ว่าด้วยการโต้แย้ง การต่อต้าน และทางออกของประชาธิปไตย โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ประชาธิปไตยเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่งหรือไม่? คำตอบคือ เป็น

คำถามก็คือ แล้วถ้าเห็นว่าเป็นเผด็จการ เผด็จการแบบประชาธิปไตย กับเผด็จการแบบอื่นๆ ต่างกันอย่างไรล่ะ?

คำถามที่สองคือ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยนั้นไร้องค์ประกอบของเผด็จการ แทนที่จะมุ่งเน้นปกป้องประชาธิปไตยแบบเป๊ปซี่ คือ ประชาธิปไตยดีที่สุดแล้ว โดยไม่ฟังเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือที่พยายามโค่นล้มประชาธิปไตย

ผมตอบคำถามนี้ตรงๆ ไม่ได้ แต่อยากจะชวนท่านผู้อ่านพิจารณาเรื่องหลายๆ เรื่องประกอบกัน

Advertisement

เรื่องแรก การเอาประชาธิปไตยมาจับคู่ว่าตรงข้ามเผด็จการเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้มีมาแต่ยุคสร้างโลก ในยุคโบราณนั้น ประชาธิปไตยเป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบการปกครอง และคุณค่าที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยในสายตานักคิดโบราณบางพวกที่เราดันไปนับถือว่าเป็นพวกนักคิดสำคัญทางรัฐศาสตร์ (ซึ่งไม่ได้ประทับใจอะไรกับประชาธิปไตยมากนัก) ก็คือ “เสรีภาพ”

ขณะที่รูปแบบการปกครองอื่น อาจจะให้ความสำคัญกับ “ความมั่งคั่ง” หรือ “เกียรติภูมิ”

มิหนำซ้ำ ประชาธิปไตยในยุคโบราณยังถูกผูกไว้กับชนชั้นล่าง ซึ่งถูกมองว่า “ขาดคุณสมบัติในการปกครองทุกคน และปกครองตนเอง” และมีแนวโน้มที่จะใช้เสรีภาพไปในทางที่ตอบสนองต่อประโยชน์ของพวกตนเองในฐานะเสียงข้างมาก จนอาจนำไปสู่การเป็นการปกครองโดยฝูงชนที่ไร้เหตุผลได้

Advertisement

โดยคร่าวๆ นักคิดโบราณจึงมีทางออกเรื่องนี้คือ สนับสนุนระบบการปกครองที่เน้นความเป็นเลิศ หรือการปกครองแบบอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เน้นเรื่องเสรีภาพ หรือพยายามจัดการผสมการปกครองหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน เพื่อเอาข้อดีของแต่ละแบบมาอยู่ในที่เดียว

สิ่งที่เราเรียนรู้ก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ประชาธิปไตยนั้นมีคุณค่า ที่คนที่ยึดถือศรัทธาในประชาธิปไตยควรรับฟัง และจะได้ปรับปรุงพัฒนาประชาธิปไตยให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการปกครองที่มากกว่าเรื่องของเสรีภาพ และเสียงข้างมากคือความถูกต้องให้ได้

โดยเฉพาะเมื่อคณะรัฐประหารที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศมักจะใช้คำอธิบายที่ว่า เสรีภาพนั้นไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของการปกครอง และเสรีภาพนั้นสามารถถูกจำกัดได้ด้วยหลายร้อยเหตุผล แม้กระทั่งเหตุผลที่ดูเหมือนกับว่าจะเข้าท่าทั้งที่ปัญหามีร้อยแปด ประเภทที่ว่า เสรีภาพนั้นใช้ได้ แต่ต้องไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่น (แต่รัฐบาล/คณะรัฐประหารสามารถละเมิดเสรีภาพของประชาชนในนามของการบังคับใช้กฎหมายที่มาจากสถาบันที่อ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนในการเลือกคนเหล่านั้นขึ้นมา)

ประเด็นท้าทายก็คือ เราจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไรให้สามารถรองรับเป้าหมายได้มากกว่าเรื่องเสรีภาพ และการพัฒนาประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีลักษณะที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของกลไกต่างๆ ที่จัดวางไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือประเพณีการปกครอง

