จดหมายเปิดผนึก ‘วิญญัติ’ ถึง ‘พ.อ.บุรินทร์’ สะกิดอย่าเลือกปฏิบัติกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ทัดเทียมอาจเป็นตราบาป!

จดหมายเปิดผนึก วิญญัติ ถึง บุรินทร์ จี้ทบทวนเลือกปฏิบัติกลุ่มผู้ชุมนุมสกายวอล์ค-หนุนประวิตร ชี้ควรเป็นเจตนารมย์กฎหมายเดียวกัน สะกิดเอาผิดประชาชนต้องเหมาะสม ทัดเทียม มิเช่นนั้นอาจเป็นตราบาป!

เมื่อเวลา13.31น.วันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ วิญญัติ ชาติมนตรี เป็นจดหมายเปิดผนึกถึง พ. อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารปฏิบัติการประจำกอง บัญชาการกองทัพบก ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกฎหมายคณะ รักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ซึ่งเป็นผู้เเจ้งความดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มที่จัดกิจกรรมที่สกายวอล์ค หน้าห้างสรรพสินค้าพาราก้อน

#จดหมายเปิดผนึกถึงพี่บุรินทร์_ทองประไพ

#ช่วยตรวจสอบเรื่องราวเหล่านี้ด้วยเถอะ!

Advertisement

“ตามที่ผมได้สนทนาพาทีกับพี่บุรินทร์ฯ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ของตนในกระบวนการยุติธรรมมาอย่างน้อยก็ 3 ปีแล้ว พี่บุรินทร์ได้เลื่อนยศเป็น “พันเอก” มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างน่าทึ่ง ผมขอแสดงความยินดีด้วย เนื่องจากพี่ก็เป็นผู้ที่จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ จากรั้วรามคำแหงเช่นกับผม

ผมจึงเชื่อลึกๆส่วนตัวว่า พี่อยู่ในฐานะฝ่ายกฎหมายและปฏิบัติการพิเศษของ คสช. (เจ้าหน้าที่รัฐ) พี่จะทำเรื่องนี้ให้ปรากฏแก่สังคม ที่กำลังจับตาการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง คสช.,ฝ่ายความมั่นคง,สันติบาล,นครบาล ฯลฯ ว่าบุคคลตามภาพหรือที่ไปให้กำลังใจที่กระทรวงกลาโหม พวกเขาเหล่านั้นชื่อแซ่(สกุล)อะไร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนกันบ้าง เพราะด้วยศักยภาพและงบประมาณที่มี คงใช้เวลาอีก1-2 วัน คงจะความคืบหน้ามากแล้ว (หักวันหยุดราชการออกก็ได้)

เมื่อพี่ได้ข้อมูลแล้ว คงจะใช้วิธีการดำเนินคดีอาญาเช่นเดียวกับที่พี่ได้ไปกล่าวโทษร้องทุกข์ที่ สน.ปทุมวัน เพราะพี่เองก็ได้วางแนวทางและมาตรการของการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว พี่คงจะคำนึงถึงประชาชนที่เขาจะมองว่า พี่อาจจะเลือกปฏิบัติหรือใช้ดุลพินิจแตกต่างกันหรือไม่ ผมอดเป็นห่วงพี่ไม่ได้จริงๆ เพราะมันจะผูกพันพี่ตลอดไป

สุดท้ายที่จะกล่าวกับพี่ ผมคาดหวังว่าพี่และทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ต้องทบทวนหลักกฎหมายอาญาว่าด้วยการจัดการชุมนุมสาธารณะก็ดี ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ก็ดี รวมทั้งยุยงปลุกปั่นก็ดี ว่าแต่ละข้อหานั้นมีองค์ประกอบของความผิด คุณธรรมทางกฎหมายอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น กรณี มาตรา 7 มีหลายวรรค ซึ่งอยู่ในบททั่วไป ว่ามุ่งจะคุ้มครองหรือเอาผิดกับใคร เป็นต้น ทั้งนี้ ผมยังแอบหวังอีกว่าพี่และทีมงานจะได้ไปศึกษาค้นคว้าดูเจตนารมณ์ของผู้ร่างกฎหมายนี้ด้วย
ทิ้งท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวว่า ประชาชน “กลุ่มเรียกร้องอยากเลือกตั้ง” กับประชาชน “กลุ่มสนับสนุนให้กำลังใจรองนายกฯ” พวกเขาต่างก็มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองในระดับพื้นฐานที่ควรจะต้องมีควบคู่กับอำนาจรัฐ ย่อมไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของรัฐตรงไหน แยกแยะว่าใครมาทำอะไร มีหลักฐานว่ากระทำผิดข้อหาอย่างไร แต่ละคนที่มาๆด้วยเจตนาใด อย่าลืมนะพี่ว่า ประชาชนเยอะแยะเดินไปมา เป็นแหล่งช้อปปิ้ง ท่องเที่ยวตามประสาสังคมเมือง แล้วอย่างนี้ พวกเขาควรต้องถูกดำเนินคดีและตั้งข้อหาทางอาญาหรือผมเองก็เห็นว่า นี่จะเป็นการตอกย้ำถึงความขัดแย้งสร้างความแตกแยกให้หนักขึ้นอีก ในทางตรงกันข้ามรัฐเองจะต้องใช้อำนาจและให้การรับรองคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลว่าด้วย “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” นะครับพี่…ไม่เช่นนั้นจะเสียชื่อและเสื่อมเกียรติได้

#ถ้าจะเอาผิดลงโทษประชาชน ต้องคำนึงหลักความได้สัดส่วนและความเหมาะสมด้วย มันจะเป็นตราบาปไปตลอดชีวิตนะครับ

..ด้วยความเคารพ

วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13:31น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image