ซุปเปอร์แมน..จากแดนสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เป็นเรื่องจริงครับ ..ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมามี “ชาวสยาม” ไปเป็นนักกีฬาดาวเด่นในโรงเรียนมัธยม และยังข้ามไปเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล ระดับซุปเปอร์สตาร์ เป็นบรรณาธิการหนังสือประจำปี แถมยังเล่นดนตรีในวงมหาวิทยาลัยบอสตัน ในสหรัฐอเมริกา

ซุปเปอร์แมนจากแดนสยามท่านนี้ คือ ใคร?

เด็กชายประดิษฐ เกิดเมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2447 จ.สงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช เป็นบุตรคนที่ 7 ของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต้นตระกูลสุขุม ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาสุขุมนัยวินิจ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช และท่านผู้หญิงตลับ ซึ่งเกิดในตระกูล ณ ป้อมเพ็ชร

วันหนึ่งเมื่อ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ไปตรวจราชการที่จังหวัดสงขลา สมุหเทศาภิบาล (ปั้น สุขุม) จึงได้ขอประทานให้ท่านทรงตั้งชื่อเด็กชายผู้นี้ จึงได้ชื่อว่า “ประดิษฐ”

Advertisement

ในหลวง ร.5 ได้เสด็จประพาสมณฑลภาคใต้ 2 ครั้ง ทรงทราบว่าการปกครองมณฑลนั้นเป็นที่เรียบร้อย มีความเจริญก้าวหน้า มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่พอพระราชหฤทัย เมื่อตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการว่างลง จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิจ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ย้ายเข้ามากรุงเทพฯ และขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

ขณะนั้นท่านอายุได้ 44 ปี เด็กชายประดิษฐอายุ 2 ปี เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ไปเข้าพักอยู่ที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในตรอกวัดสามพระยา ต.บางขุนพรหม ต่อมาเมื่อได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยายมราช และต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล ซึ่งในขณะเป็นตำแหน่งในระดับสูงกว่ากระทรวงโยธาธิการ

Advertisement

ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยายมราชป่วยหนักอยู่ที่บ้านพัก ในหลวง ร.5 มีพระประสงค์จะไปเยี่ยม แต่ติดขัดด้วยเรื่องโชคลางและความเชื่อตามโบราณว่าจะเกิดการสูญเสียต่อผู้ป่วย ลูกหลานช่วยดูแลสุดกำลัง เกิดปาฏิหาริย์อาการเจ้าพระยายมราชดีขึ้น

ในหลวง ร.5 จึงได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเจ้าพระยายมราชถึงที่บ้าน เมื่อทอดพระเนตรเห็นบ้านที่เจ้าพระยาพักอาศัยอยู่ค่อนข้างเก่าและมีขนาดไม่เหมาะสมกับข้าราชการตำแหน่งเสนาบดี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักให้เสนาบดีที่มีความสัตย์ซื่อยิ่งนัก

ชื่อ บ้านศาลาแดง เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ให้แก่เจ้าพระยายมราช

ครอบครัวเจ้าพระยายมราชได้ย้ายเข้าไปอยู่บ้านศาลาแดงที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2453 ในยุคสมัยในหลวง ร.5 ศาลาแดงค่อนข้างเปลี่ยว อันตราย มีถนนที่สร้างขึ้นใหม่ไปถึงที่หน้าบ้าน ไม่มีบ้านคนในละแวกนั้นเลย ปัจจุบันคือ พื้นที่ย่านโรงแรมดุสิตธานี

ต่อมา ภายหลังในหลวง ร.6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลเข้าอยู่ในกระทรวงมหาดไทย และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ในช่วงแรก เด็กชายประดิษฐ อายุ 6 ขวบ เริ่มเรียนหนังสือ โดยจ้างครูมาสอนที่บ้าน เมื่ออายุได้ 7 ขวบ ไปเข้าโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ประดิษฐ จบ ป.1 ด้วยคะแนนเป็นที่ 1 จึงได้กระโดดข้ามชั้นไปเรียนชั้น ป.3 และได้รับรางวัลหลายรางวัล ได้เลื่อนชั้นไปอยู่มัธยมปีที่ 1 ประดิษฐใช้เวลาเรียนอยู่ในวชิราวุธ 6 ปี เมื่ออายุ 13 ปี ได้ขึ้นไปเรียนชั้น ม.4 จึงได้ลาออกเพื่อขอไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ประดิษฐเดินทางด้วยเรือชื่อ “กัวลา” พร้อมกับพี่ชายซึ่งต่อมาคือพระพิศาลสุขุมวิท ในครั้งนั้นมีผู้ร่วมเดินทางเที่ยวเดียวกันที่สำคัญคือ น.ส.สังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ประดิษฐได้เข้าศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนกันเนอรี่ (Gunnery School) ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงของรัฐคอนเนกติกัต (Connecticut) อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เด็กหนุ่มจากสยามก็ปรับตัวเข้าสู่ระบบการศึกษาและกระโจนเข้าสู่วงการกีฬาของโรงเรียนแบบมาดมั่น

