อ่าน ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ เขียนถึง จ.สงขลา ในฐานะ ‘ธานีศรีประเทศ’

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาว่า อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปเยือน อบจ. สงขลาและแวะไปชมเมืองเก่าสงขลาอันงามล้ำ ถือโอกาสฟัง อ.สืบสกุล ศรีสุขแห่ง “ภาคีรักเมืองสงขลา” เล่าเรื่องประวัติเมืองสงขลาอย่างสนุกสนานและตื่นเต้น ผมมาสงขลาแล้วนับสิบครั้ง แต่ ยอมรับครับ ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้สึกว่าสงขลาเป็น”ธานีศรีประเทศ”มากอย่างนี้

ธานีศรีประเทศอย่างไร คำตอบคือ ก็สงขลามีคนดีคนเก่งระดับประเทศมาตลอดไงครับ ทุกวันนี้ย่อมเป็นที่ทราบกัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นชาวสงขลา ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี มิใช่จากการยึดอำนาจ หากจากการเสนอชื่อด้วยกระบวนการทางรัฐสภา นานกว่าแปดปี และ ท่านยังเป็นประธานองคมนตรีถึงสองรัชกาล ความจริงยังยกขึ้นมาได้อีกหลายท่าน ชาวสงขลาที่โดดเด่นระดับชาติ แต่ในที่นี้ขอยกมาเพียงอีกท่านเดียว แต่สำคัญโดดเด่นยิ่ง คือจุฬาราชมนตรี ท่านปัจจุบัน คือ ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล นับเป็นมุสลิมจากต่างจังหวัดท่านแรกที่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญยิ่งของชาวมุสลิมในประเทศไทย น่าปลื้มไหมครับ สำหรับพี่น้องชาวสงขลา ไม่ว่าท่านจะนับถือศาสนาอะไร

ยิ่งกว่านั้น สงขลาสร้างคนดีให้สยามมาช้านานแล้ว ที่จริง ชาวสงขลาคนแรกที่ได้เป็นประธานองคมนตรี ไม่ใช่พล อ เปรม หากคือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ท่านเป็นประธานองคมนตรีอยู่สองครั้งสั้นๆ ในต้นรัชกาลที่ 9 ชาวสงขลาผู้นี้ ยังถูกจดจำว่าเป็นเจ้าพระยาคนสุดท้ายของสยามด้วยครับ และ ต่อมาท่านยังเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกๆของประเทศเราด้วย น้องชายของท่านคนหนึ่ง นายปลอด วิเชียร ณ สงขลา ต่อมาเป็นพระยามานวราชเสวี ได้ขึ้นเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดังเช่นที่ พล อ เปรม ติณสูลานนท์ เกือบเจ็ดสิบปีต่อมา ได้เป็น ฟังถึงตรงนี้ ถามว่า ที่ผมเรียกเมืองสงขลาว่าเป็น”ธานีศรีประเทศ” นั้น ถูกไหมครับ

หากท่านยังไม่แน่ใจ ก็ “หลวงปู่ทวด” ท่านก็เป็นชาวสงขลาเช่นกัน เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาสมัยพระเอกาทศรถ สี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว ท่านเป็นพระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพสักการะมาจนทุกวันนี้ สถานะท่านใกล้เคียง ไม่ต่างมากนักกับท่านพุทธทาส จากไชยา สุราษฎร์ พระดีระดับชาติและนานาชาติในยุคสมัยของเรา

Advertisement

เหนือสิ่งอื่นใด ครับ ที่สุดของที่สุด พูดเช่นนั้นได้ ที่สุดแห่งความปลาบปลื้ม ที่สุดแห่งความปิติของคนสงขลา คือ รัชกาลที่ 3 แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงมี “สายเลือดสงขลา” ในพระวรกายด้วย พระมารดาของพระองค์ท่าน เจ้าจอมมารดาเรียม นั้น เป็นลูกหลานรุ่นหลังๆ ของสุลต่านที่ปกครองเมืองสงขลาในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ความภักดีและปลาบปลื้มมิได้หยุดเพียงแค่นั้น ด้วยเหตุที่ว่าสายพระโลหิตของรัชกาลที่สามยังส่งต่อมายังรัชกาลที่ห้า เพราะ”หลานปู่”พระองค์หนึ่งของรัชกาลที่สามคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีนั้น ทรงเป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 5 กล่าวอย่างปลาบปลื้มที่สุด คือ “พระปิยมหาราช” ก็ทรงมีสายเลือดสงขลา และ เช่นนั้น พระมหากษัตริย์ต่อๆมาทุกพระองค์ รวมทั้งรัชกาลปัจจุบัน ก็ทรงมี“สายเลือดสงขลา”ในพระโลหิต

