ปรากฏการณ์ ตูน บอดี้สแลม สะพานเชื่อมสู่มิติแห่งจิตอาสา : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราโชบายให้ประชาชนชาวไทยได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมีส่วนร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อย่างสมพระเกียรติด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจิตอาสาเฉพาะกิจฯ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่ พบว่าคนไทยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมโครงการกว่า 4 ล้านคน

จากปรากฏการณ์ของมิติแห่งโครงการจิตอาสาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยต่างให้ความสำคัญน้อมรับและเข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

ด้วยมิติแห่งจิตอาสาดังกล่าววันนี้กระแสของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะแสดงออกซึ่งพลังของความสามัคคีในการพัฒนาสังคมด้วยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมกำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะอยู่คู่กับสังคมตลอดไป

สังคมไทยในระยะหลายปีที่ผ่านมาสีสันแห่งบรรยากาศของการรู้รักสามัคคีได้จางหายไปจากสังคมพอสมควร อาจจะด้วยเหตุผลที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองและอีกหลายปัจจัย บรรยากาศที่เคยพบเห็นก่อนหน้านี้จากการที่ประชาชนมารวมตัวด้วยการทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั้นจึงห่างหายไปพอสมควร

Advertisement

แต่ด้วยพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระราชทานแนวทางโครงการจิตอาสาเฉพาะกิจจึงถือได้ว่าโครงการดังกล่าวได้สร้างกระแสและกระตุ้นให้คนไทยหันมารวมพลังเพื่อความเป็นหนึ่งในมิติของการบำเพ็ญประโยชน์ที่สร้างคุณค่าต่อสังคมอันยากที่ชาติใดจะเสมอเหมือน

สังคมไทยในอดีตชาวต่างชาติสะท้อนให้เห็นว่าประเทศของเราเป็น “สยามเมืองยิ้ม” เป็นสังคมที่ผู้คนพร้อมไปด้วยความโอบอ้อมอารีย์ ยิ้มแย้มแจ่มใส เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ด้วยสีสันแห่งสยามรอยยิ้ม จึงนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับสังคมและประเทศตามมาโดยเฉพาะการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

การแสดงออกซึ่งจิตอาสาของประชาชนสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของสังคมที่วันนี้ผู้คนต่างอยากจะสัมผัสและอยากเห็นบรรยากาศในลักษณะนี้มานานวัน เมื่อผู้คนตื่นตัวสร้างความรักความดีงามต่อสังคมและประเทศชาติด้วยมิติของการรู้รักสามัคคีด้วยการมีจิตอาสาจึงมีคำถามกลับมาว่าจะทำอย่างไรที่สังคมไทยจะดำรงไร้ซึ่งความดีงามให้สืบทอดสู่ลูกหลานอย่างยั่งยืนตลอดไป

อย่างไรก็ตาม จากคำว่าจิตอาสา วันนี้เกิดปรากฏการณ์ของ ตูน บอดี้สแลม ที่ได้ทุ่มเทมุ่งมั่นในการนำร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งด้วยการจัดโครงการ “ก้าวคนละก้าว” โดยการวิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา สู่ จ.เชียงราย เหนือสุดของประเทศ เพื่อนำรายได้จากการบริจาคไปสู่การพัฒนาด้านสุขภาพให้กับประชาชนผ่านโรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ

ภารกิจก้าวคนละก้าวของนักร้องน่องเหล็กผู้นี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งมิติที่สอดคล้องกับการมีจิตอาสาเพื่อการพัฒนาสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะทำได้และแกร่งพอ ที่สำคัญภารกิจดังกล่าวเปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระ ตูนและทีมงานร่วมกันรังสรรค์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์นักพัฒนาอันเป็นที่เทิดทูนและรักยิ่งของประชาชนได้ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อความสุขของประชาชนด้วยน้ำพระทัยอันแน่วแน่ในมิติแห่งการพัฒนาที่หลากหลาย

การทรงงานของพระองค์ท่านประดุจดังพระมหากษัตริย์ผู้มีจิตอาสาเพื่อสร้างพลังแห่งแผ่นดินให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนจนเป็นที่รับทราบกันทั่วโลก และที่สำคัญการทรงงานหรือการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ พระองค์ทรงหวังแค่เพียงทำให้สังคมและประเทศชาติเกิดการพัฒนา ประชาชนอยู่ดีมีสุขภายใต้ความพอเพียง เปรียบเสมือน “การปิดทองหลังพระ” ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้าไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” (พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)

วันนี้ในสังคมไทยมีองค์กรและประชาชนจำนวนมากที่ดำเนินภารกิจเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ด้วยการมีจิตอาสาของ ตูน บอดี้สแลม ผู้ที่เล็งเห็นคุณค่าในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโรงพยาบาลทั่วประเทศยังขาดเครื่องมือแพทย์ในการที่จะดูแลรักษาประชาชนเป็นจำนวนมาก ลำพังภาครัฐซึ่งมีภาระหน้าที่และงบประมาณจำกัดคงจะดูแลไม่ทั่วถึง