เรื่องที่สอง ที่ควรพิจารณาถึงที่มาที่ไปของประชาธิปไตย อาจจะพอกล่าวกว้างๆ ได้ว่า เรื่องของประชาธิปไตยที่เราเห็นว่าอยู่ตรงข้ามแบบขั้วขัดแย้งกับเผด็จการนั้น อาจจะเริ่มเป็นประเด็นสำคัญในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมที่พยายามดิ้นรนพ้นไปจากอำนาจครอบงำในแบบเดิมๆ เช่นการครอบงำโดยชนชั้นนำ และการครอบงำโดยอิทธิพลทางศาสนา เข้าสู่เรื่องของการปกครองตัวเราเอง เพราะตัวเราเองนั้นเป็นคนที่คิดได้และมีเหตุผล

เมื่อเสรีภาพกับเหตุผลมันมาบวกกัน ประชาธิปไตยมันก็ได้รับความหมายใหม่ๆ คือเป็นทั้งอุดมการณ์และระบอบการปกครองที่เชิดชูเสรีภาพทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ความคิดความอ่าน และความเป็นมนุษย์ที่มองว่ามนุษย์คือคนที่คิดได้และมีเหตุผล และมีเงื่อนไขขั้นต่ำที่จะละเมิดชีวิต (และทรัพย์สิน) ของพวกเขาไม่ได้ ซึ่งเราอาจจะเรียกรวมๆ ง่ายๆ ว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยนั่นแหละครับ

ตรงข้ามกับเผด็จการที่มักจะถูกให้คุณค่าในแง่ลบ บ้างก็เรียกว่าอำนาจนิยม เพราะไม่มีช่องทางทางสถาบันและช่องทางที่เป็นรูปธรรมที่จะอ้างได้ว่า พวกเขาเชื่อมโยงและมาจากประชาชน และประชาชนในความหมายใหม่นี้ก็ไม่ใช่ฝูงชนที่ควบคุมไม่ได้อย่างในยุคโบราณ

แม้กระทั่งความพยายามในการขยายโอกาสการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปยังบรรดาชนชั้นกรรมาชีพนั้น นักคิดสายสังคมนิยมก้าวหน้าก็ไม่ได้ใช้เหตุผลแต่เรื่องของจำนวนในการโค่นล้มระบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ก็พยายามอธิบายอย่างสลับซับซ้อนถึงที่มาของความมั่งคั่งและการขูดรีดซ่อนรูประหว่างสองชนชั้นหลักที่มองไม่เห็นที่ผิวหน้าในกระบวนการผลิต

ในสายธารทางความคิดที่จะสถาปนาประชาธิปไตยให้ตั้งมั่นในยุคสมัยใหม่นั้น ข้อถกเถียงสำคัญอีกประการหนึ่งอยู่ที่เรื่องของการปกครองโดยพันธสัญญาระหว่างตัวเรากับรัฐบาล ที่เรียกกว้างๆ ว่าประชาสังคม

เราอาจจะแบ่งวิธีการมองพันธสัญญาระหว่างตัวเรากับรัฐบาลในสามแบบ

แบบแรก มองว่าก่อนจะมีรัฐบาลนั้น ผู้คนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ธรรมชาติของผู้คนมีแต่จะทำร้ายและเอาเปรียบกัน การรักษาความสงบโดยองค์อธิปัตย์ที่เข้ามาดับทุกข์เข็ญนั้นจึงเป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้ว และเราจะเรียกอำนาจคืนไม่ได้

คำอธิบายเช่นนี้มักถูกจริตกับคณะรัฐประหาร ที่อ้างถึงความสงบในการสยบความเคลื่อนไหว และเพาะฝังความกลัวให้ประชาชนรู้สึกว่าเราไม่ควรเรียกร้องให้พ้นไปจากการปกครองของรัฐบาลที่เข้ามารักษาความสงบ และบางครั้งก็เผลอที่จะเชื่อว่าตนนั้นเป็นองค์อธิปัตย์

