จิตวิวัฒน์ : ความเจ็บปวดของคนเป็นครู : ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

ใน “กล้าสอน (Courage to Teach)” พาร์กเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ พูดถึง “ไอ้เด็กนรก (Student from Hell)” ในชั้นเรียนของเขา เป็นเด็กที่ทำให้เขารู้สึกเสียเซลฟ์มากเวลาสอน เพราะเด็กมี “ทีท่า” ต่อต้านตัวเขาตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เป็นครูหรือเคยสอนหนังสือจะรู้ดีว่าบางครั้งเด็กแบบนั้นทำให้ชีวิตของพวกเรา “พัง” มาก

เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานด้านอบรมหรือเป็นกระบวนกร จะพบว่าบางครั้งเราต้องเจอกับผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเรียกได้ว่า “มาจากนรก” เช่นเดียวกัน ภาษากระบวนกรจะพูดถึงเรื่องคลื่น เช่น คลื่นของกลุ่มนี้ไม่ค่อยดี คลื่นของคนนั้นไม่ค่อยดี มันคือความรู้สึกสัมผัสที่ชี้วัดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่รู้สึกได้ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในบรรยากาศที่ปกคลุมการอบรม

เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ครูที่ดี หรือกระบวนกรที่ดี จะต้องสามารถพลิกผันสถานการณ์ให้กลายเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้ได้ ถ้ามิใช่เช่นนั้นแล้วก็ถือว่าฝีมือยังไม่ถึงขั้น หรือกระดูกยังไม่แข็งพอ ถ้าเป็นแบบนั้นกระบวนการอาจจะล่มเอาง่ายๆ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เราลองดูในคลิป จะเห็นครูที่ “น็อตหลุด” และโถมอารมณ์หรือกระทำรุนแรงกับเด็กนักเรียน หรือกระบวนกรที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ก็มีให้เห็นกันอยู่

ถามว่า เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร พาร์กเกอร์ได้รวบรวมความกล้าไปพูดคุยกับเด็กคนนั้น คนที่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง พูดอีกอย่างก็คือ เด็กไปปลุกความกลัวบางอย่างในตัวเขาให้กำเริบขึ้น แต่พอได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวแล้ว พบว่าความกลัวดังกล่าวเป็นความกลัวที่ตัวเขาสร้างขึ้นเอง อย่างที่ปีเตอร์เซงกีบอกเอาไว้ว่า มันคือสิ่งที่เรียกว่า “บันไดแห่งการอนุมาน” อนุมานก็คือความคิดนั่นเอง เพราะอันที่จริง ที่เด็กแสดงออกเช่นนั้น เป็นเพราะเด็กก็มีความกลัวอยู่ลึกๆ เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นหรือไม่

Advertisement

ผมเคยเห็นกระบวนกรบางคนไล่ผู้เข้าร่วมให้กลับบ้านไป เพราะผู้เข้าร่วมมีทีท่าบางอย่างซึ่งต่อต้านตัวเขา ยังดีที่ผมไม่เคยทำอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยประสบกับสถานการณ์อันหมิ่นเหม่และท้าทายหลากหลายรูปแบบ แต่ข้อเรียนรู้ที่ผมได้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พาล์มเมอร์ยืนยันก็คือ ผู้สอนจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดเสียก่อน นั่นก็คือ “การรู้จักตัวเอง” อย่างลึกซึ้งทั้งด้านสว่างและมืด เพราะการสอนไม่ใช่เรื่องของเทคนิคหรือการเลียนแบบ มันไม่ใช่เรื่องว่าจะต้องมีตัวหนังสืออยู่ปริมาณไม่มากกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของสไลด์ มันไม่ใช่เรื่องการไปฝึกใช้เสียงดังกังวานจากช่องท้อง หรือไปฝึกท่ายืนที่ได้รับการอบรมมาจากสถาบันสอนบุคลิกภาพชั้นนำ หรือการปล่อยมุขเป็นครั้งคราวเพื่อเรียกเสียงฮา มันไม่ใช่ทั้งหมดที่กล่าวมา ข่าวดีก็คือ แต่ละคนสามารถเป็นครูที่ดีได้ โดยไม่ต้องไปปวดหัวกับเรื่องเทคนิคพวกนี้ แต่ความเป็นครูคือสภาวะของการดำรงอยู่ด้วยเนื้อหนังและกระดูกแห่งความเป็นครู ที่ใครจะเลียนแบบใครไม่ได้

