ชงครม.16 ม.ค.พิจารณากรอบงบปี’62 ตัวเลขพุ่ง 3 ล้านล.ขาดดุล 4.5 แสนล.เน้นปฏิรูปประเทศ

ที่สำนักงบประมาณนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานการประชุมกรอบงบประมาณ 2562 โดยมี 4 หน่วยงานเข้าร่วม ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมสรุปกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท ประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.55 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากปีงบ 2561 ที่อยู่ 2.9 ล้านล้านบบาท แต่ขาดดุลเท่าเดิม โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 นี้ โดยคาดว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาวาระ 1 ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2561 โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2560 เปิดโอกาสให้หน่วยราชการเสนอกรอบการใช้งบเข้ามาพบว่ามียอดถึง 5.1 ล้านล้านบาท ขอให้หัวหน้าหน่วยราชการไปตัดลดงบประมาณดังกล่าวลงให้เหมาะสม เพราะคงไม่มีเงินให้ถึงขนาดนั้น และให้เสนอคำขอเข้ามาในวันที่ 25 มกราคมนี้

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในการพิจารณางบปี 2562 เน้นการปฏิรูปประเทศมีวงเงินรวม 1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่สังคมดิจิทัล การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ การดูแลเศรษฐกิจฐานราก โดยงบที่เพิ่มขึ้นนั้นใช้ในส่วนของประกันสังคม รวมถึงด้านสาธารณสุข ที่ต้องนำมาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ และให้ความสำคัญกับภูมิภาค 6 ภาคเพื่อให้เกิดการพัฒนาในแต่ภาคอย่างแท้จริง โดยในส่วนของงบบุคลกากรในปีงบ 2562 คาดว่าต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5-6%

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินงบลงทุนในปีงบ 2562 ต้องเกินกว่า 20% ของงบรายจ่าย คาดว่ามีเงินสำหรับการลงทุนไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท โดยเน้นการลงทุนระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เศรษฐกิจฐานราก รวมถึงโครงการทางน้ำ บก อากาศ ซึ่งการลงทุนต้องมีการเชื่อมโยงเป็นเน็ตเวิร์ค ส่วนงบใช้คืนหนี้เงินต้น คาดว่าอยู่ในระดับ 7 หมื่นล้านบาท

Advertisement

นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า ในปีงบ 2562 ยังจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล โดยในส่วนของงบประมาณสมดุลเคยมองไว้เมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ยังทำไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจในช่วงนั้นไม่เอื้ออำนวย ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบงบสมดุลอย่างชัดเจนว่าจะเป็นปีใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image