พันธสัญญาในแบบที่สอง มองว่า ธรรมชาติก่อนจะมีรัฐบาลนั้นไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพียงแต่ว่าแต่ละคนที่มีสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินนั้น ขาดคนที่จะมาทำหน้าที่บังคับใช้กฎเกณฑ์ร่วมกันที่จะทำให้อยู่ด้วยกันในแบบที่ต่างเคารพซึ่งกันและกันเหมือนที่เป็นอยู่นั้นได้

การปกครองแบบนี้นอกจากเราแต่ละคนจะต้องเคารพซึ่งกันและกันแล้ว ต้องเคารพรัฐบาลที่เราสถาปนาขึ้นมา และรัฐบาลเองก็ต้องเคารพประชาชน และถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำให้ผลประโยชน์ของพวกเรานั้นได้รับการปกป้อง เราก็มีสิทธิและเสรีภาพในการประกาศว่าเราไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ในวิธีคิดแบบนี้การปกครองแบบประชาธิปไตยตัวแทนและเสียงข้างมากน่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม

พันธสัญญาในแบบที่สาม มองว่ามนุษย์ก่อนมีรัฐก็ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกันหรือเลวร้ายไปกว่าคนในสมัยนี้ และเชื่อว่ายังสามารถพัฒนาประชาธิปไตยแบบเสียงข้างมากมาเป็นเสียงของทุกคนโดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและมีส่วนร่วมทางตรงให้มากขึ้น และทำให้เกิดการปกครองโดย “เจตจำนงร่วม” ที่กว้างขวางครอบคลุมกว่าประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่เป็นอยู่ และบางครั้งก็อาจสงสัยว่าเสียงข้างมากนั้นมันคือความถูกต้องไหม เพราะเสียงข้างมากก็อาจเกิดจากการถูกชักจูงของคนบางกลุ่มได้ ประเด็นท้าทายคือเราจะหาเจตจำนงร่วมได้อย่างไร และเราจะมีท่าทีอย่างไรกับความแตกต่างที่จะมีต่อเจตจำนงร่วม

จากประเด็นพันธสัญญาทางการเมืองที่อธิบายข้างต้น โดยเฉพาะทั้งแบบที่สองและแบบที่สามนั้นทำให้เราพอเข้าใจความรู้สึกปั่นป่วนและไม่สบายใจของคนที่รู้สึกว่าเป็นเสียงข้างน้อยได้ เพราะเขาอาจรู้สึกว่า บางทีสิ่งที่เขาคิดก็ไม่น่าผิด หรือน่าจะดีกว่า แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมาก และอาจรู้สึกว่าเขามีคุณภาพมากกว่าเสียงข้างมาก หรือคนจำนวนมากในเสียงข้างมาก นอกจากนั้นแล้วเขาอาจจะรู้สึกว่าประชาธิปไตยที่เน้นเสียงข้างมากและเจตจำนงร่วมนั้นมันมีลักษณะที่เป็นเผด็จการอยู่มาก เพราะเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้นำเสนอความเข้าใจของความสลับซับซ้อนของ “ความแตกต่าง” และไม่พยายามนำเสนอการพยายามที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง ด้วยว่าสุดท้ายแล้วก็พยายามที่จะตอกย้ำว่าทุกคนจะต้องเคารพสิ่งที่เหนือกว่าตนนั่นก็คืออำนาจของรัฐบาลจากเสียงข้างมาก

หรือต้องเห็นดีเห็นงามกับเสียงข้างมาก หรือมติพรรคไปในทุกเรื่อง

เรื่องความห่วงใยของประชาธิปไตยนั้นอาจจะไปมุ่งเน้นที่เรื่องของการใช้อำนาจบังคับมากกว่า การพยายามพัฒนาคุณภาพของประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันด้วยเหตุผลและความเข้าใจมากกว่าการละคะแนนนั้น ที่ผ่านมามีข้อเสนออย่างน้อยสักสองประการที่เป็นทางออก