พื้นฐานการเล่นกีฬาจากวชิราวุธ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งพรสวรรค์ด้านกีฬาขั้นเทพ ทำให้โรงเรียนทุกคนในโรงเรียนกันเนอรี่ ให้ความยอมรับ นับถือทางความสามารถในด้านการกีฬาอเมริกันเกมที่หมายถึงบาสเกตบอล เบสบอล และอเมริกันฟุตบอล

ประดิษฐเปล่งประกายความสามารถ เด็กหนุ่มจากสยามโดดเด่นด้วยความสามารถสิบทิศ ได้เป็นนักกีฬาตัวแทนโรงเรียนหลายประเภท ได้รับเลือกเป็นนายกสภานักเรียน และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าใหญ่ของโรงเรียน เป็นกัปตันทีมฟุตบอลโรงเรียนกันเนอรี่นำทีมชนะเลิศการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างโรงเรียน

สังคมอเมริกันในยุคนั้น การแบ่งแยก กีดกันเรื่องสีผิว เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส ถ้าไม่ใช่ฝรั่งผิวขาว จะถูกรังเกียจ จะไม่เปิดโอกาสให้แสดงฝีมือ หากแต่ประดิษฐเป็นของจริง เก่งจริง จึงได้รับการยอมรับให้มายืนแถวหน้า ถึงแม้จะถูกกีดกัน สังคมอเมริกันยกย่องคนเก่งเสมอ

ประดิษฐเด็กหนุ่มจากประเทศผิวสี แสดงความอัจฉริยะถึงขนาดได้เป็นกัปตันทีมบาสเกตบอลและเบสบอล รวมถึงอเมริกันฟุตบอล และมีตำแหน่งในกลุ่มกิจกรรมของโรงเรียนทุกแขนง ซึ่งเป็นการทำงานและเรียนหนังสืออย่างหนัก เป็นดาวเด่นของโรงเรียน นำทีมกีฬาชนะเลิศในทุกการแข่งขัน เป็นที่ประทับใจ สร้างความสำเร็จอย่างงดงาม ประดิษฐได้รับการยอมรับจากอาจารย์และเพื่อนนักเรียนอย่างท่วมท้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมากกับชาวต่างชาติ

เมื่อสำเร็จการศึกษามัธยมปลาย พร้อมกับเกียรติยศ ชื่อเสียงอย่างเกรียงไกร ประดิษฐจำต้องลาจากโรงเรียนกันเนอรี่ ก้าวไปข้างหน้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยตามที่รับทุนการศึกษา

ประดิษฐเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยบอสตัน และต้องศึกษาใน College of Business Administration ตามทุนที่ได้รับมาจากรัฐบาลสยาม เมื่อเรียนปี 1 มีการคัดเลือกทีมอเมริกันฟุตบอล กรรมการคัดตัว ไม่พลาดที่จะเลือกประดิษฐชาวต่างชาติคนเดียวเข้าเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลของทีมมหาวิทยาลัยบอสตัน

ประดิษฐ สุขุม (Pradit Sukhum) ยังได้รับเลือกจากนักศึกษา ให้เข้าเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนนักศึกษา (House of Representatives) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งเกียรติยศสูงในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมชมรมดนตรีเล่นแบนโจอยู่ใน “แบนโจคลับ”

