
ผู้เขียน | พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร, อัมพวัน อยู่กระทุ่ม-เรื่อง สมจิตร ใจชื่น-ภาพ |
---|
คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไปหากจะบอกว่าแทบทุกตารางนิ้วภายในวัดนางนองวรวิหาร บนเส้นทางคลองด่าน บางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี ล้วนประกอบขึ้นด้วยสิ่งล้ำค่าที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขทางบัญชี อุโบสถงดงามตามอย่างศิลปะพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสะดุดตาด้วยกระเบื้องเคลือบหลากสีตามวิถีงานศิลป์แบบจีน ภายในไม่เพียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสุดชดช้อย เป็นที่กราบไหว้ศรัทธาของชาวบ้าน ยังรายรอบด้วยจิตรกรรมตระการตา และศิลปกรรมสะท้อนฝีมือช่างชั้นเลิศ หนึ่งในนั้นคือกรอบไม้สลักเสลาลวดลายมงคลจีนที่ดูพริ้วไหวราวกับมีชีวิต ประดับบนกรอบประตูหน้าต่าง ในกรอบเป็นภาพเขียนสีใต้กระจกเล่าเรื่องสามก๊กและอื่นๆ ที่หาชมได้ยากยิ่ง
ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ภาพเหล่านี้ย่อมทรุดโทรมตามกาลเวลา การธำรงไว้ซึ่งสมบัติของชาติด้วยกระบวนการคืนชีวิตให้งานช่างโบราณจึงเริ่มต้นขึ้น
จากศรัทธาสู่ศรัทธา จากแรกสร้างสู่งานอนุรักษ์
ย้อนเวลากลับไปกว่าร้อยปี กรอบไม้และภาพเขียนสีใต้กระจกเหล่านี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นแล้วนำมาประดับบนผนังเหนือกรอบประตูและหน้าต่างพระอุโบสถด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา แม้ไม่ปรากฏหลักฐานด้านความเป็นมาอย่างชัดเจน แต่ไม่มีข้อสงสัยใดๆในความล้ำค่า ครั้นอยู่ในสภาพที่หม่นหมอง ผู้มีจิตศรัทธาก็อาสาเป็นเจ้าภาพในการซ่อมแซมให้งดงามดังเก่า บุคคลผู้นั้นคือ นินนาท ชลิตานนท์ อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร
พระอนุชิต กิตติวัฑฒโน เล่าว่า ที่ผ่านมากรอบภาพซึ่งชำรุดได้ถูกทยอยถอดลงมาเก็บไว้ ต่อมาเมื่อมีแผนงานที่จะอนุรักษ์จึงถอดลงมาทั้งหมดเพื่อเริ่มซ่อมแซมโดยก่อนหน้านี้บูรณะพระอุโบสถในปี 2559 แล้วจึงบูรณะพระประธาน จากนั้นมีการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม กระทั่งมาถึงกรอบภาพเขียนสีใต้กระจกชุดนี้ ซึ่งมีทั้งสิ้น 14 กรอบ 1 กรอบมี 3 ภาพ แบ่งเป็นกรอบขนาดใหญ่ 4 กรอบ ติดบนผนังเหนือช่องประตู ส่วนขนาดเล็กลงมาอีก 10 กรอบติดบนผนังเหนือช่องหน้าต่าง
“ภาพเหล่านี้เป็นการเขียนสีจากด้านหลังของกระจก ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องสามก๊ก และอุปรากรจีน ต่างจากที่อื่นซึ่งมักเป็นภาพเครื่องบูชา ส่วนกรอบไม้สลักเป็นสัตว์มงคลของจีน เช่น ฮก ลก ซิ่ว มังกร นก กระต่าย ค้างคาว เป็นงานที่หาดูยาก วัดแถวนี้ไม่มีที่ไหนเหมือน”

ประสบการณ์ค่อนชีวิต ซ่อมภาพวิจิตรแห่งรัตนโกสินทร์
