เขต พระ ราชเทวี โดย:ปริญญา ตรีน้อยใส รัชดา โชติพานิช

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
วงเวียนราชเทวี เมื่อ พ.ศ. 2505
ที่มา ห้องปฏิบัติการแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ราชเทวี เป็นหนึ่งในห้าสิบเขตปัจจุบันของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอำเภอดุสิต ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งพญาไท ตำบลถนนพญาไท ตำบลถนนเพชรบุรี และตำบลมักกะสัน ในปี 2509 ได้ย้ายมาขึ้นกับอำเภอพญาไท ครั้นเมื่อมีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี จัดตั้งเป็นกรุงเทพมหานครขึ้น ในปี 2515 ราชเทวีจึงเปลี่ยนสถานะเป็นแขวงหนึ่งของเขตพญาไท ต่อมาพื้นที่มีความเจริญและมีผู้คนอาศัยหนาแน่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกครอง การบริหารราชการ และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศจัดตั้งเป็นเขตราชเทวี ขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 ต่อมา พ.ศ.2536 มีการแยกพื้นที่บางส่วน ไปขึ้นกับเขตดินแดง
ปัจจุบันเขตราชเทวี มีพื้นที่ทั้งหมด 7,725 ตารางกิโลเมตร ขอบเขตทางด้านทิศเหนือจดคลองสามเสนในทิศตะวันออกจดถนนอโศก-ดินแดง ทิศใต้จดคลองแสนแสบ และทิศตะวันตกจดทางรถไฟสายแปดริ้ว

ในประวัติความเป็นมาชื่อเขตราชเทวีนั้น มาจากชื่อสะพานแห่งหนึ่ง ที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบันคือ สะพานพระราชเทวี นามพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับสะพานบนถนนพญาไท ช่วงข้ามคลองประแจจีน (คลองประแจจีนถูกถมไป เมื่อมีการขยายถนนเพชรบุรี) ที่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระบรมราชเทวี จัดสร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่ออุทิศเป็นสาธารณกุศล ในวาระที่มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ในปี 2454

ป้ายสะพานพระราชเทวี
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด

พระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรี ทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าคุณจอมมารดาสำลี ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2404 พระองค์เป็นพระมเหสีองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีชั้นลูกหลวง ตำแหน่งพระราชเทวี และมีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

หลังจากมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เจ้าฟ้าชั้นเอกพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2420 พระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรี ได้รับการเฉลิมพระนาม สถาปนาพระอิสริยยศ เป็นพระนางเธอ พระองค์เจ้า สุขุมาลมารศรี ต่อมาเมื่อมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระนางเธอฯ ได้รับการเลื่อนพระยศเป็น พระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และมีพระบรมราชโองการ ให้แปลพระนามาภิไธยเป็นภาษาอังกฤษว่า Her Royal Highness the Princess Consort หรือบางครั้งทรงใช้ Her Royal Highness Phra Nang Chao Phra Raj Dhevi และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาล

Advertisement
สะพานราชเทวี ถนนเพชรบุรีตัดกับพญาไท
ถ่ายตอนการปรับปรุงขยายถนนเป็นวงเวียน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สมเด็จฯสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2470 ณ พระตำหนักวังบางขุนพรหม

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงว่าราชการแผนกนมัสการ และเป็นราชเลขานุการิณีส่วนพระองค์ ทำให้มีโอกาสถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว ทรงงานในยามค่ำคืน พระนางเจ้าฯก็จะประทับหมอบอยู่ ณ ที่แห่งนั้นจากดึกจนรุ่งเช้า

ย้อนไปในปี 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาให้กรมสุขาภิบาลตัดถนนสายหนึ่ง

Advertisement

…อยากจะขอเติมขึ้นใหม่อีกสายหนึ่ง คือระยะตั้งแต่ถนนกรุงเกษมออกไปจนถึง ถนนนิวแมน (ถนนอังรี ดูนังต์) ตามถนนประทุมวัน (ถนนพระรามที่ ๑) ไม่มีถนนขวางเลยเกือบ ๑๐๐ เส้นถ้าผู้ซึ่งอยู่ถนนประทุมวันจะไปสเตชั่นรถไฟปากน้ำ ก็ต้องอ้อมไปทางถนนนิวแมนหรือมาทางไกลมาก ควรจะถนนขวางอีกสายหนึ่ง จากถนนวัวลำพอง (ถนนพระรามที่ ๔) ผ่านข้างวังกลางทุ่งแล้วผ่านถนนประทุมวันไปตกคลองบางกะปิ(คลองแสนแสบ) แล้วข้ามคลองบางกะปิไปบรรจบถนนประแจจีน (ถนนเพชรบุรี)…ถนนสายนี้ตั้งใจจะให้ชื่อว่าถนนวชิรุณหิศ เพราะผ่านไปในที่ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นบ้านของเขา…

