ธพว.พร้อมปล่อยกู้บรรเทาภาระเอสเอ็มอีจากค่าแรงขึ้น วงเงิน 5.8 หมื่นล.ดอกเบี้ยต่ำสุด 1% นาน 7 ปี

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือเอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ในวันที่ 29 มกราคม ธพว.จะไปร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึงผลกระทบต่อการขึ้นค่าแรง ซึ่งธพว.เตรียมนำเสนอมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย เป็นของขวัญปีใหม่ เริ่มปล่อยกู้ตั้งแต่ 3 มกราคม โดยเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบค่าแรงสามารถมาขอใช้สินเชื่อที่ธนาคารเปิดวงเงินไว้แล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ท่องเที่ยวชุมชน และเกษตรแปรรูป วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระสูงสุดได้ 7 ปี โดย 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี หากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ฟรีค่าธรรมเนียม 4 ปีแรก ซึ่งหากกู้เพียง 1 แสนบาท ผ่อนชำระวันละ 50 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ธนาคารเปิดตัว สินเชื่อฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก วงเงินสินเชื่อรวม 8 พันล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ตลอดระยะเวลากู้ 7 ปี ที่เหลือรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวมีข้อแม้คือต้องเป็นเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยเงินกู้สามารถนำไปใช้เสริมสภาพคล่องธุรกิจ หรือนำไปเริ่มต้นธุรกิจ เปลี่ยนแปลงธุรกิจ สามารถยื่นกู้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อดังกล่าวถือว่าเป็นคิดดอกเบี้ยถูกมาก และเปิดโอกาสให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงมาขอใช้บริการสินเชื่อดังกล่าวได้ด้วย

“สินเชื่อ 2 ตัวข้างต้นสามารถช่วยเหลือทั้งเอสเอ็มอีที่กำลังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ได้รับผลกระทบจากค่าแรง แพคเกจสินเชื่อของธนาคารเป็นส่วนหนึ่งของแพคเกจสินเชื่อตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่อนุมัติวงเงิน 2.45 แสนล้านบาท ให้แบงก์รัฐไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2561”นายมงคล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image