ตัวเลขแห่งชีวิต:ระบบ ‘คะแนนความจริงใจ’ ในประเทศจีน โดย:ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณจะยอมให้ชีวิตของคุณถูกกำหนดด้วยตัวเลขมากแค่ไหน?
โดยไม่อาจปฏิเสธ ชีวิตของพวกเราในทุกวันนี้ก็กำหนดด้วยตัวเลขมากมายรายล้อมอยู่แล้ว ตั้งแต่คะแนนที่บอกระดับการศึกษาของคุณอย่างคะแนนสอบวัดผลต่างๆ คะแนนความน่าเชื่อถือในการกู้ยืมเงิน คะแนนการประเมินผลงานของบริษัท นอกไปจากนั้น เรายังเลือกที่จะมี “ตัวเลข” อื่นๆ โดยสมัครใจด้วย (ไม่ว่าเราจะคิดว่ามันตัดสินเราหรือไม่) ตัวเลขจำนวนไลค์ในแต่ละโพสต์ ตัวเลขจำนวนผู้ติดตามใน
ทวิตเตอร์ ตัวเลขคนกดไลค์เพจ ตัวเลขวัดระดับสุขภาพที่อ่านได้จากสายรัดข้อมือ และอื่นๆ

การมีตัวเลขช่วยกำกับ มีประโยชน์ตรงที่ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น มีขอบเขตจับต้องได้ อะไรที่เคยหนีไม่ได้ไล่ไม่ทัน ตอนนี้ พอมีตัวเลขมาแปะป้าย เราก็เห็นมันได้ มากขึ้น

แต่คุณจะยอมให้ชีวิตของคุณกำหนดด้วยตัวเลขมากแค่ไหน?

ปี 2014 ประเทศจีนออกเอกสารสะเทือนวงการชุดหนึ่ง เอกสารชุดนั้นมีชื่อว่า “แผนการสร้างระบบคะแนนสังคม” (Planning Outline for the Construction of a Social Credit System) โดยพื้นฐาน คะแนนสังคมคือคะแนนที่จะควบรวมพฤติกรรมออนไลน์และออฟไลน์ พฤติกรรมสาธารณะและส่วนตัวของประชาชนมาเป็นตัวเลขตัวหนึ่ง เพื่อประเมินว่าประชาชนคนนั้นเป็น “ประชาชนที่ดี” หรือไม่ โครงการระบบคะแนนสังคมนี้มีเป้าหมายเพื่อขจัดพฤติกรรมเลวร้ายสุ่มเสี่ยงให้มลายไปจากประเทศ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชั่น คนผลิตหรือขายของผิดลิขสิทธิ์ หรือคนขับรถผิดกฎหมาย (ความคิดคร่าวๆ คือ ถ้าคุณทำเลว คะแนนของคุณจะลด ถ้าคุณทำดี คะแนนของคุณจะขึ้น) ผ่านการใช้เทคโนโลยีสอดส่องต่างๆ ทั้งกล้องวงจรปิด (ที่ปัจจุบันก็สามารถระบุหน้าตาได้ว่าใครเป็นใครได้อย่างแม่นยำแล้ว)
บิ๊กดาต้า การจับข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต (ที่จีนก็มีความร่วมมือจากบริษัทอินเตอร์เน็ตใหญ่ๆ ทั้งหมด) และโทรศัพท์มือถือ

Advertisement

รัฐบาลจีนคาดหวังว่า ด้วยการใช้ระบบคะแนนสังคม ประเทศจีนจะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมานฉันท์ และเจริญรุ่งเรืองขึ้น

แต่ปัญหาก็คือ นั่นแหละครับ – “พฤติกรรมดี” ที่รัฐบาลจีนว่ามานี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า “ดี” ต่อใครก็ได้ แต่ยังต้อง “ดี” ต่อรัฐบาลจีนด้วย นั่นหมายความว่า หากคุณมีพฤติกรรมต่อต้านรัฐบาล อย่างเช่นโพสต์ข้อความยั่วยุออนไลน์ เข้าร่วมประชุมหรือประท้วง หรือทำธุรกรรมกับธุรกิจที่รัฐบาลไม่เห็นชอบ นั่นก็แปลว่าคะแนนของคุณจะลดลงเช่นกัน

ในปัจจุบันคะแนนสังคมยังไม่เป็น “ข้อกำหนด” สำหรับคนจีนทุกคน (มีรายงานว่าจะเป็นข้อบังคับในปี 2020) แต่รัฐบาลก็ให้อนุญาตบริษัทเอกชนแปดแห่งในจีนเพื่อสร้างระบบให้คะแนนในแบบของตน (นัยหนึ่งเพื่อเป็นการศึกษาไปกลายๆ) แล้ว ระบบที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดระบบแรกเป็นของ Tencent บริษัทผู้ผลิตแอพพ์ Wechat และระบบที่สองเป็นระบบของบริษัทด้านการเงินในเครือ Alibaba ที่ชื่อว่า Ant Financial Service Group ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ Alipay ระบบจ่ายเงินที่ครอบคลุมแทบที่สุดในจีน ระบบที่สองนี้มีชื่อว่า “Sesame Credit” (Zhima Credit)