ต่อมาในเอกสารกระทรวงโยธาธิการปี 2452 มีรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ต่อถนนของพระคลังข้างที่ จากถนนสี่พระยามาถึงถนนประแจจีน ที่ต่อมาพระราชทานนามว่าถนนพญาไท และให้ตัดถนนพญาไทตอนเหนือ ไปต่อกับถนนเป้า (ถนนพหลโยธิน) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในการนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานข้ามคลองประแจจีน ซึ่งเดิมทีนั้น กำหนดไว้แล้วว่าจะสร้างสะพานอุรุพงษ์ ที่ทรงตั้งพระทัยอุทิศส่วนพระราชกุศล แด่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช

เมื่อพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี จะทรงบำเพ็ญพระกุศลเฉลิมพระชนมายุครบ 50 พรรษา และมีพระประสงค์จะสร้างสะพาน ให้เป็นสาธารณประโยชน์ แทนการพิธีต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดี และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสะพานอุรุพงษ์ไปสร้างที่ถนนพระรามที่ 6 ข้ามคลองบางกะปิแทน

อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างสะพานพระราชเทวี มาแล้วเสร็จหลังจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี จึงอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล เพิ่มจากพระประสงค์เดิม ดังความที่ปรากฏในจารึกบนสะพานว่า

พระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงสร้างอุทิศถวาย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุครบ 50 พรรษา
วันที่ 10 พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก 130

สะพานพระราชเทวี เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีราวลูกกรงปูนปั้นลายช่อมาลาประดับ

ตรงกลางสะพานทั้งสองฝั่ง มีป้ายโลหะจารึกชื่อและคำอุทิศบนแผ่นหินอ่อน สำหรับพิธีการเปิดสะพานพระราชเทวี จัดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ.130 (พ.ศ.2454)

เมื่อมีการถมคลองประแจจีน เพื่อขยายผิวจราจรประมาณปี 2503-2504 นั้น จึงมีการรื้อถอนสะพานพระราชเทวี และนำป้ายชื่อสะพานและคำอุทิศไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด ถนนศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน

ในการขยายผิวจราจรในครั้งนั้น ทางเทศบาลนครกรุงเทพได้จัดสร้างวงเวียนขนาดใหญ่ขึ้นตรงจุดตัดระหว่างถนนพญาไทและถนนเพชรบุรี ตรงกลางของวงเวียน มีน้ำพุขนาดใหญ่ ออกแบบโดย นายพิจิตร
พูนพนิช สถาปนิกเอก ของเทศบาลนครกรุงเทพ ส่วนระบบน้ำพุดำเนินการติดตั้งโดย นายวิเชียร วิศวพรบุตร บริษัทวิเชียรการช่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพ นายชำนาญ ยุวบูรณ์ ยังได้สั่งการให้ปลูกไม้ดอกรอบน้ำพุและวงเวียน เป็นกุหลาบพันธุ์ต่างประเทศดอกสีแดงสด ทำให้ทัศนียภาพวงเวียนราชเทวีงดงามอย่างยิ่ง เสริมสร้างภาพลักษณ์กรุงเทพในเวลานั้น ให้ดูทันสมัยเหมือนเมืองต่างๆ ในประเทศตะวันตก

วงเวียนขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยสนามหญ้ากว้าง และแนวต้นกุหลาบสีแดงจำนวนมาก เมื่อรวมกับน้ำพุที่ไหลพุ่งวนเวียนตลอดเวลา และการตกแต่งไฟสลับสีสวยงามส่องน้ำพุในยามค่ำคืน นอกจากจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำแล้ว

วงเวียนราชเทวี ยังเป็นสถานที่ที่คนรู้จักและมาเที่ยวชม สร้างความคึกคัก ชีวิตชีวา และนำความเจริญมาสู่พื้นที่โดยรอบ

ก่อนหน้าที่จะมีวงเวียน ราชเทวีเดิมเป็นย่านพักอาศัยที่หรูหราของกรุงเทพ บรรดาขุนนางและคหบดีแข่งขันกัน สร้างบ้านหลังใหญ่และเรือนบริวาร มีถนนทางเข้าและสนามหญ้ากว้าง ท่ามกลางพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ ได้แก่ บ้านราชเทวี ของพระยาเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล) ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวงเวียน บ้านของมหา
อำมาตย์โทพระยามหินทรเดชานุวัฒน์ (ใหญ่ ศยามานนท์) (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนเพชรบุรี) บ้านของพระยาพรหมทัตศรีพิลาศ (ปัจจุบันคือ ศุภาลัย พรีเมียร์ ราชเทวี) และบ้านอื่นๆ อีกหลายหลัง

