้อเสนอด้านราคาที่ 1,261 ล้านบาท

นายณัฐชาติระบุว่า บอร์ดยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ แต่การจัดหาผู้ซ่อมบำรุงปกติจะใช้วิธีพิเศษอยู่แล้ว เพราะรถแต่ละยี่ห้อจะมีอะไหล่ของตัวเอง สมัยก่อนเคยเปิดให้ประมูลเป็นการทั่วไปแล้ว แต่สุดท้ายเจ้าของยี่ห้อรถก็มีความได้เปรียบและเป็นผู้ชนะการประมูล จึงเปลี่ยนมาจัดหาด้วยวิธีพิเศษแทน โดยถ้าหากเอกชนเสนอราคาต่ำก็จะยิ่งเป็นผลดีกับ ขสมก. เอง

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุด ช ทวี ได้ดำเนินการติดตั้งอี-ทิกเก็ตบนรถเมล์ไปแล้ว 800 คันและติดตั้งแคชบ็อกไปแล้ว 400 คัน โดยตอนนี้บริษัทฯทดสอบระบบแล้วพบว่าพร้อม 100% เหลือแต่หารือกับ ขสมก. เพื่อกำหนดทดสอบในสถานการณ์จริง คาดว่าจะเป็นภายในช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ ถ้าหากทดสอบผ่านแล้ว ขสมก.ก็จะต้องตรวจรับเครื่องบนรถ 100 คันแรกต่อไป ด้านเครื่องอี-ทิกเก็ตอีก 700 คันที่เหลือยังไม่ถือว่าล่าช้า เพราะมีกำหนดตรวจรับในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนแคชบ็อกตอนนี้ติดตั้งไปได้แล้ว 400 คัน

นอกจากนี้ บริษัทฯยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางปรับอากาศที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) 489 คันด้วยวิธีคัดเลือกหรือไม่ เพราะต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการ (บอร์ด) และการประเมินความเสี่ยง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image