มาถึงขั้นตอนการซ่อม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ธนิตย์ แก้วนิยม ข้าราชการบำนาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร นายช่างผู้ชำนาญการซึ่งรับภารกิจสำคัญนี้อธิบายว่า งานนี้ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้าน การซ่อมต้องทำให้เหมือนรูปแบบเดิมหรือใกล้เคียงที่สุด ต้องประณีตทุกรายละเอียด แม้แต่การทำความสะอาดก็ไม่สามารถใช้สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ทั่วไป แต่ต้องเลือกใช้สิ่งที่มาจากธรรมชาติอย่าง ‘น้ำลูกประคำดีควาย’ ซึ่งไม่ส่งผลเสียต่อพื้นผิวของโบราณวัตถุ


“ขั้นตอนเริ่มแรกต้องบันทึกข้อมูลก่อน เช่น ถ่ายภาพ และวัดขนาดกรอบและภาพทุกภาพ จดรายละเอียดไว้ จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำลูกประคำดีควาย สำหรับภาพที่แตก จะนำมาต่อเหมือนต่อจิ๊กซอว์ กรอบที่ผุพัง ก็ต้องทำขึ้นมาใหม่ อย่างกรอบลายกุญแจจีน บางส่วนถูกปลวกกิน แม้จะทำจากไม้สักปิดทอง ก็ต้องไปหาไม้มาทำใหม่ สลักลายเดิม นอกจากนี้บางภาพหายไปนานแล้ว บางกรอบก็ถูกเปลี่ยน ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่ ซึ่งการซ่อมครั้งนี้จะปรับให้กลับมาเหมือนของเดิมทั้งหมด คาดว่าใช้เวลาราว 3 เดือน” นายช่างกล่าว โดยย้ำว่า จะใช้ประสบการณ์ค่อนชีวิต ทุ่มเทสุดฝีมือ พร้อมทิ้งประเด็นให้ขบคิดต่อว่า ภาพบางส่วนยังตีความไม่ออกว่ามาจากเรื่องใด อีกทั้งบางภาพยังมีความแตกต่างจากภาพอื่น เนื่องจากดูคล้ายภาพเขียนอย่างฝรั่ง สวย แปลกตา น่าค้นหาที่มาเป็นอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแง่มุมน่าสงสัยว่าภาพเหล่านี้เขียนขึ้นที่ใด ในจีนหรือสยาม มาพร้อมกรอบภาพหรือต่างที่มา ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงบูรณะครั้งใหญ่หรือหลังจากนั้นกันแน่ ?
ปริศนา ‘ข้างหลังภาพ’ เขียนในสยามหรือนำเข้าจากจีน ?
การวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นเช่นนี้ ต้องออกเทียบเชิญ *ผศ.ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช* อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีน ซึ่งเพิ่งคว้ารางวัลงานวิจัยดีเด่นมาหมาดๆ
“ตัวภาพเขียนสีใต้กระจก มีเปอร์เซ็นต์สูงว่าทำในจีน ไม่เคยได้ยินว่ามีช่างไทยทำแบบนี้ ที่ช่างไทยทำคือ การเขียนภาพด้วยสีฝุ่นบนกระดาษแล้วเข้ากรอบ เช่นที่วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งถ้าดูผ่านๆ จะรู้สึกว่าคล้ายกับภาพเขียนสีใต้กระจกที่พบในวัดนางนอง และวัดอื่นๆ ส่วนอายุสมัยคงกำหนดได้กว้างๆ ว่าระหว่างรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 5 ส่วนกรอบไม้คิดว่าทำในสยาม เพราะปกติในจีน เท่าที่เคยเห็นจะทำเป็นกรอบเดี่ยว ไม่ใช่ 3 กรอบติดกันแบบนี้ และยังมีข้อน่าสังเกตคือรูปนกที่แกะสลักอยู่ มีลักษณะเบนตัวออกแล้วหันหน้าเข้า เป็นลายแปลกๆที่นึกไม่ออกว่ามีในจีน แต่ทำให้นึกถึงตราแบบฝรั่งมากกว่า”

