‘อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ’ สัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก นักรบที่มีคุณค่ายิ่งแก่แผ่นดินไทย : โดย พลโท ทวี แจ่มจำรัส

คงจะมีน้อยคนนักในประเทศไทย ที่ไม่รู้จัก “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” บางท่านเห็นและคุ้นชินด้วยตาทุกวัน บางท่านใช้เป็นจุดนัดพบ บางท่านเห็นผ่านสื่อประเภทต่างๆ แต่ก็คงจะลืมไปแล้วว่ามีความเป็นมาและความหมายอย่างไร และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี ทางราชการก็ได้กำหนดให้เป็นวันทหารผ่านศึก มีการจัดกิจกรรมเพื่อทหารผ่านศึกที่ “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” อนุสาวรีย์ทุกแห่งล้วนมีความหมายและความทรงจำที่แฝงอยู่ ถือได้ว่าอนุสาวรีย์เป็นสิ่งก่อสร้างในลักษณะประติมากรรม ที่มีผลในแง่สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์หรือคุณความดีของบุคคล

สำหรับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติ และการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520 กำหนดให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจัดอยู่ในประเภท “อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ” คือสิ่งก่อสร้างที่เป็นเครื่องหมาย น้อมนำให้ระลึกถึงวีรกรรมหรือคุณความดีของบุคคลที่ได้ประกอบกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ไว้แก่บ้านเมืองไทย เพื่อเป็นที่รวมพลังใจ ศรัทธา และความนิยมนับถือของประชาชน และเป็นแบบฉบับแก่อนุชนไทยสืบต่อไป

กรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส เป็นต้นกำเนิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังรบติดพันอยู่ในทวีปยุโรปนั้น ฝรั่งเศสกำลังล่าอาณานิคมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยกับฝรั่งเศสได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2483 (78 ปีล่วงมาแล้ว) แต่สนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากยังไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันซึ่งกันและกัน ต่อมาฝรั่งเศสได้ขอให้สนธิสัญญานี้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนสัตยาบัน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนในอาณานิคมอินโดจีน เนื่องจากในทวีปยุโรป ฝรั่งเศสกำลังพ่ายแพ้เยอรมัน และในทวีปเอเชีย ดินแดนส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคามจากญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสไม่ปลอดภัยไปด้วย

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ตอบฝรั่งเศสในการยินดีตกลงปฏิบัติตามสนธิสัญญา ถ้าฝรั่งเศสยอมรับข้อเสนอของไทย 3 ประการ คือ 1) ขอให้มีการวางแนวเส้นเขตแดนตามลำน้ำโขง ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยให้ถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน 2) ขอให้ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้จนถึงเขตกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งแม่น้ำโขง ตรงกับหลวงพระบาง และตรงข้ามกับปากเซคืนมา

Advertisement

3) ขอให้ฝรั่งเศสรับทราบว่า ถ้าไม่ได้ปกครองอินโดจีนแล้ว ฝรั่งเศสจะคืนลาวและกัมพูชาให้ไทย

ฝรั่งเศสปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ความตึงเครียดของสถานการณ์เกิดขึ้น และในที่สุด ฝรั่งเศสก็ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อการวิวาทขึ้นก่อน โดยนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ไทยจึงจำเป็นต้องป้องกันรักษาอธิปไตย โดยใช้กำลังทหารและตำรวจสนามเข้าต่อสู้ตามชายแดนไทยด้านอินโดจีน โดยจัดกำลังเป็นกองทัพบกสนาม มีพลตรีหลวงพิบูลสงครามเป็นแม่ทัพบก พันเอกหลวงวิชิตสงครามเป็นเสนาธิการ กองกำลังประกอบด้วย

1) กองทัพบูรพา มีพันเอกหลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ มีกองพลผสมปราจีน กองพลผสมอรัญ กองพลจันทบุรี และกองหนุนบูรพามีภารกิจในการเข้าตีด้านกัมพูชา เพื่อยึดพนมเปญและทำการยุทธ์บรรจบกับกองทัพอีสานที่พนมเปญ

