สุจิตต์ วงษ์เทศ: เมืองเพชรบุรี มีเขาเจ้าลาย อยู่ชะอำ ตำนานนิทานการค้ากับจีน

เขาเจ้าลาย หรือเขานางพันธุรัต อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี (ภาพจาก https://pantip.com/topic/33710768)

เขาเจ้าลาย หรือเขานางพันธุรัต หรือเขานางนอน อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

อาจารย์ประจำสาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กับนายอำเภอชะอำ ร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งต่างๆ ตามที่กล่าวมานั้น

[ข่าวสด ฉบับวันอังคารที่ 16 มกราคม 2561 หน้า 19]

ในข่าวสดมีรายละเอียดที่อ่านแล้วตื่นตาตื่นใจ เพราะไม่คาดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยกับข้าราชการส่วนภูมิภาคจะเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์สังคมในท้องถิ่นอย่างนี้ ที่พัฒนาให้มีได้ทั้งคุณค่าและมูลค่าโดยไม่ขัดกัน

Advertisement

ประวัติศาสตร์สังคมของท้องถิ่นกระตุ้นและดึงดูดการท่องเที่ยว แม้ไม่มากเท่าอย่างอื่น เช่น ทะเล, ชายหาด ฯลฯ แต่เสริมอย่างอื่นให้เพิ่มคุณค่าและมูลค่ามากขึ้นได้

ดังกรณีชะอำมีธรรมชาติเป็นสิ่งดึงดูดเข้มแข็งมากอยู่แล้ว หากเพิ่มประวัติศาสตร์สังคมท้องถิ่นก็จะยิ่งดูดีมีค่ามากขึ้น แล้วส่งผลดีทางการศึกษาทั้งนอกระบบและในระบบโรงเรียน

สรุปแล้วมีแต่ได้ ไม่มีเสีย

Advertisement

เจ้าลาย

เจ้าลาย ในชื่อเขาเจ้าลาย ได้จากชื่อตัวเอกในนิทานท้องถิ่นอ่าวไทย เกี่ยวข้องการค้าสำเภาทะเลสมุทรกับจีน ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1500

นิทานท้องถิ่นเรื่องนี้รู้จักในหลายชื่อ ได้แก่ (1) เรื่องมหาเภตรา (2) เรื่องท้าวม่องไล่ เจ้ากงจีน และเจ้าลาย (3) เรื่องตามองไล่ ยายรำพึง ฯลฯ

แต่ที่น่าเชื่อถือกับมีรายละเอียดครบถ้วน มีเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในหนังสือ “สมุดราชบุรี” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 หน้า 55-63) เชื่อมโยงถึงเขาสามร้อยยอด อ. สามร้อยยอด จ. ประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงเขาในเขต อ. เมืองประจวบฯ

เหตุที่มีนิทานเกี่ยวข้องการค้าสำเภาจีน เพราะเมืองเพชรบุรีอยู่ริมอ่าวไทยและมีอำนาจควบคุมช่องสิงขร ข้ามคาบสมุทรจากอ่าวไทยไปออกทะเลอันดามัน สู่โลกตะวันตกทางมหาสมุทรอินเดีย

เท่ากับบริเวณนี้เป็นเส้นทางคมนาคมการค้าระหว่างจีนกับอินเดียมาแต่โบราณกาล โดยมีนิทานเป็นร่องรอยความเป็นมายาวนาน (แล้วยังมีในขุนช้างขุนแผน ตอนซื้อม้าสีหมอก ซึ่งเป็นม้าอาหรับลงเรือจากอินเดีย ขึ้นบกที่เมืองมะริด เอาไปเลี้ยงที่เมืองเพชรบุรี)

วรรณคดีไทยยกย่องชาดก ซึ่งเป็นนิทานในพุทธศาสนาจากอินเดีย ราว 1,500 ปีมาแล้ว (หลัง พ.ศ. 1000) แต่เหยียดนิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องศาสนาผี มีมาแต่ดึกดำบรรพ์มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

ไทยเลยขาดพลังสร้างสรรค์ เพราะไร้จินตนาการจากนิทานท้องถิ่น ส่งผลให้ถนัดละเมิดลิขสิทธิ์คนอื่น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image