“ธปท.”จ่อเปิด”แบงก์กิ้งเอเจ้นท์”Q1นี้รับแบงก์ปิดสาขา(คลิป)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “Capital Market Outlook เศรษฐกิจไทยขยับ เตรียมรับเทคโนโลยีเปลี่ยน” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า การเตรียมรับมือเพื่อให้ประเทศพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง มี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ข้อมูล เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก ซึ่งยังต้องพัฒนาอีกมากทั้งการวางระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาความลับของข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูล 2.คน โดยเฉพาะทักษะซ้ำๆ ที่หุ่นยนต์สามารถแทนที่ได้ เช่น งานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย งานคอลเซ็นเตอร์ แรงงานภาคเกษตร รวมถึงการสร้างการตระหนักรู้และการเพิ่มทักษะของภาคแรงงาน ที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน และ 3.โครงสร้างพื้นฐาน ที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน

นายวิรไทกล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ต้องมองในหลายด้านทั้งผลในระยะสั้นระยะยาว และผลกระทบในแง่ของผู้นำเข้าส่งออกและประชาชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งปัญหาจริงๆ แล้วในขณะนี้เกิดจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในภูมิภาค อย่างสกุลริงกิตแข็งกว่าค่าเงินบาทด้วยซ้ำไปเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แม้ว่าปีที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง เพราฉะนั้นปัญหาที่กำลังเผชิญในขณะนี้คือเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่ก็มีสถานการณ์ภายในประเทศที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบางสกุล เพราะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่สูงมาก ปี 2560 ที่ผ่านมาเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวดี

นายวิรไทกล่าวว่า ส่วนการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มการปิดสาขาเพิ่มขึ้น และลดจำนวนพนักงานลง ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีกระทบกับทุกธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมามีหลายภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ สำหรับธุรกิจสถาบันทางการเงินเองก็มีความพยายามหันมาใช้ธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นชัดเจนว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ลดจำนวนสาขาลง เพราะถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับลูกค้าบุคคล ทำให้เห็นการเปิดสาขาจำนวนมาก มีการแข่งขันกันขยายสาขาธนาคาร ขณะที่ต้นทุนการให้บริการก็ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการทางการเงินของประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูงในช่วงที่ผ่านมา

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นสถาบันการเงินหลายแห่งปรับตัวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น และปัจจุบันที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการทำธุรกิจการเงินมากขึ้น ทำให้การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์เร็วขึ้นด้วย และเมื่อต้นทุนถูกลงก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่ถูกลงด้วย อย่างไรก็ตามในขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นการจัดทำเกณฑ์อนุญาตแต่งตั้งผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ (แบงก์กิ้ง เอเจ้นท์) โดยคาดว่าจะประกาศและมีผลบังคับใช้ภายในไตรมาส 1 นี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับการปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยที่ผ่านมาธนาคารออมสินทำเรื่องนี้อยู่แล้ว” นายวิรไทกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image