เมื่อขึ้นปี 2 ในมหาวิทยาลัย พ.ศ.2446 ประดิษฐนักอเมริกันฟุตบอลของทีมมหาวิทยาลัยชื่อเสียงขจรขจาย เป็นที่รู้จักของนักศึกษา อาจารย์ ที่ให้ความสนใจในตัวนักอเมริกันฟุตบอลจากสยามตัวเล็กใจถึง เล่นคล่องแคล่วเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร หนุ่มนักกีฬาระดับเทพคนนี้ได้รับการต้อนรับด้วยรอยยิ้มเสมอ

ประดิษฐเป็นดาราดังในหนังสือพิมพ์ในอเมริกา คนอเมริกันคลั่งไคล้เอาเป็นเอาตายกับอเมริกันฟุตบอล ชื่นชมยกย่องคนเก่ง นสพ.ฉบับหนึ่งลงข้อความว่า “แม้ตัวเขาจะมีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นการเสียเปรียบเป็นอย่างมากในเมื่อเป็นฝ่ายรับ แต่เวลาเป็นฝ่ายรุกแล้วเขาเป็นผู้ที่วิ่งพาลูกบอลไปได้อย่างรวดเร็วมากและเขามีวิธีการในการวิ่งของเขา ซึ่งหลบเข้าหลบออกได้อย่างว่องไว ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งจับตัวเขาได้ยากมาก”

เมื่อเป็นนักกีฬาฮีโร่ของมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอันทรงเกียรติทั้งหลายในรั้วมหาวิทยาลัยก็พรั่งพรูมาเทียบเชิญ นักศึกษาชาวสยามชื่อ ประดิษฐ สุขุม ได้รับเกียรติสูงสุดในมหาวิทยาลัยโดยได้รับเลือกเป็นบรรณาธิการ (Editor in Chief) เพื่อรับผิดชอบจัดทำหนังสือประจำปี (Year Book) ของมหาวิทยาลัยบอสตัน เป็นหนังสือหนาประมาณ 500 หน้า มีรูปภาพและเรื่องราวของนักศึกษา สมาคม ชมรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย คือ รวบรวมเรื่องราวทั้งปีของมหาวิทยาลัย

กันยายน พ.ศ.2467 ขึ้นปีที่ 3 ในมหาวิทยาลัย ประดิษฐได้รับเลือกเป็นประธานของ Cosmopolitan Club ของมหาวิทยาลัย เล่นดนตรี กีฬา เรียนหนังสือ ครบเครื่องเฟื่องฟู

เดือนตุลาคม ประดิษฐได้รับโทรเลขจากราชทูตที่กรุงวอชิงตันว่า ทูลกระหม่อมเอียดน้อยประชาธิปก (สมเด็จพระปกเกล้าฯ) พร้อมด้วยพระชายา (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี) จะเสด็จมาเมืองบอสตัน ขอให้ประ
ดิษฐถวายงาน และเป็นผู้จัดการรับเสด็จ

เมื่อท่านเสด็จมาถึงบอสตันโดยรถไฟ ประดิษฐรับเสด็จแล้วได้นำพระองค์ไปพักที่ Hotel Copley Plaza นำนักเรียนไทยทั้งหลายไปเฝ้าฯ และมีโอกาสได้ถวายงานตลอด 7 วัน รวมทั้งการนำเสด็จพระองค์ท่านไปพบแพทย์เฉพาะทางในบอสตัน

ประดิษฐอยู่ในอเมริกาเพื่อนๆ อเมริกัน เรียกชื่อว่า Sukhie หรือสุขี ใช้ชีวิตในอเมริกา 8 ปีเศษสำเร็จการศึกษาต้องกลับสยามตามระเบียบ

19 กันยายน 2468 ประดิษฐออกจากนิวยอร์ก ไปลงเรือชื่อ S.S. America เป็นเรือขนาดใหญ่ แวะท่องเที่ยวหาประสบการณ์หลายประเทศในยุโรปก่อนกลับถึงแผ่นดินสยาม

เมื่อกลับถึงสยาม วันที่ 15 ธันวาคม 2468 อายุ 21 ปี บิดาคือ เจ้าพระยายมราชได้พาบัณฑิตหนุ่มยอดนักกีฬาจากอเมริกาไปเฝ้ากรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรายงานตัว และได้รับคำสั่งให้บรรจุในตำแหน่งเลขานุการสภาการฝิ่น และให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ด้วย รับเงินเดือน 200 บาท