จิตอาสาที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ดังกรณีที่นักร้องขาร็อกตูน บอดี้สแลม อาสาเพื่อสังคมครั้งนี้จะเป็นบทสะท้อนหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในวันนี้ยังมีผู้ที่ได้ชื่อว่า “ผู้มีน้ำใจงาม” ที่พร้อมในการปิดทองหลังพระโดยไม่หวังผลตอบแทนแต่มีความสุขแห่งการให้ หรือในกรณีของ จิมมี่ ชวาลา เจ้าของห้างจำหน่ายผ้ารายใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีจิตอาสาด้วยการบริจาคเงินจำนวน 29 ล้านบาท เพื่อการกุศลต่างๆ หนึ่งในจำนวน 16 ล้านบาท มอบให้โครงการวิ่ง “ก้าวคนละก้าว” เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศของตูน บอดี้สแลม ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดในนามประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยไม่หวังผล และไม่ปรากฏตัวที่วัดมหาธาตุฯในวันที่นักร้องหนุ่มวิ่งผ่านเพื่อรับมอบเงินดังกล่าว

การก้าวคนละก้าว ของตูน บอดี้สแลม และทีมงาน เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลต่อความสนใจของผู้คนทั้งประเทศรวมทั้งสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ สิ่งที่น่าสนใจและเป็นต้นทุนที่นักร้องหนุ่มมีติดตัวคือ บุคลิกที่สุภาพเรียบร้อยมีสัมมาคารวะยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าถึงง่าย จึงทำให้ผู้คนพร้อมที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างล้นหลาม

สิ่งที่เป็นพลังให้ ตูน และทีมงานได้ก้าวคนละก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่นคือการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ มีการอัญเชิญดอกไม้พระราชทานและอาหารเสริมไทยซึ่งจัดทำขึ้นที่ห้องเครื่องสำนักพระราชวังมอบให้กับตูนและคณะ พร้อมกับอัญเชิญพระกระแสรับสั่งว่าพระองค์ท่านทรงเป็นกำลังใจ ขอให้ทุกคนมีร่างกายสุขภาพที่แข็งแรง และปฏิบัติภารกิจที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ

จากปรากฏการณ์ของจิตอาสาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ณ วันนี้ คงถึงเวลาที่รัฐบาลจะได้ตระหนักรู้และใช้ห้วงเวลานี้ในการสร้างพลังร่วมของประชาชนให้ตระหนักและเห็นคุณค่า “จิตอาสา” ให้คงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

การขับเคลื่อนเพื่อการสร้างจิตอาสาของประชาชน ภาครัฐสามารถใช้ช่องทางหรือกิจกรรมต่างๆในมิติที่หลากหลาย ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปในสังคมทั่วประเทศ วันนี้ประชาชนประสบปัญหาด้านสุขภาพเป็นอันมาก การสร้างค่านิยมหรือการวางรากฐานให้ตระหนักรู้ในการป้องกันมากกว่าบำบัดและรักษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญยิ่ง

การสร้างจิตอาสาว่าด้วยการพัฒนากีฬาและสุขภาพประจำหมู่บ้านและตำบลจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมไทยซึ่งอาจจะลงทุนน้อย ในทางกลับกันพลังของเหล่าจิตอาสาจะนำมาซึ่งมากด้วยคุณค่าของสุขภาพที่สมบูรณ์และเข้มแข็ง

รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในรัฐบาลที่สนับสนุนการออกกำลังกายและการกีฬาของชาติในมิติต่างๆ ดังเช่นการที่นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายให้ข้าราชการออกกำลังในทุกวันพุธ ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในรูปแบบของการส่งเสริมการสร้างสุขภาพ แต่ถ้าจะให้ประชาชนรักสุขภาพด้วยการหันมาออกกำลังกายและการเล่นกีฬาขั้นพื้นฐานหรือกีฬาเพื่อมวลชนรัฐต้องเป็นแกนนำที่จะต้องดำเนินการอย่างยั่งยืน

แกนนำที่มีส่วนสำคัญในการสร้างจิตอาสาพัฒนากีฬาและสุขภาพประจำหมู่บ้านหรือตำบล คงจะต้องเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องอาทิ การกีฬาแห่งประเทศไทย, กรมพลศึกษา และสถาบันการพลศึกษา ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และหากได้ผนึกพลังกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นช่องทางในการลดปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

และไม่ต้องทำให้ตูนและทีมงานตลอดจนอีกหลายคนหรือหลายองค์กรภาคเอกชนต้องมาเหนื่อยยาก

อย่างไรก็ตาม การสร้างเสริมสุขภาพรัฐบาลก็ต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการรณรงค์ให้ผู้คนเห็นคุณค่าในการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมรวมทั้งจัดสรรงบประมาณประจำปีให้กับองค์กรด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมและเพียงพอ

การขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการพัฒนาให้ก้าวไกล มั่งคั่งและยั่งยืน อาจจะไม่ประสบความสำเร็จหากประชาชนของประเทศโดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกลยังประสบปัญหาด้านสุขภาพ

จิตอาสาจึงเป็นนวัตกรรมในการสร้างพลังการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมที่สำคัญ การที่จะหวังหรือรอให้มีบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางจิตอาสาหรือเป็นขวัญใจของประชาชนอย่าง “ตูน บอดี้สแลม” ที่จะตามในอนาคตนั้นคงจะหวังไม่ได้

แต่การสร้างค่านิยมให้ประชาชนมีความตระหนักในการปิดทองหลังพระ และรู้รักสามัคคีในมิติแห่งจิตอาสา จึงเป็นนวัตกรรมอันทรงคุณค่าที่ไม่ควรก้าวผ่านเพื่อการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แห่งอนาคต

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image