Advertisement

2) กองทัพอีสาน มีพันเอกหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต เป็นแม่ทัพ มีกองพลอุดร กองพลอุบลและกองหนุนอีสาน มีภารกิจในการเข้าตีด้านลาวทำการรุกไปยังจำปาศักดิ์สตรึงเตรงและตะวันออกของศรีโสภณ

3) กองพลพายัพ มีพันโทหลวงหาญสงครามเป็น ผบ.พล. มี ร.พัน 28 นครสวรรค์ ร.พัน 29 พิษณุโลก ร.พัน 30 ลำปาง ร.พัน 31 เชียงใหม่ มีภารกิจในการเข้าตีด้านลาว (ฝั่งตรงข้ามหลวงพระบาง)

4) กองพลผสมปักษ์ใต้ มีพันเอกหลวงเสนาณรงค์เป็น ผบ.พล. มีกองพลสงขลา กองพลนครศรีธรรมราช มีภารกิจในการป้องกันมิให้ข้าศึกทางแหลมมลายูบุกรุกเข้ามาได้ทั้งทางบกและทางน้ำ

5) กองทัพเรือ มีพลตรีหลวงสินธุสงครามชัย เป็นแม่ทัพเรือ มีภารกิจส่งกองพันนาวิกโยธินไปสมทบกับกองพันทหารม้าที่ 4 ที่จันทบุรี ช่วยเหลือในการลำเลียงยุทธสัมภาระจากพระนครไปส่งให้กองพลจันทบุรีรับผิดชอบการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ลาดตระเวนค้นหาข้าศึก เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของข้าศึกด้านฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย

6) กองทัพอากาศ มีนาวาเอกหลวงอธึก เทวเดช เป็นแม่ทัพอากาศ มีกองบินใหญ่ภาคเหนือ กองบินใหญ่ภาคใต้ กองบินน้อยผสมที่ 75 ปราจีนบุรี กองบินน้อยผสมที่ 40 นครราชสีมา และกองบินหนุนดอนเมือง มีภารกิจป้องกันภัยทางอากาศและสนับสนุนกำลังภาคพื้นดิน

7) ตำรวจสนาม มีพลตำรวจตรีหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้บังคับการตำรวจสนาม มีกองตำรวจสนาม 13 จังหวัด มีภารกิจป้องกันราชอาณาจักรร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจสนามจะต้องทราบที่ตั้งกองทหารของฝ่ายข้าศึก เมื่อกองทหารเข้ายึดดินแดนข้าศึกใต้ ตำรวจสนามจะต้องจัดกำลังตำรวจทำหน้าที่รักษาดินแดนนั้นๆ
กองทัพไทยได้จัดพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจสนามที่ได้ปฏิบัติการรบในกรณีพิพาทอินโดจีน ฝรั่งเศส และได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484 ทำให้ไทยได้ดินแดนที่เสียไปคืนมาบางส่วน คือดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง เนื้อที่ประมาณ 79,029 ตารางกิโลเมตร ทำให้เห็นถึงขีดความสามารถในการปฏิบัติการรบของกองทัพไทย จนได้รับชัยชนะทั้งๆ ที่เป็นเพียงประเทศเล็กๆ เป็นเกียรติภูมิซึ่งประชาชนชาวไทยแสดงความชื่นชมยกย่อง ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในกองทัพไทย ในการป้องกันประเทศและประชาชนในชาติให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้มีการประชุมและมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติบรรดาผู้มีพลีชีพเพื่อชาติ และเป็นอนุสรณ์แด่ประชาชนชาวไทยรุ่นหลัง กำหนดสถานที่ตรงบริเวณถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธินปัจจุบัน) ตอนต้นของถนนพญาไท บรรจบกับถนนราชวิถี

