ฟร้อนต์เพจ ออนไลน์ : “ความธรรมดา” ของอุบัติเหตุช่วงเทศกาล ?

ถนนหนทางช่วงเทศกาลปีใหม่ แน่นขนัดไปด้วยยวดยานพาหนะตามคาด ขาล่อง-ขาขึ้น แบ่งทำหน้าที่กันตามห้วงเวลาไป-กลับ

หนักสุดเห็นจะเป็นสายเหนือและอีสาน ที่ได้ยินบางคนบ่นเป็นหมีกินผึ้ง แถมหัวเสียราวคนโดนเมียดุว่า ใช้เวลาเดินทางมากกว่าปกติถึงเท่าตัว

และเหมือนเช่นเคย หรือเราอยู่กันแบบนี้จนชาชินไปแล้ว เรื่องสถิติอุบัติเหตุ การนับจำนวนผู้เสียชีวิต

น่าเศร้าไม่น้อยที่เรื่องนี้กลายเป็น “ความธรรมดา” ทุกคนมองเห็น ไม่ว่าจะระดับผู้มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ แต่ทว่าก็ไม่เคยแก้ปัญหาได้เสียที

Advertisement

อยู่กันมาอย่างนี้ ตายกันไปอย่างนี้ ทั้งที่สถิติหรือการเก็บตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับ “7 วันอันตราย” นั้นมีไว้เพื่อใช้แก้ปัญหา ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่

น่าภูมิใจตรงไหนกับอันดับต้นๆ ของโลกในรายการ “ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุด”

ตอนนี้ เห็นว่าเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากลิเบีย ขณะที่ถ้าลองไปไล่ดูรายละเอียดบางอย่างจะพบว่าเป็นอันดับ 1 ที่ไม่น่ายืดอกอวดใครเลยแม้แต่น้อย อาทิ แชมป์ถนนอันตรายที่สุดในโลก, แชมป์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์

Advertisement

ในฐานะคนทำสื่อ เคยมีเพื่อนถามเกี่ยวกับเรื่องการเก็บสถิติอุบัติเหตุช่วงเทศกาล

เพื่อนว่า “ไม่เข้าใจ… ทำไมสื่อต้องนำเสนอตัวเลขอุบัติเหตุ ยอดผู้เสียชีวิต หรือช่วงนี้ไม่มีข่าวดีๆจะนำเสนออีกแล้ว”

ก็ได้แต่พยักหน้าเข้าใจ และก็ไม่อยากทำให้มันเป็น “ความธรรมดา” ที่ทุกปีจะต้องมานับยอดว่าปีนี้คนตายเท่าไหร่ มากกว่าหรือน้อยกว่าปีที่แล้ว จังหวัดไหนเป็นแชมป์ อุบัติเหตุแบบไหนทำให้ผู้เสียชีวิตมากสุด ยานพาหนะแบบไหนแชมป์ตายสูงสุด ฯลฯ

ทำได้แต่เพียงอธิบายไปว่า การเก็บสถิติอุบัติเหตุในแต่ละปี มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะถ้าไม่มองเห็น “ความธรรมดา” หากแต่เพ่งพินิจพิเคราะห์แล้วพบว่ามันคือ “ความผิดปกติ” แต่ละหน่วยงาน แต่ละส่วน แต่ละคนที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหานั้นๆ ที่สถิติที่บ่งชี้ว่า “ผิดปกติ”

เป็นต้นว่า อันดับหนึ่งทุกปีสำหรับยอดผู้เสียชีวิต นั่นคือ “เมาแล้วขับ” รองลงมาคือ “ขับรถเร็วเกินกำหนด”

เห็นตัวเลขเหล่านี้แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหามาตรการแก้ไข ไม่ให้มีการเมาแล้วขับเกิดขึ้น ไม่ให้รถที่ขับเร็วมากซิ่งปรู๊ดปร๊าดชนโน่นชนนี่จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหา เมาแล้วยึดรถเลยดีมั้ย ขับเร็วเกินกำหนดยึดใบขับขี่เลยดีหรือเปล่า เป็นต้น

หรือยานพาหนะที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด ทุกปีคือ รถจักรยานยนต์

ก็อาจจะต้องมาคิดกันใหม่ว่า ควรต้องสนับสนุนผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ชน ลื่น ละบัด อย่างไรก็ไม่ล้มหรือมั้ย เลนรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะที่ห้ามวิ่งแซก แซง เซาะ เลาะไปตามช่องต่างๆนั้นควรต้องมีหรือไม่

ยิ่งไล่ลงลึกในรายละเอียดอื่นๆ ก็จะยิ่งเห็นตัวเลขที่เป็น “ปัญหา” และช่องทางในการ “แก้ปัญหา”

แต่สำหรับผม สิ่งที่ติดใจมานานมากก็คือ ระบบบริการขนส่งสาธารณะ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่ควรมีนานมากแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอถนนลูกรังหมดประเทศหรอกแล้วค่อยสร้างรถไฟความเร็วสูง ตรงไหนจำเป็น ก็ต้องทำ ก็ต้องแก้ทันที

และเพราะบริการขนส่งสาธารณะไม่ได้เรื่องนี่ไม่ใช่หรือ ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อรถ ขับเอง เพราะมันสะดวกสบายกว่า

รถราจึงเต็มถนน และเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้เราต้องมานั่งเก็บสถิติและมองเห็นเป็น “ความธรรมดา” อย่างทุกวันนี้

ป.ล. กลับบ้านคราวนี้ผมแวะเข้า จ.นครราชสีมา ก่อนที่ต่อไปบ้านเกิด จ.บุรีรีรัมย์ พบว่าช่วงราวกิโลเมตรที่ 116 ถนนมิตรภาพ เกาะกลางถนนปลูกต้นตาล หลายสิบต้นเลยทีเดียว

ลูกตาลสุก หล่นลงพื้น กลิ้งลงถนน รถวิ่งมาเร็วเหยียบเสียหลัก อันตรายมาก – ฝากทางกรมทางหลวงพิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image