ส่วนประเด็นที่บางภาพคล้ายรูปเขียนแบบตะวันตก จึงอาจถูกทำขึ้นภายหลังจากภาพชุดจีนหรือไม่นั้น ดร.อชิรัชญ์มองว่า ‘ไม่จำเป็น’ เนื่องจากภาพเขียนสีใต้กระจกที่เขียนด้วยเทคนิคฝรั่งมีมาตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์ชิง เนื้อเรื่องที่เขียนหลากหลาย เรื่องจีนก็ได้ หรือฝรั่งก็ดี
“การวาดหน้าตาตะวันตกแบบนี้ จีนมีตั้งนานแล้ว ภาพนี้คงเอาตัวอย่างจากภาพฝรั่งมาวาด” ผู้เชี่ยวชาญศิลปะจีนยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวสยามสั่งซื้อภาพแนวฝรั่งอย่างนี้จากจีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นอย่างช้า “มีบันทึกจอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตอังกฤษตอนไปวัดราชโอรส ย่านบางขุนเทียน ไม่ไกลจากวัดนางนอง ระบุว่าได้เข้าไปกุฎิพระแล้วเจอภาพเขียนแนวฝรั่ง เขายังบอกว่าสามารถหาซื้อจากจีนได้ในราคาไม่แพง แต่ไม่ได้ชี้ว่าเป็นภาพเขียนสีใต้กระจก แค่บอกว่าเป็นภาพแนวฝรั่งที่ซื้อจากจีน แล้วก็พบทั่วไปในสยาม”

สำหรับเนื้อหาเรื่องที่เขียนนอกเหนือจากสามก๊ก ยังมีอีกมากที่รอการตีความ นับเป็นปริศนาที่ชวนถอดรหัสกันต่อไป
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ซ่อนอยู่หลังกระจกซึ่งเต็มไปด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมที่กำลังได้รับการอนุรักษ์ เพื่อคืนลมหายใจให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ดีใจที่ ‘คุณโยม’ เห็นคุณค่า
พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดนางนอง เล่าถึงความเป็นมาของวัดซึ่งมีหลักฐานเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงยุคกรุงศรีอยุธยา แล้วได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3 ครั้นโบราณวัตถุสถานทรุดโทรมตามกาลเวลา ก็มีแผนบูรณะโดยหารือกับกรมศิลปากรอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมายังได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์จาก ‘คุณโยม’ ผู้มีจิตศรัทธา ทำให้การอนุรักษ์เป็นไปอย่างไม่สะดุด รวมถึงการอนุรักษ์กรอบไม้และภาพเขียนสีในครั้งนี้
“วัดนางนองเป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะร่วมๆ 200 ปีมาแล้ว ในพระอุโบสถมีหลวงพ่อพระประธานทรงเครื่องจักรพรรดิ มีจิตรกรรมฝาผนัง มีรูปภาพกระจกสีแบบจีนเป็นของเก่าโบราณ อาตมาก็อยากจะบูรณะ อยากจะซ่อมให้มันเป็นเหมือนเดิม ที่ผ่านมาทางวัดได้รับการดูแลจากคุณโยม ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน ฯ ช่วยบูรณะวัดและสร้างศาลาท่าน้ำจากภาพถ่ายเก่า ก่อนหน้านั้นก็ซื้อภาพลายบานประตูหน้าต่างอุโบสถซึ่งคัดลอกโดยขุนประสิทธิจิตรกรรม (อยู่ ทรงพันธุ) เมื่อปี 2475 ให้กรมศิลปากรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป มาถึงคราวซ่อมภาพเขียนกระจกสีซึ่งอาตมาอยากจะซ่อมให้อยู่คงทนถาวรสืบต่อไป อยากอนุรักษ์ให้เหมือนเดิม ก็มีคุณโยม นินนาท ชลิตานนท์ อดีตปลัดกรุงเทพฯ มาช่วย จึงรู้สึกดีใจ เพราะเป็นของมีค่าควรที่ดูแลให้ดีขึ้น เนื่องจากชำรุดทรุดโทรมไปมากแล้ว”