สำหรับที่ดิน มีการเวนคืนจากเจ้าของเดิม จำนวน 18 ราย โดยมี หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ด้วยแรงบันดาลใจ 5 ประการ คือ
1) ปฏิบัติการรบของกองทัพทั้ง 4 (บก เรือ อากาศ ตำรวจ)
2) ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
3) อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
4) เหตุการณ์สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
และ 5) ความสนใจของประชาชน โดยมีรูปแบบจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เพราะพระปรางค์วัดอรุณฯ นั้นเป็นสัญลักษณ์ทางทัศนคติ ทางพระพุทธศาสนา และยังเป็นสัญลักษณ์ทางการกอบกู้บ้านเมืองให้ได้รับอิสรภาพ

ในการสร้างกรุงเทพมหานครขึ้น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น เมื่อดูองค์รวมแล้วคล้ายกับพระปรางค์วัดอรุณฯ ตรงกลางอนุสาวรีย์เป็นรูปดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร จำนวน 5 เล่มประกอบรวมกัน ให้เห็นถึงการต่อสู้อันแหลมคมทั้งปัญญาและอาวุธ จัดตั้งเป็นกลีบแบบรูปมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นด้านบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อตัน พื้นผิวประดับด้วยศิลาอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนนั้นใช้ส่วนด้ามตั้งเป็นฐาน อยู่เหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ภายในห้องโถงใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาท

ส่วนด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดความสูงของรูปปั้นเท่ากับคนสองคน ประกอบด้วยรูปปั้นนักรบวีรชน 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน สำหรับฐานที่รองรับรูปปั้นทั้ง 5 ประกอบด้วย ศิลาแกรนิต และที่ฐานนี้มีแผ่นจารึกทำด้วยศิลาอ่อนที่มีในประเทศไทย ส่วนอักษรที่ใช้จารึกหล่อด้วยทองแดง เป็นรายชื่อของผู้เสียชีวิตจากสงคราม บริเวณรอบอนุสาวรีย์เป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดกว้าง 131 เมตร ยาว 260 เมตร แท่นฐานอนุสาวรีย์เป็นรูปวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 51 เมตร และจัดให้มีบันไดขึ้นสู่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ด้าน ไปสู่ห้องโถงใหญ่ ใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่และบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในหลายๆ สงคราม เช่น เกาหลี เวียดนาม ฯลฯ จารึกชื่อผู้เสียชีวิต จำนวน 7,297 นาย และด้านนอกที่เสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 อีกจำนวน 807 ชื่อ โดยรอบๆ อนุสาวรีย์นั้นได้มีการประดับด้วยไม้ดอกและไม้ใบพร้อมมีการล้อมรั้วเหล็กไว้อย่างสวยงาม

ในอนาคตสมควรที่จะมีการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินใต้ฐานอนุสาวรีย์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปชมและสักการะดวงวิญญาณได้ โดยขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อไป

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ในปัจจุบันมี พล.อ.สัมพันธ์ ธัญญพืช เป็นผู้อำนวยการ ได้กระทำพิธีจัดงานวันทหารผ่านศึก ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 โดยประกอบพิธีล่วงหน้าเพื่อเชิดชูเกียรติทหารกล้า ทั้งศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ และในวันจริงช่วงเช้า จัดพิธีจุดตะเกียงตามประทีปเพื่อสักการะดวงวิญญาณและอัฐิทหารผ่านศึกผู้ล่วงลับทุกนาย ที่ห้องจารึกผู้เสียสละชีพเพื่อชาติ ภายใต้ฐานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และประกอบพิธีวางพวงมาลาของผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย สมาคม ชมรม มูลนิธิ ตลอดจนทหารผ่านศึกนอกประจำการกรณีสงครามต่างๆ ฯลฯ

การวางพวงมาลาของนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม/นายกสภาทหารผ่านศึก และช่วงเวลา 10.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์วางพวงมาลา ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย จัดที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ บางเขน เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. มีการเลี้ยงอาหารกลางวันและแสดงดนตรีเพื่อให้ความบันเทิงแก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวที่มาร่วมงาน