ประดิษฐได้ไปกราบพระศพของในหลวง ร.6 ที่สวรรคตในระหว่างที่ประดิษฐเดินทางรอนแรมกลับสยาม และต่อมาได้ไปกราบถวายบังคมในหลวง ร.7 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน

เหตุการณ์บ้านเมืองสยาม มีข่าวลือต่างๆ ในด้านลบตลอดเวลาเจ้าพระยายมราชซึ่งเป็นบิดา จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีในปลาย พ.ศ.2468 หลังจากถวายงานในแผ่นดินในหลวง ร.5 และแผ่นดิน ร.6 นาน 20 ปี

ในเรื่องของสภาการฝิ่น ในหลวง ร.7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาขึ้นเพราะรัฐบาลของสยามได้ไปตกลงที่สันนิบาตชาติว่าจะลดจำนวนผู้สูบฝิ่นในสยาม ให้หมดสิ้นไปภายใน 10 ปี สภาจึงต้องศึกษาว่าจะลดลงได้โดยวิธีใดบ้าง เช่น จดทะเบียนคนติดฝิ่นแล้วอนุญาตให้สูบแต่คนที่ติดแล้ว คนไม่เคยสูบไม่อนุญาตให้สูบ ร้านจำหน่ายฝิ่นและร้านสูบฝิ่นควรเป็นของรัฐบาล การทำงานต้องประสานงานกับต่างประเทศเป็นหลัก ประดิษฐบัณฑิตนักเรียนนอกทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับคณะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ โรงงานต้มฝิ่น อยู่แถวสามเสน

ชีวิตเมื่อกลับมาในสยาม งานอดิเรกที่ชอบและมีความสุขที่สุด คือ การไปเล่นดนตรีสากล เป่าแซกโซโฟน เล่นแบนโจ สอนเต้นรำ ในวงดนตรีหลายงานในกรุงเทพฯ แต่ที่โด่งดังที่สุดในเวลานั้น คือ โฮเทล พญาไท ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พ.ศ.2470 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการกรรมการร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ในหลวง ร.7 มีพระราชประสงค์จะให้มี พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม โดยให้สอบคัดเลือกเด็กหนุ่มสยามที่มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ เช่น Civil Service Law ในต่างประเทศ โดยมีเสด็จในกรมพระจันทบุรีฯ เป็นประธาน และมีเสนาบดีกระทรวงต่างๆ หลายกระทรวงเป็นกรรมการ

พฤศจิกายน พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงสุขุมนัยประดิษฐ

วันที่ 1 มีนาคม 2471 ได้เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งเลขานุการ ก.พ.ร. และสภาการฝิ่น ได้รับพระราชทานเงินเดือนขึ้นเป็นเดือนละ 320 บาท

หน้าที่ ความรับผิดชอบของเลข ก.พ.ร. คือจัดการสอบแข่งขัน ผู้ที่จะเข้ารับราชการในตำแหน่งที่เทียบชั้น “ราชบุรุษ” (อัตรา 50 บาท) จะต้องผ่านการสอบไล่แข่งขัน สอบท่วงทีวาจา เป็นการสอบปากเปล่าและดูบุคลิกลักษณะ ทั้งนี้ ได้เอาแบบอย่างมาจากการสอบในประเทศอเมริกา เปิดสอบในกรุงเทพฯ วันละ 25 คน เสร็จแล้ว คณะเดินทางไปเปิดสอบต่างจังหวัด คณะเดินทางไปภาคใต้จนถึงปัตตานี และต่อมาเดินทางไปภาคเหนือเพื่อสอบคัดเลือกคนเข้ามารับราชการ

ผู้เขียนค้นคว้ามาถึงตรงนี้ ต้องขอชื่นชม “ระบบการสอบคัดเลือก” เข้าทำราชการในอดีตที่เข้มงวด มีหลักเกณฑ์ ให้โอกาสแก่คนในต่างจังหวัดที่เหมือนไปคัดช้างเผือกจากในป่า ประการสำคัญ คือ ความยุติธรรม
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ คือ บุคคลที่วางรากฐานการสอบเป็น “ราชบุรุษ” ซึ่งท่านนำรูปแบบ วิธีการมาจากสหรัฐอเมริกา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงสุขุมนัยประดิษฐเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานเสรีไทย ต้องกลับไปทำงานอยู่ในอเมริกา โดยดูแล ประสานงาน ทำความเข้าใจกับรัฐบาลอเมริกัน ทำหน้าที่โฆษณาและการกระจายเสียงทางวิทยุมายังประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2488 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ไม่นานนัก เช้าวันหนึ่งขณะที่หลวงสุขุมฯปฏิบัติงานประจำวัน ณ ที่ทำงาน ท่านได้รับโทรศัพท์จาก นรม. ให้ไปพบเพื่อรับทราบการแต่งตั้งหลวงสุขุมนัยประดิษฐ เลขาธิการ ก.พ. ให้ไปรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการอีกตำแหน่งหนึ่งตามประสบการณ์ที่ช่ำชอง