หนึ่งคือ การพยายามกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำที่ประชาธิปไตยจะละเมิดไม่ได้เอาไว้ ซึ่งในเรื่องนี้ต่างจากการกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตย เพราะเงื่อนไขขั้นต่ำของประชาธิปไตยอาจจะมีเรื่องของการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

แต่เงื่อนไขขั้นต่ำที่ประชาธิปไตยจะละเมิดไม่ได้ อาจจะมีเรื่องของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่สามารถจะละเมิดหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจ รูปธรรมอาจจะมีเช่นการกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากกว่ากฎเสียงข้างมากปกติ การมีองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนได้ในการกำกับดูแล ตีความ และตัดสินความชอบด้วยกฎหมาย การระบุเงื่อนไขบางอย่างที่เสียงข้างมากไม่สามารถแก้ไขเงื่อนไขเหล่านั้นได้ เช่นเปลี่ยนรูปแบบและระบอบการปกครอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตของความขัดแย้งมักเกิดขึ้นจากความตึงเครียดของการพยายามจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่เน้นการแสดงออกของอำนาจและความชอบธรรมในการเปลี่ยนหรือยับยั้งความเปลี่ยนแปลงมากกว่าเรื่องของการพยายามเปลี่ยนแปลงโดยการเรียนรู้และยอมรับของแต่ละฝ่าย

อีกความพยายามหนึ่งในการระงับความขัดแย้งกันนั้นอาจจะเกิดขึ้นในการพยายามแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่มักจะเริ่มอ้างกันว่า ตกลงใครคือตัวแทนของประชาชนกันแน่ จนทำให้การพยายามออกกฎกติกาในการเลือกตั้งดูยุ่งเหยิงและขัดกับเจตจำนงเสียงข้างมาก หรือในบางกรณีถามหาเสียงข้างมากไม่เจอ ในเงื่อนไขที่ว่าผู้ที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทางออกของเรื่องนี้ที่ทำกันในโลกนั้นไม่ได้มีแต่ทำให้เกิดระบบการคำนวณผู้ชนะด้วยคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนจนอาจลดทอนความศรัทธาที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

ความกังวลต่อการทำให้ความซับซ้อนในการนับคะแนนเลือกตั้งมาลดทอนคุณค่าและความศรัทธาของประชาธิปไตยจากเสียงข้างมากนั้น อาจจะหาทางออกอีกทางหนึ่งโดยทำให้มีการเลือกตั้งสองรอบ คือ เอาคนที่ได้คะแนนสูงสุดแต่ไม่เด็ดขาดในรอบแรกมาเลือกใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะประนีประนอมกันมากขึ้น เพราะต่างต้องพยายามแย่งชิงฝ่ายที่ไม่ได้เห็นด้วยในรอบแรกมาเข้าเป็นพวก

ทางออกประการที่สองต่อการเป็นเผด็จการของประชาธิปไตยนั้นมีความพยายามหาทางออกโดยมองว่า สิ่งที่จะต้องไปให้ถึงไม่ใช่การพยายามบอกว่า ประชาธิปไตยนั้นเลวน้อยที่สุด หรือเผด็จการทหารนั้นเลวน้อยกว่า แม้ว่าคนบางคนในนั้นที่ถูกกล่าวหาว่ามีเวลามากกว่าและแพงกว่าคนอื่นจะถูกตั้งข้อรังเกียจแต่ในภาพรวมก็จำต้องสนับสนุนกันต่อไป เพราะอีกฝ่ายน่ากลัวกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวคิดสองแบบนี้เหมือนกันจนน่าตกใจ เพราะบีบให้เราจำนนต่อเงื่อนไขของความเลวน้อยที่สุด แล้วมาเถียงว่าที่เลวนั้นใครเลวน้อยกว่ากัน

ทางออกใหม่คือปรับปรุงประชาธิปไตยให้มันดี สร้างระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ที่มุ่งเน้นมิติอื่นมากกว่าเสียงข้างมากของประชาธิปไตย อาทิ การพยายามปรับปรุงคุณภาพของการตัดสินใจร่วมของคนหลายๆ ฝ่าย