ผมเคยได้ยินคำขวัญของคณะละครเพื่อการพัฒนาแห่งหนึ่งพูดว่า “ไม่มีเด็กที่เลว มีแต่ครูที่แย่” ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำขวัญที่ฟังดูดี แต่มีข้อบกพร่องเชิงปรัชญาอย่างให้อภัยไม่ได้ ทำไมผมจึงพูดเช่นนั้น การบอกว่าไม่มีเด็กที่เลวนั้นคือตกไปอยู่ในกับดักของการ “เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ถ้านักเรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว การเรียนการสอนก็ต้องลงเหวแน่นอน เพราะมันก็ไม่ต่างกับการบอกว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” เปลี่ยนคำสักหน่อยเป็น “นักเรียนคือพระเจ้า” ถ้าเราเชื่อแบบนั้น ชาตินี้โลกก็คงไม่มีทางได้เห็นไอโฟน เพราะสตีฟ จ๊อบส์ ไม่เชื่อการวิจัยตลาด หรือการไปสอบถามว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่เขาคิดค้นในสิ่งที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ก่อนที่ลูกค้าจะรู้เสียอีกว่าต้องการสิ่งนั้น

ดังนั้น ผมจึงขอยืนยันว่า “มีเด็กที่เลว” และอันที่จริง “เด็กทุกคนเลวหมด” เลวในที่นี้หมายถึงศักยภาพบางอย่างของเขายังไม่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพราะถ้าหากเด็กทุกคนดีหมดแล้ว ครูก็หมดหน้าที่ คราวนี้มาดูท่อนที่สองของคำขวัญเจ้าปัญหานี้ “มีแต่ครูที่แย่” การพูดเช่นนี้ยิ่งทำให้คำขวัญนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรงขึ้นไปอีก เพราะเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า ถ้าหากนักเรียนไม่พัฒนา แสดงว่าเป็นความผิดของครู ผมกลับเห็นว่ามันไม่ถูกที่จะไปโทษครูทั้งหมด มีคำกล่าวที่ว่า การสอนเด็กเพียงคนเดียวต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ดังนั้น ครูเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง และยิ่งนับวันก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อเด็กน้อยลงเรื่อยๆ หันกลับไปดูสภาพสังคมของเรา ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเลือกตัวเองเข้ามาบริหารประเทศ ได้แต่พูดจากลับกลอกไปวันๆ ถ้าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมอย่างนั้นบ้าง การไปโทษที่ครูก็ไม่ถูก

พาล์มเมอร์เสนอทางเลือกที่ 3 คือการใช้ “วิชชา” เป็นศูนย์กลาง หมายถึงให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเคารพ “วิชชา” ซึ่งก็คือความรู้ และนั่นก็หมายความว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครจะต้องเคารพ “บุรุษ” และ “สตรี” ผู้ซึ่งมั่นคงต่อหลักการของความรู้ไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับนักบวช พระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม ที่เราเห็นอยู่นี้เป็นผู้สืบทอดธำรงไว้ซึ่งวิชาความรู้ทางศาสนา ดังนั้น เราจึงให้ความเคารพต่อบุคคลเช่นนั้นซึ่งอุทิศชีวิตของเขาไว้เพื่อการเผยแพร่ความรู้ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง

ผมเองเพิ่งได้ไปเป็นผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาผู้นำระดับประเทศโครงการหนึ่ง ในการอบรมครั้งนี้เกิดวิกฤตขึ้นบางอย่าง เพราะผู้เข้าร่วมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับกระบวนการบางอย่างของวิทยากรผู้นำกระบวนการ ผมบังเอิญได้อยู่ร่วมในวงสนทนา ซึ่งมีผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้นำของกลุ่มเสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการบางอย่างของวิทยากรกระบวนการ ซึ่งผมเองรู้สึกไม่เห็นด้วย จึงเสนอทักท้วงไปว่า การขอปรึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางอย่างน่าจะทำได้ แต่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการนั้น ถ้าหากเสนอไปแล้วก็เท่ากับว่าเรากำลังเสนอตัวเองเพื่อไปเป็นผู้ดำเนินกระบวนการเสียเอง ซึ่งนั่นสำหรับผมเรียกว่าการ “ล้ำเส้น” หรือออฟไซด์ มันไม่ต่างอะไรกับการลงไปเล่นเป็นนักเตะอยู่ในสนามฟุตบอลแล้วบอกว่าจะขอไปเป่านกหวีดเป็นกรรมการเสียเอง