เมื่อมีวงเวียนที่สวยงาม ราชเทวี ได้แปรเปลี่ยนเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์พักอาศัยทั้งสองฝั่งถนน รวมไปถึงพื้นที่ด้านในและตรอกซอยใกล้เคียง เป็นที่ตั้งของสถานบริการเกี่ยวกับความงามสตรี เช่น โรงเรียนและสถานเสริมสวยดาวรุ่ง สถานเสริมสวยเกศสยาม เป็นต้น ร้านแว่นตาและร้านขายฟูกที่นอน มีโรงแรมขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงแรมเอเชีย และโรงแรมเฟิร์สต์โฮเตล

และที่สำคัญเป็นศูนย์รวมโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงภาพยนตร์เอเธนส์ (ปัจจุบันคือ ปทุมวันรีสอร์ท) โรงภาพยนตร์แมคเคนน่า (วีคอนโดมีเนียม) โรงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด (ศูนย์การค้าฮอลลีวู้ดสตรีท และคอนโดมิเนียมบ้านกลางกรุง) โรงภาพยนต์เพรสิเดนต์ (กลุ่มร้านอาหารและแหล่งบันเทิง) โรงภาพยนตร์เมโทร (อาคารพาณิชย์และโรงแรมเมโทรรีสอร์ท) โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ (ห้างกรุงทองพลาซ่า) รวมทั้งโรงภาพยนตร์พอลล่า และดาดา (อาคารพาณิชย์ซอยเพชรบุรี 13) โรงภาพยนตร์สตาร์ (อาคารใบหยก 1) โรงภาพยนตร์ สเตล่า (อาคารใบหยก 2) โรงภาพยนตร์อินทรา (ศูนย์การค้าอินทราสแควร์) และโรงภาพยนตร์เพชรรามา ที่อยู่ไกลออกไปทางด้านประตูน้ำ ส่วนโรงภาพยนตร์โคลีเซียม (ปัจจุบัน ถูกเวนคืนเป็นทางขึ้นทางด่วนยมราช) อยู่ไกลออกไปทางด้านอุรุพงษ์

เมื่อการจราจรบนถนนพญาไท และถนนเพชรบุรีคับคั่งมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ทั้งถนนพหลโยธิน ลาดพร้าว และบางเขน และทางทิศตะวันออก ทั้งพัฒนาการและบางกะปิ ทำให้มีผู้สัญจรผ่านบริเวณนี้มากขึ้น ระบบวงเวียนจึงไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ กรุงเทพมหานครจึงก่อสร้างสะพานลอยข้ามทางแยกบนถนนเพชรบุรี ให้ต่อเนื่องกับสะพานลอยข้ามทางแยกบนถนนราชปรารภ ตรงประตูน้ำ ซึ่งเป็นสะพานลอยข้ามทางแยกแห่งแรกของประเทศไทย

อันเป็นเหตุให้ต้องรื้อถอนวงเวียนน้ำพุ และสวนกุหลาบ

ขณะเดียวกันแม้ว่า ความคึกคักในด้านธุรกิจการค้า ได้เคลื่อนไปทางทิศใต้ ตรงสี่แยกปทุมวัน และทางทิศเหนือ ตรงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ย่านราชเทวีก็ไม่ได้เงียบเหงาลง หากเวียนกลับมาเป็นย่านพักอาศัยอีกครั้ง ครั้งใหม่นี้ได้เพิ่มความหนาแน่นมากขึ้น กลายเป็นอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่และสูงมากมาย เช่น ราชเทวีทาวเวอร์ ไอดีโอคิวราชเทวี ไพน์บายแสนสิริ ศุภาลัยพรีเมียร์ราชเทวี ปทุมวันรีสอร์ท คอนโดเลคไอซ์ราชเทวี ดิแอดเดรสสยาม เป็นต้น

ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นน้ำพุขึ้นใหม่ แต่เป็นเพียงน้ำพุขนาดเล็ก อยู่ตรงมุมทั้งสี่ของทางแยกใต้สะพาน สภาพภูมิทัศน์ของวงเวียนที่ใหญ่โตและสวยงามได้มลายหายไป เหลือเพียงภาพในความทรงจำของบางคนเท่านั้น เช่นเดียวกับที่มาของชื่อเขตราชเทวี คือ สะพานพระราชเทวี เหลือเพียงป้ายชื่อ และพระประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่รับรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image