การกล่าวเช่นนี้มิใช่จะอาจเอื้อม ใช่ว่าจะยกยอชาวสงขลาให้เทียบเทียมกับราชวงศ์จักรี หามิได้ ชาวสงขลานั้น บูชาราชจักรีวงศ์อยู่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมเสมอ แต่พวกเขาย่อมอดภูมิใจ อดรัก อดบูชาสงขลา อันเมืองเกิดของเขาไม่ได้ สงขลาที่เป็นประดุจ “ธานีศรีประเทศ” ในทุกความหมาย และรู้ถึงคุณค่าและคุณภาพในสายเลือดสงขลาด้วย

กล่าวมาถึงขั้นนี้แล้ว คงต้องเล่าต่อว่า เมื่อครั้งสถานการณ์ทางการเมืองร้อนระอุที่สุด ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อมีกบถ”บวรเดช” เพื่อทวงคืนพระราชอำนาจและพระราชเกียรติยศพระมหากษัตริย์คืนมานั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ย่อมทรงลำบากพระวรทัยเป็นที่สุด ต้องเสด็จด้วยเรือเล็กรอนแรมจากหัวหิน เสด็จมาประทับที่เมืองสงขลา รอเหตุการณ์คลี่คลายอยู่ถึง 48 วัน ประทับอยู่ที่พระตำหนักเขาน้อย ตามที่อาจารย์สืบสกุล ศรีสุข เล่าให้ฟังนะครับ สงขลาในขณะนั้น ในความเห็นผม ได้กลายเป็น”ที่มั่นที่ปลอดภัย” ของ พระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ก่อนที่ความขัดแย้งของพระองค์กับคณะราษฎรจะสูงขึ้นอีก สูงขึ้นเรื่อยๆ จนทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในเวลาอีกหนึ่งปีต่อมา คงไม่กล่าวเกินเลยครับ เมืองสงขลานั้นมีเกียรติที่ได้รับใช้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ 7 แม้ในยามที่ทรงยากลำบากและทรงว้าเหว่พระราชหฤทัยที่สุด อย่างนี้เป็นธานีศรีประเทศอย่างสมภาคภูมิไหมครับ ผมเองนั้น เป็นชาวเหนือ ไม่ใช่คนใต้ ไม่ใช่ชาวสงขลา ก็ยังอดปลื้ม อดภูมิใจกับเมืองสงขลา กับชาวสงขลา ไม่ได้

เมืองไทยเรานั้นยังขาดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ให้ความสำคัญ ให้ความภูมิใจกับภาค กับท้องที่ กับพื้นที่ หรือกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด หรือเป็นเมือง ระดับใด ดูธรรมดาไปหมดเรามีเพียงประวัติศาสตร์ชาติที่ทำให้คนไทยภักดีต่อชาติ มีประวัติศาสตร์ประเทศ ซึ่งมักเอาผู้นำสูงสุดในเมืองหลวงเป็นตัวเดินเรื่อง แต่ในยุคนี้ที่เราจะเอาพื้นที่ ท้องที่ ท้องถิ่นเป็นหลักในการพัฒนายิ่งขึ้น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเมือง เป็นเรื่องที่จะต้องค้นคว้าเพิ่ม ด้วยมุมมองพิเศษที่เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญ ของอำเภอของจังหวัดและภาค ซึ่งประวัติศาสตร์สงขลาที่ผมไปรับฟังจากภาคีรักเมืองสงขลา ก็คือตัวอย่างของประวัติศาสตร์ทำนองนั้น ครับ

เราภูมิใจและภักดีต่อชาติต่อไป ไม่ผิด แต่ไม่พอ จะต้องรัก บูชา และภูมิใจในภาค ในจังหวัด ในเมืองของเราด้วย ควบคู่กันไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image