แต่เขาก็ยืนยันว่าจะต้องทำอย่างนั้น ซึ่งพอผมทักท้วงว่ามันอาจจะเป็นการไปทำร้ายความรู้สึกบางอย่างของอาจารย์ผู้ที่ทุ่มเทกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน แต่เขาให้เหตุผลว่า

“ตัวอาจารย์ที่เป็นวิทยากรเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเจ็บปวดด้วย”

ผมเองคงจะเป็นคนโบราณไปเสียแล้วที่รู้สึกว่าการจงใจทำเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะตนเองลึกๆ ยังมีความเชื่อว่า ถ้าเราเป็นศิษย์ เราไม่ควรไปสั่งสอนอาจารย์ เพราะเป็นการ “ก้าวก่าย” ผิดหน้าที่ แน่นอนว่าผมก็ไม่ใช่คนที่เชื่อในเรื่องของการก้มหัวให้กับความอยุติธรรม หรือการกดขี่จากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า แต่ในกรณีนี้มันคนละเรื่อง

ผมจำได้ตอนทำงานเป็นกระบวนกรฝึกหัดกับเทพกีตาร์ ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของเทพกีตาร์หลายอย่าง จนบางครั้งในระหว่างที่ทำกระบวนการอยู่ ผมแอบไปกระซิบสั่งสอนเทพกีตาร์ให้ทำนั่นนี่ มีอยู่ครั้งหนึ่งเทพกีตาร์ถือโอกาสสั่งสอนผมอย่างเจ็บแสบ พอผมเข้าไปให้คำแนะนำเขา เขาหยุดพูด หยุดทำกระบวนการ แล้วยื่นไมโครโฟนให้ผม แล้วพาตัวเองเดินไปหลังห้อง ตอนนั้นผมรู้สึกว่าโลกกำลังหมุนติ้ว พยายามทำกระบวนการต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น ตอนนั้นเองผมเข้าใจคำว่า “ก้าวก่าย” และเข้าใจคำว่า “เชื่อมั่นในกันและกัน” อันที่จริงประสบการณ์จากการแสดง สอนให้ผมวางใจต่อนักแสดงผู้อื่นบนเวที เพราะถ้าเราไม่วางใจ เราจะแสดงด้วยความเหน็ดเหนื่อย เพราะรู้สึกว่าจะต้องไปควบคุมทุกคนบนเวที ในหมู่นักแสดงจะรู้จักกันดีว่า พวกนักแสดงมือใหม่หรือพวกที่ไม่มีครูบาอาจารย์ มักจะเผลอตัวไปกำกับนักแสดงคนอื่นในขณะที่ตนเองกำลังแสดงอยู่ ผู้กำกับบางคนใจดีอาจจะไม่ถือสา แต่ถ้าไปเจอผู้กำกับที่เขาเข้าใจเรื่องแบบนี้ นักแสดงคนนั้นจะต้องโดนด่าสั่งสอนทันที เพื่อไม่ให้ทำอีกในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นนักแสดงที่ผมพูดและด่าได้ ผมจะด่าพวกนี้อย่างเจ็บแสบจนต้องจดจำ แต่ถ้าใครเป็นพวกเหลือขอ ผมก็จะปล่อย “ให้ไปหกล้มปากแตกในอนาคต”

ผมเองก็เคยเจอกับผู้ช่วยกระบวนกรที่คิดว่าตัวเอง “รู้มากกว่า” ผมก็เลยใช้วิธี “ประทานไมค์” ให้ไปเลย ผลปรากฏว่าเธอคุมเวทีไม่ได้ พอมาคุยกันภายหลัง เธอจึงเข้าใจว่าทำไมผมจึงทำอย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ไม่เข้าใจก็โกรธกันไปเลย ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้จริงๆ เพราะผมทำอย่างที่พาร์กเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์เองก็คงจะต้องทำเช่นเดียวกัน ก็คือการเคารพ “วิชชา” ความรู้ และสำหรับคนที่เป็นครูอย่างแท้จริงจะเข้าใจว่านี่คือ “ความเจ็บปวด” ของคนที่เป็นครู

ซึ่งต้องทำในสิ่งที่ลูกศิษย์รู้สึกแย่ๆ แต่ทั้งหมดก็เพื่อที่ว่าจะเป็นปัจจัยให้กับลูกศิษย์ในอนาคต โดยที่เขาจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
กลุ่มจีมานอม www.facebook.com/resetpractice
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image