ปฐมบทขบวนการฝ่ายซ้ายในพม่า โดยลลิตา หาญวงษ์

วารสารของนากานีบุ๊กคลับ

ขบวนการฝ่ายซ้ายในพม่า หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่าขบวนการของผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมที่เริ่มต่อต้านระบอบอาณานิคมของสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 หรือในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พม่าก็ไม่ต่างจากประเทศอาณานิคมอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ขบวนการชาตินิยมยุคแรกๆ มีเป้าหมายที่การฟื้นฟูอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเอง ดังจะเห็นได้จากขบวนการ YMBA หรือสมาคมชาวพุทธหนุ่มที่ตั้งขึ้นในปี 1906 (พ.ศ.2449) ที่มีลักษณะแทบไม่ต่างจากขบวนการบูดิ อุโตโม (Budi Utomo) ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ต่อมา ขบวนการชาตินิยมขยายตัวและมีสมาชิกเข้าร่วมมากขึ้น ประกอบกับการศึกษาแบบตะวันตกที่กำลังเติบโตในหมู่คนพื้นเมือง ทำให้นักชาตินิยมยุคต่อมาได้รับอิทธิพลด้านศิลปวิทยาการจากโลกตะวันตก

เตง เพ มยิ้น
(ค.ศ.1914-1978 /พ.ศ.2457-2521)

ในกระแสธารการปฏิวัติในจีน (ค.ศ.1911/พ.ศ.2454) และการปฏิวัติในรัสเซีย (ค.ศ.1917/พ.ศ.2460) นักศึกษาและปัญญาชนในพม่าเริ่มให้ความสนใจและตั้งคำถามว่าเหตุใดการปฏิวัติทั้งในจีนและโซเวียตเพื่อล้มล้างระบอบเก่าที่ว่ากันว่ากดขี่ขูดรีดและสร้างความทุกข์ยากไปทั่วจึงประสบความสำเร็จ บทบาทนำทางการเมืองและขบวนการชาตินิยมในพม่าในทศวรรษ 1920 เรื่อยมาจึงเป็นของนักศึกษาและปัญญาชนที่ล้วนได้รับแนวคิดแบบมาร์กซ์ ที่นักชาตินิยมพม่ามองว่าเป็นทั้งแรงบันดาลใจเพื่อล้มล้างระบอบอาณานิคม และเป็นแนวคิดที่จะนำไปสร้างสังคมในฝันของพวกเขาให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด โรเบิร์ต เทเลอร์ มองว่ากระแสความนิยมลัทธิมาร์กซ์น่าจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1920 (พ.ศ.2463) โดยงานเขียนของเตง เพ มยิ้น (Thein Pe Myint) ที่กล่าวถึงการปฏิวัติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แต่แนวคิดแบบมาร์กซ์และคอมมิวนิสต์เริ่มมีอิทธิพลในหมู่นักชาตินิยมจริงๆ ก็ในปลายทศวรรษ 1930 เข้าไปแล้ว

แม้เป้าหมายของนักชาตินิยมพม่าที่หันไปนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์จะเป็นไปเพื่อล้มล้างระบอบอาณานิคม แต่อิทธิพลของแนวคิดนี้กลับมาจากหนังสือของนักเขียนคอมมิวนิสต์ในสหราชอาณาจักร เช่น จอห์น สเตรชี่ (John Strachey) และอาร์ พาล์ม ดัทท์ (R. Palme Dutt) มิใช่จากนักปฏิวัติรัสเซียอย่างในกรณีของประเทศอื่น ความสนใจศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์จะเกิดขึ้นอย่างจริงจังก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน ภายใต้การนำของนักชาตินิยมและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยย่างกุ้งคนสำคัญอย่าง เจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ (J.S. Furnivall) ที่ได้ตั้งบุ๊กคลับขึ้นมาเพื่อศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะ เรียกว่า “บุ๊กคลับนากานี” (Nagani Book Club) หรือบุ๊กคลับมังกรแดง

Advertisement

นอกจากเฟอร์นิวอลล์จะเป็นตัวตั้งตัวตีหลักในนากานี ยังมี “ตะขิ่น” หรือนักชาตินิยมหัวก้าวหน้าจากขบวนการโด้ะบะหม่า (Do Bama Asiayone) จำนวนหนึ่ง เช่น ตะขิ่น นุ (หรืออู นุ ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีพม่าคนแรกหลังพม่าได้รับเอกราช) ตะขิ่น เตง เพ (เตง เพ มยิ้น) ตะขิ่น โซ (หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่า) อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มนากานีมีอิทธิพลต่อการเมืองพม่าในยุคปลายอาณานิคมอย่างสูง บรรยากาศทางการเมืองในเวลานั้นอบอวลไปด้วยคำว่าการปฏิวัติ (revolution) โดยมวลชน ทั้งชาวนาและชนชั้นกรรมาชีพเพื่อขับไล่ระบอบอาณานิคมออกไป ปฏิบัติการของนักชาตินิยมในช่วงนี้ก็ให้ความสำคัญกับ “มวลชน” เป็นพิเศษ เช่น สนับสนุนให้มีการนัดหยุดงาน นัดหยุดเรียน และการเดินขบวนประท้วง ซึ่งทำให้การเมืองพม่าแทบจะเป็นอัมพาตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้น

ผู้นำชาตินิยมสายมาร์กซิสม์ที่เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งมวลชนตั้ง All Burma Students’ Union (ABSU) หรือสภานักศึกษาทั้งประเทศพม่าขึ้นเพื่อประท้วงกฎหมายมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ของรัฐบาลอาณานิคม ที่ว่ากันว่าจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้ามหาวิทยาลัยได้ยากขึ้น

กระแสนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ประสบความสำเร็จมากในการดึงดูดชนชั้นกรรมาชีพในพม่า จนเกิดเป็นกระแสการปฏิวัติ 1300 ระหว่างปี 1938-1939 (พ.ศ.2481-2482) ขบวนการโด้ะบะหม่า ที่เป็นขบวนการชาตินิยมกระแสหลักก็รับแนวทางปฏิวัติแบบคอมมิวนิสต์เข้ามา จนเกือบจะเป็นแนวทางต่อต้านระบอบอาณานิคมกระแสหลัก ผู้นำและนักเขียนคนสำคัญอย่างตะขิ่นโกด่อ มาย (Thakin Kodaw Hmaing)

Advertisement

ซึ่งมีอิทธิพลมากในกลุ่มนักชาตินิยมรุ่นต่อๆ มาเองก็เป็นนักเขียนที่สมาทานลัทธิมาร์กซ์ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่นักชาตินิยมทุกคนในโด้ะบะหม่าที่จะเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดมาร์กซิสม์-คอมมิวนิสต์ ขบวนการจึงแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย และจะแตกคอกัน จนทำให้สมาชิกโด้ะบะหม่าสายคอมมิวนิสต์ต้องไปตั้งขบวนการใหม่ของตนเอง รู้จักกันในนาม “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า” (Communist Party of Burma ก่อตั้งปี 1939/พ.ศ.2482) การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าชี้ให้เห็นว่าผู้นำพรรคเล็งเห็นว่าการปฏิวัติเพื่อล้มล้างระบอบอาณานิคมจะเห็นหนทางเดียวที่จะปลดแอกพม่าได้ แต่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งด้านอาวุธและอุดมการณ์จากภายนอก

พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก่อตั้งค่อนข้างช้า (แต่ก็ยังเร็วกว่าของไทย) เมื่อเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศใกล้เคียงอย่างอินเดีย (ก่อตั้ง ค.ศ.1925/2468) พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ค.ศ.1921/พ.ศ.2464) และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (ค.ศ.1930/พ.ศ.2473) หลักฐานแรกๆ ของการรับอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำฝ่ายซ้ายในพม่ากับภายนอกเกิดขึ้นระหว่างปี 1936-1938 (พ.ศ.2479-2481) เมื่อตะขิ่น เตง เพ ที่กำลังศึกษาอยู่ในอินเดีย และเป็นนักข่าวจากหนังสือพิมพ์เมียนมา อะลิน (New Light of Burma) เข้าไปทำข่าวการประชุมของพรรคคองเกรสในอินเดีย และมีโอกาสพบปะกับผู้นำคอมมิวนิสต์และผู้นำนักศึกษาจากหลายๆ ที่ในอินเดีย นวนิยายเรื่องสำคัญในชีวิตนักเขียนของเตง เพ ชื่อ “เต๊ต โพงจี” (Tet Pongyi) หรือ “พระสงฆ์ยุคใหม่” ก็คลอดออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน

การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าก็เกิดจากสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้นำฝ่ายซ้ายฝั่งพม่ากับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินเดีย โดยเฉพาะจากแคว้นเบงกอล ออง ซาน กลายเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนแรกของพม่า เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าได้รับอิทธิพลจากอินเดียอยู่มาก ขบวนการนี้จึงประสบความสำเร็จเป็นพิเศษในการจัดตั้งมวลชนที่เป็นกรรมกรจากอินเดีย ในช่วงเวลาเดียวกัน มีการก่อตั้งพรรคฝ่ายซ้ายขึ้นมาอีกพรรคหนึ่ง เรียกว่า “กลุ่มเสรีภาพ” (Freedom Bloc) ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพรรคคองเกรสในอินเดีย

รัฐบาลอาณานิคมพยายามปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายในพม่า ทั้งผู้นำกรรมกร และผู้นำระดับปฏิบัติการ แต่กลับทำให้แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์กระจายออกไปเร็วขึ้น นักศึกษาเริ่มศึกษาลัทธิเลนิน การปฏิวัติรัสเซีย และการตั้งคำถามต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจภายใต้ระบอบอาณานิคมเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การต่อต้านระบอบอาณานิคมโดยใช้แนวทางฝ่ายซ้ายนำทางจะดำเนินต่อมาอีกหลายปี แม้พม่าจะถูกยึดครองโดยฟาสซิสม์ญี่ปุ่น แต่ผู้นำฝ่ายซ้ายพม่าเล็งเห็นประโยชน์ในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อต่อสู้กับสหราชอาณาจักร แต่ต่อมาเมื่อเล็งเห็นว่าญี่ปุ่นจะไม่ให้เอกราชแก่พม่า นักชาตินิยม (ทั้งฝ่ายซ้ายและที่ไม่ใช่) จึงกลับไปเข้ากับสหราชอาณาจักร และร่วมกันต่อสู้จนญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในปี 1945 (พ.ศ.2488)

หลังพม่าได้รับเอกราช พรรคคอมมิวนิสต์มีแนวทางการพัฒนาประเทศแตกต่างจากนักชาตินิยมอื่นๆ เกิดการปะทะกันทางความคิดอย่างดุเดือดจนทำให้นักชาตินิยมพม่าแตกคอกับนักชาตินิยมที่เป็นคอมมิวนิสต์สายฮาร์ดคอร์ จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อขึ้นในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image