ในเวลา 15.00 น. จัดพิธีสวนสนามเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกบริเวณลานอเนกประสงค์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม/นายกสภาทหารผ่านศึกเป็นประธานในพิธี โดยมีขบวนของกำลังพล 3 เหล่าทัพ ประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจตระเวนชายแดน อาสารักษาดินแดน และกองทหารม้า โดยมีขบวนสวนสนามก่อนของทหารผ่านศึกใน 7 กรณีสงคราม ได้แก่ สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามอินโดจีน สงครามหาเอเชียบูรพา สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม กรณีป้องกันประเทศและนักรบนิรนาม โดยในปีนี้จะมีการจัดงานและสวนสนามของทหารผ่านศึกในภูมิภาคอีก 24 เขตด้วย สำหรับที่ ร.11 รอ. จะมีการถ่ายทอดสดพิธีสวนสนามให้ประชาชนได้รับชมจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่วงเวลาประมาณ 15.00-16.00 น.

ภายในพิธียังมีการมอบรางวัลให้แก่ทหารผ่านศึกดีเด่นประจำปี 2561 จำนวน 5 ราย คือ พ.ท.ประภาส
แปลงสาร, พลทหาร วัชระพงศ์ วิยะ, พลทหาร กฤษณากร มะลิวัลย์, พลทหาร วันชัย พรมหมอก และพลทหาร วิชัย สุขเจริญ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารผ่านศึก ที่ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ จนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้ดำเนินการให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัว ทั้งด้านสวัสดิการ ด้านอาชีพ ด้านนิคมเกษตรกรรม การให้สินเชื่อ การรักษาพยาบาล การส่งเสริมสิทธิและเกียรติ ปัจจุบันมียอดที่ต้องดูแลทั้งหมด ณ วันที่ 15 มกราคม 2561 จำนวน 629,426 คน แยกเป็นบัตรชั้น 1 จำนวน 14,852 คน บัตรชั้น 2 จำนวน 24,867 คน บัตรชั้น 3 จำนวน 93,461 คน และบัตรชั้น 4 จำนวน 496,246 คน

ในการประชุมสภาทหารผ่านศึก ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ให้ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือรายเดือนให้แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการ บัตรชั้นที่ 2, 3 และ 4 จาก “เดือนละไม่เกิน 3,120 บาท” เป็นเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือรายเดือนแก่ทหารผ่านศึก บัตรชั้นที่ 1 จาก “ครอบครัวละเดือนละไม่เกิน 3,640 บาท” เป็นครอบครัวละเดือนละไม่เกิน 4,000 บาท และปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการทุกบัตรชั้นและครอบครัว จาก “ครอบครัวละปีละไม่เกิน 3,000 บาท” เป็นครอบครัวละปีละไม่เกิน 3,500 บาท “ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป” จึงเป็นภารกิจที่หนักพอสมควร นอกจากงบประมาณที่ได้รับจากทางราชการที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังต้องหารายได้จากหน่วยกิจการพิเศษต่างๆ จำนวน 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานรักษาความปลอดภัย สำนักงานกิจการโรงงานในอารักษ์ สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง สำนักงานกิจการเกษตร การอุตสาหกรรมและการบริการ สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ สำนักงานกิจการพลังงาน และสำนักงานจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งและบุหรี่ มาสนับสนุนจุนเจือด้วย

ประชาชนคนไทยทุกท่านที่ได้อยู่ดีมีสุขกันมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยชีวิตเลือดเนื้อของทหารผ่านศึกผู้กล้าทุกฝ่าย ที่ได้ปกป้องรักษาแผ่นดินไว้ให้มาถึงลูกหลานเหลนโหลนไทยทุกคน การได้รับเกียรติ การได้รับการยกย่อง และการช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่างๆ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถกระทำได้ตลอดเวลา ตรงกับภาษิตโบราณที่ว่า “ยามดีใช้ ยามเมื่อเจ็บไข้และเสียชีวิต ต้องรักษาดูแล” ดังคำขวัญที่ ผอ.อผศ.ท่านปัจจุบันประกาศให้ทหารผ่านศึกและครอบครัว ให้ทราบทั่วกันไว้ว่า “เราจะไม่ทอดทิ้งกัน”

พลโท ทวี แจ่มจำรัส

ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image