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เลขาธิการ ก.พ. ได้เดินทางไปดูงานและติดต่อกับบุคคลสำคัญๆ ในสหรัฐอเมริกาเพื่อยกระดับการศึกษา 6 ครั้ง ที่สำคัญที่สุดคือ การได้พบกับสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐ ชื่อ ฟุลไบรท์ (J.W. Fulbright) พรรคเดโมแครต จากรัฐอาร์แคนซอ ซึ่งรู้จักชอบพอกันเป็นส่วนตัว ชื่อเสียงการเป็นนักกีฬาระดับดาราของมหาวิทยาลัยบอสตัน ทำให้ภารกิจการประสานงานทั้งปวงเพื่อขอรับทุนการศึกษาให้เยาวชนจากสยามไปศึกษาต่อในอเมริการาบรื่นไปหมด

ต่อมาท่านได้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฟุลไบรท์ในประเทศไทย และเป็นที่มาของ “ทุนการศึกษาฟุลไบรท์” ที่มีคนไทยจำนวนมากได้รับทุนไปศึกษาต่อในอเมริกา

มาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2561) โครงการฟุลไบร์ท มีโครงการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย คือ โครงการ English Teaching Assistantship (ETA) เป็นโครงการที่นำบัณฑิตอเมริกัน ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 20 คน มาสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนระดับมัธยมในต่างจังหวัดของไทยเป็นเวลา 1 ปี ส่วนในปี 2560 มีเยาวชนไทยได้รับทุนไปศึกษาในอเมริกาทั้งหมด 25 คน

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และรองประธานจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 เป็นผู้ผลักดันให้มีการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP GAMES : South East Asian Peninsula Games) เป็นครั้งแรก เมื่อ 12-17 ธันวาคม 2502 ณ กรุงเทพฯ จนกระทั่งพัฒนาเป็น “กีฬาซีเกมส์” ในปัจจุบัน

หลวงสุขุมนัยประดิษฐได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และต่อมาเป็นผู้ผลักดันให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9-16 ธันวาคม พ.ศ.2509

ท่านเป็นผู้ก่อตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อ.ส.ก.ท.) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2507 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก ซึ่งปัจจุบันคือการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เป็นประธานชมรมดนตรีแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสมาคม เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ นอกจากนี้ยังมีผลงานประพันธ์ทำนองเพลงร่วมกับครูแก้ว อัจฉริยะกุล ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง นำมาบรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ จำนวน 7 เพลง ได้แก่

คะนึงครวญ สิ้นรักสิ้นสุข ไม่อยากจากเธอ เกาะสวาท เมื่อไหร่จะให้พบ รักไม่ลืม ชายไร้เชิง

ในระยะหลังๆ เมื่อจวนจะครบเกษียณอายุราชการ หลวงสุขุมนัยประดิษฐต้องรับภาระหน้าที่หนัก สุขภาพของหลวงสุขุมนัยประดิษฐทรุดโทรมลง ประกอบกับมีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว จึงทำให้หลวงสุขุมนัยประดิษฐป่วยและสุขภาพทรุดลงเป็นลำดับ

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2510 สิริอายุได้ 63 ปี

ผู้เขียนเรียบเรียงและเขียนผลงานของมหาบุรุษท่านนี้ด้วยความประทับใจ พร้อมกับตกใจในพลังแห่งการสร้างสรรค์ของท่าน ความตั้งใจดีเพื่อส่วนรวม ความอัจฉริยะในวิชาการ ดนตรี และกีฬา ที่สร้างคุณูปการแก่บ้านเมืองเหลือคณานับ

พร้อมทั้งขอยกย่อง ภาคภูมิใจกับบุคคลในวงศ์ตระกูลของท่านตลอดไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image