พบแบงก์ช่วยลูกค้าเก็งกำไรบาท ธปท.จับตาใกล้ชิด มองแข็งค่าไม่กระทบส่งออก

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 2% ตั้งแต่ต้นปีเป็นผลจาก 3 สาเหตุ คือ เงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่น อาทิ ยูโร เยน การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อยู่ในระดับสูงจากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี และมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทย ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ซึ่งยังไม่พบความผิดปกติของการไหลเข้าของเงินทุนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่พบว่ามีพฤติกรรมการเก็งกำไร ที่มีสถาบันการเงินในประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องและเอื้อต่อการเก็งกำไรให้กับลูกค้า ซึ่งไม่เป็นไปตามประสงค์ของหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เป็นพฤติกรรมนี้เคยพบแล้วกลับมาพบอีก

“แบงก์ชาติได้แจ้งสถาบันการเงินไปแล้วอยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในช่วงที่มีธุรกรรมหนาแน่น แบงก์ชาติจะเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกมากขึ้น ตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท การคงเงินบาทไว้ในบัญชีของผู้ที่ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศ(NRBA) รวมทั้งอาจจะมีการทบทวนมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเพิ่มเติม ส่วนการออกพันธบัตรของแบงก์ชาติปีนี้ยังคงระดับการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นต่อเนื่องจากปีก่อน” นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่ามีผลกระทบต่อการส่งออกหรือไม่นั้น นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวดี ค่าเงินบาทอาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมาก เพราะปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่า 10% เทียบดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางประเภทที่ใช้วัถุดิบในประเทศมากอาจจะได้รับผลกระทบเมื่อแปลงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาทได้รายได้ลดลง

“ขณะนี้ตลาดโลกดีขึ้น มีความต้องการสินค้ามากขึ้น ควรมีลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ เพราะในระยะข้างหน้าโอกาสที่อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนยังมีอยู่ ถ้าของเราดี แม้จะขายแพงก็ยังมีคนซื้อ” นายวิรไท กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image