เงื่อนไขสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ใครตัดสินใจ แต่หมายถึงเราจะตัดสินใจร่วมกันอย่างไร ซึ่งหากมองในแง่ดี เมื่อคนเราได้พูดคุยกัน ถกเถียงกันภายใต้ความเคารพซึ่งกันและกัน เราก็จะเริ่ม “ไว้ใจ” ว่าคนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเขามีตัวตน มีเหตุผล มีคุณค่าและความหมายในชีวิตของเขามากกว่าจะเชื่อว่าเขาโง่หรือถูกชักจูง เพียงเพราะว่าทั้งเราและเขาต่างไปทำหน้าที่เพียงหย่อนบัตรหาตัวแทน โดยที่เราต่างไม่ได้คุยกันเอง ต่างฝ่ายต่างไปเลือกคนที่มาหาเสียงกับเรา

ในแง่นี้แทนที่เราจะมุ่งเน้นว่าระบอบการปกครองคือเรื่องของการตัดสินใจ และการต้องเคารพต่อการตัดสินใจ การเปลี่ยนแปลงผู้ตัดสินใจ หรือการบังคับให้ทั้งเราและผู้ตัดสินใจยอมรับเจตจำนงร่วมของการตัดสินใจที่อาจมีลักษณะนามธรรมมาก สิ่งที่นำมาแทนที่คือการพยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน โดยไม่กล่าวหาว่าฝ่ายนั้นบิดเบือนประเด็น แต่จะต้องพยายามมีผู้คอยอำนวยความสะดวกให้การพูดคุยเป็นไปได้ ไม่ใช่เน้นว่าจะต้องเป็นคนกลางประเภทที่ “มีอำนาจ” ในการตัดสิน

ในแง่นี้มีหลายคนฝากความหวังว่าโลกของอินเตอร์เน็ตอาจทำให้เกิดการปรึกษาหารือและการตัดสินใจนโยบายสาธารณะได้ดีขึ้น แต่สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดได้โดยอัตโนมัติ หรือเกิดได้สักวันหนึ่งโดยไม่ต้องทำอะไรมันก็เกิดขึ้นเอง โลกอินเตอร์เน็ตก็เผชิญกับการบิดเบือน การครอบงำ และความเกลียดชังมากมาย แต่หากเราเชื่อในเรื่องของการสื่อสารที่เน้นการอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจกันและหารือกัน ก็ย่อมจะต้องมีคนที่เริ่มพยายามหาทางประนีประนอม และเรียนรู้ความกังวลใจของแต่ละฝ่ายและร่วมกันนำเสนอทางออกดีๆ ให้กับทุกคน มากกว่าจะเน้นปะทะกันด้วยจำนวน ซึ่งก็จะเป็นกับดักของการใช้เสียงข้างมากและความเป็นเผด็จการของประชาธิปไตยและเสียงข้างมาก

และพ้นไปจากกับดักที่ว่าคนดีแม้เป็นเสียงข้างน้อยก็ถูกต้องอยู่วันยังค่ำ

ผมเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้คนที่เป็นผู้นำทางความคิดในโลกใหม่นี้จะไม่เห็นว่าฉันเป็นผู้นำทางความคิดเพียงแต่การนำเสนอว่าฉันคิดอะไร หรือวิจารณ์ว่าคนอื่นนั้นคิดไม่ถูกอย่างไร แต่อาจจะเป็นคนที่เสนอทางออกให้กับสังคมผ่านการพยายามทำให้ทุกฝ่ายคุยกันและหาทางออกร่วมกันให้ได้ผ่านการเคารพกันว่าทุกคนเป็นมนุษย์ที่คิดได้และคิดเป็นเช่นเดียวกัน และผ่านความ “เข้าใจ” ว่าทำไมอีกฝ่ายหนึ่งคิดต่างจากเรา

และเมื่อถึงวันนั้นความแตกต่างว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการนั้นคืออะไรก็จะไม่มีความหมาย เพราะเราค้นพบทางออกใหม่ในการปกครองร่วมกัน และสามารถใช้มันในการตัดสินใจและแก้ปัญหาร่วมกันได้ครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image