Advertisement

ประชากรแต่ละคนในระบบ Sesame Credit จะมีคะแนนตั้งแต่ 350-950 คะแนน วัดจากปัจจัยห้าด้านคือ ประวัติการจ่ายเงินในอดีต (Credit History) การทำตามสัญญา (Fulfilment Capacity) ลักษณะส่วนบุคคล (Personal Characteristics เช่นที่อยู่) พฤติกรรมและรสนิยม (Behaviour and Preference ซึ่งตัดสินจากพฤติกรรมการซื้อของและใช้ชีวิต เช่น หากเล่นวิดีโอเกมสิบชั่วโมงต่อวันก็จะถูกจัดว่าเป็นคนเฉื่อยและอาจไม่น่าเชื่อถือ – นี่เป็นคำพูดจากผู้อำนวยการของระบบ Sesame นะครับ ผมไม่ได้พูดเอง – ในขณะที่คนที่ซื้อผ้าอ้อมเด็กก็อาจเป็นพ่อแม่ ซึ่งจะถูกนับว่าน่าเชื่อถือกว่า) และวงสังคม (Interpersonal Relationship)

หากคุณมีคะแนน Sesame Credit มาก คุณก็จะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง เช่นได้กู้เงินเพื่อช้อปปิ้งออนไลน์ประมาณ 5,000 หยวน หรือได้เช่ารถโดยไม่ต้องจ่ายเงินมัดจำ หากคะแนนสูงมากๆ เช่น 700 คุณก็จะสามารถไปเที่ยวสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารการจ้างงาน หรือ 750 คุณก็จะทำวีซ่าเชงเก้นแบบเร่งด่วนได้ – ยิ่งสูง คุณก็ยิ่งมีเครดิต ยิ่งมีเครดิต คุณก็ยิ่งได้รับสิทธิพิเศษ

ในทางกลับกัน หากคุณมีคะแนน Sesame Credit ต่ำมากๆ คุณก็อาจออกนอกประเทศไม่ได้ เช่นกรณีของหลิว ฮุ (Liu Hu) นักข่าวอายุ 42 ปี ที่รายชื่อดันไปติดใน “รายการคนไม่ซื่อสัตย์” (List of Dishonest People) ของรัฐด้วยเหตุอื้อฉาวบางประการในอดีต (ที่เขาจ่ายค่าปรับเรียบร้อยแล้ว แต่มีความผิดพลาดที่ทำให้ชื่อเขาติดอยู่ในนั้นอยู่) เมื่อระบบ Sesame Credit ใช้รายการดังกล่าวมาคิดคะแนนร่วมด้วย ชีวิตของหลิวก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เขามีสิทธิจองที่นั่งระดับต่ำสุดในรถไฟที่ช้าที่สุดเท่านั้น เขาไม่สามารถกู้เงินได้ เขาไม่สามารถซื้อของบางอย่าง หรือพักในโรงแรมหรูได้ – เมื่อคะแนนคุณต่ำ คุณก็จะถูกปฏิบัติด้วยอย่างต่ำช้า

ในแผนการหลักของจีน (ที่ออกมาในปี 2014) ระบบคะแนนสังคมจะประกอบด้วยคะแนนสี่ด้าน คือ คะแนนความซื่อสัตย์กับราชการ, คะแนนความซื่อสัตย์ทางการพาณิชย์, คะแนนความซื่อสัตย์ทางสังคม และคะแนนความน่าเชื่อถือเชิงกฎหมาย

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้เพิ่งเป็นระยะที่บริษัทเอกชนเป็นผู้สร้างระบบ โดยยังไม่หลอมรวมเข้ากับรัฐอย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในปัจจุบัน (ปี 2018) มีการเริ่มต้นใช้ระบบของรัฐในบางพื้นที่แล้ว เช่นในเซี่ยงไฮ้ ก็มีแอพพลิเคชั่นชื่อ “เซี่ยงไฮ้ซื่อสัตย์” (Honest Shanghai) ที่ใช้ระบบจดจำหน้าเพื่อให้เราดูคะแนนของตนเองได้ (ในตอนนี้ยังให้เห็นคะแนนเพียง “ดีมาก” “ดี” หรือ “เลว” เท่านั้น) เจ้าหน้าที่เซี่ยงไฮ้บอกว่า “เราหวังว่าประชาชนในเซี่ยงไฮ้จะเรียนรู้ว่าถ้าพวกเขาซื่อสัตย์ พวกเขาก็จะได้ดีไปด้วย แอพพ์นี้จะทำให้เกิดพลังบวกในสังคม”

แม้ระบบคะแนนสังคมในประเทศจีนจะทำให้เรานึกถึงโลกดิสโทเปียอย่างที่เห็นในซีรีส์อย่าง Black Mirror หรือการ์ตูนเรื่อง Psy-chopass อย่างช่วยไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้วระบบดังกล่าวอาจเป็นเพียงเวอร์ชั่นที่ชัดเจนเห็นกับตามากกว่าของระบบที่ปกครองโลกนี้อยู่แล้วเท่านั้น เราต่างมีคะแนน มีตัวเลขอยู่รอบตัวหลากหลาย และตัวเลขหลายตัวก็ถูกส่งโยงใยกันระหว่างบริษัทที่มีทั้งเงินทุนและอำนาจ ตั้งแต่คู่เดต (Tinder, OkCupid) คะแนนการเป็นผู้โดยสารที่ดี (UBER) ไปจนถึงการจ่ายภาษีตรงเวลา ตัวเลขเหล่านี้ถูกใช้เพื่อตัดสินเราในแทบทุกด้านอยู่แล้ว ระบบคะแนนสังคมของจีนอาจเป็นเพียงการควบรวมคะแนนทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น

เราอาจอยู่ในโลกที่หลีกเลี่ยงตัวเลขไม่ได้แล้ว ที่ยังพอทำได้คือ เราอาจต้องถกเถียงและพิจารณากันว่า ตัวเลขต่างๆ จะถูกคิดขึ้นอย่างไร มันควรใช้พฤติกรรมสาธารณะหรือส่วนตัวมาคิดในอัตราส่วนเท่าไร และสุดท้ายแล้วตัวเลขเหล่านี้จะถูกใช้ในขอบเขตใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image