คาดเกณฑ์ช่วยทีวีดิจิทัลคลอดกุมภาฯนี้-เลื่อนจ่ายได้5งวด-พักชำระหนี้ไม่เกิน3ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานพิธีส่งมอบระบบการลงทะเบียนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระหว่าง กสทช. กับกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม สปป.ลาว ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า มาตรการช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในการชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งต้องชำระเงินจำนวนสูงงวดสุดท้ายในปี 2562 ที่เสนอไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ต่อไป ก่อนจะประกาศตามอำนาจ มาตรา 44 โดยทีวีดิจิทัลจะต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดต่อไปในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่ามาตรการจะออกมาได้ทันภายในกุมภาพันธ์นี้

นายฐากร กล่าวว่า รายละเอียดมาตรการช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่กสทช.เสนอไป ทีวีดิจิทัลสามารถพักชำระหนี้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตออกไปได้ไม่เกิน 3 ปี จากเดือนพฤษภาคม 2561 และการชำระดอกเบี้ยเป็นไปตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนค่าเช่าโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (ค่ามักซ์) ทาง กสทช. จะช่วยเหลือไม่เกิน 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม หาก คสช.ออกมาตรการหรือประกาศเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เสนอไป กสทช.ก็พร้อมปฏิบัติตาม เพื่อเปิดช่องให้ทีวีดิจิทัลหายใจได้

นายฐากรกล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือกิจการโทรคมนาคม ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าชนะใบประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกกะเฮิร์ตซออกไปได้อีก 3-5 งวด จากเดิมที่จะต้องจ่ายงวดต่อไปในปี 2562 เป็นจำนวนเงินกว่า 6 หมื่นล้านรวดเดียว โดยปัจจุบันผู้ประกอบการได้ชำระค่าประมูลคลื่นฯในงวดที่3ไปแล้ว การขอขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูล จึงเริ่มต้นในปี2562-2564 สำหรับกรณีที่ขยายเพิ่ม3งวด หรือ2562-2566 กรณีที่ขยายเพิ่ม5งวด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของ คสช.

นายฐากรกล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่ให้ขยายเวลา มาจากผู้ประกอบการชี้แจงว่าจะไม่มีเงินเตรียมการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ และ 800 เมกกะเฮิร์ตซ์ที่ กสทช. จะเปิดประมูลครั้งต่อไป และมีเงินขยายโครงข่ายได้ และเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการอยู่ได้

Advertisement

นายฐากร กล่าวถึงกรณี กสทช. ชะลอ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน900 เมกกะเฮิร์ตซออกไป ว่า เนื่องจากกังวลว่าจะรบกวนการเดินรถของรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน โดยจะชะลอออกไปอีก1-2ปี เพื่อรอให้สร้างแนวป้องกันคลื่นความถี่การเดินรถให้แล้วเสร็จ แต่ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมต้องยืนยันการใช้งานคลื่นความถี่ภายในปี2562 เพราะถ้ายังไม่ยืนยันและนำคลื่นความถี่ไปใช้งาน กสทช.มีสิทธิเรียกกลับ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป ส่วนคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ตซ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ บอร์ด กสทช.จะพิจารณาหลักเกณฑ์ประมูล ก่อนเสนอบอร์ดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยมีประเด็นพิจารณา หลัก คือ แบ่งใบอนุญาตออกเป็น 9 ใบๆ ละ 5 เมกกะเฮิร์ตซ แต่ผู้ประกอบการหนึ่งรายมีได้ไม่เกิน 4 ใบอนุญาตรวมกัน และอีกแบบคือ 3 ใบๆ ละ ไม่เกิน 15 เมกกะเฮิร์ตซ์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ กสทช. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า บอร์ด กสทช. ชุดปัจจุบันจะสามารถจัดประมูลคลื่นดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างสรรหาบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ ซึ่งคาดจะสรรหาได้พฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตามมั่้นใจว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือนกันยายน 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image