จับตา เกาะติด เส้นทาง อนาคตใหม่ ยุค เปลี่ยนผ่าน

หากมองจากพื้นฐานของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก่อรูปขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 หากมองจากพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยที่เป็นอวตารแห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย อันก่อรูปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2542

พรรคอนาคตใหม่ “ละอ่อน” อย่างยิ่ง

ยิ่งหากมองจากพรรคประชาธิปัตย์มี นายควง อภัยวงศ์ นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ นายใหญ่ ศวิตชาติ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถือ “ธงนำ”

ขณะที่พรรคไทยรักไทยมี นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายเสนาะ เทียนทอง รวมพลังกัน

Advertisement

นายทักษิณ ชินวัตร อาจยังหน้าใหม่แต่ก็ผ่านประสบการณ์การเป็น ส.ส.มาแล้วกับพรรคพลังธรรมและทะยานไปอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคก่อนจะอำลา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เป็น ส.ส.พระนคร มาอย่างเข้มข้น

ตรงกันข้าม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่เคยเดินผ่านสนามการเมือง ยิ่ง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ยิ่งอยู่แต่ในรั้วของมหาวิทยาลัย

อนาคต “ใหม่” จึงอาจไม่ “สดใส อรุณรุ่ง ผ่องอำไพ”

บทเรียนทางการเมืองในกาลอดีตพิสูจน์มาแล้วว่า พรรคการเมืองที่มีแต่ “คนรุ่นใหม่” ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะประสบความสำเร็จ

เห็นได้จากพรรคพลังใหม่ เห็นได้จากพรรคสังคมประชาธิปไตย

แม้กระทั่งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ก็มิได้มีแต่ นายอุดร ทองน้อย หรือ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ตรงกันข้าม ยังมี นายไขแสง สุกใส ยังมี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม

แล้วพรรคอนาคตใหม่มีใคร

นายธนาธรอาจได้นามสกุลเดียวกันมาจากอา คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

แต่หากนำเอาคำประกาศในเชิงอุดมการณ์ไปเปรียบเทียบ

ก็เรียกได้ว่า เป็นคนละเรื่อง

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ หากเห็นว่าคนเหล่านี้ล้วนเป็นคนหน้าใหม่ และ “ละอ่อน” อย่างยิ่งบนถนนการเมือง แล้วเหตุใดจึงมีการต้อนรับน้องใหม่รุนแรงและร้ายกาจ

ไม่ว่าจะจาก “คสช.” ไม่ว่าจะจาก “ติ่ง” คสช.

ต้องยอมรับว่า “พื้นที่” ในทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่แตกต่างไปจากพื้นที่เดิมไม่ว่าจะของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะของพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ อยู่ในพื้นที่ทาง “ความคิด”

ไม่ว่าจะเป็น กฤตนัน ดิษฐบรรจง ไม่ว่าจะเป็น กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ไม่ว่าจะเป็น อนุกูล ทรายเพชร ไม่ว่าจะเป็น อลิสา บินดุส๊ะ

ล้วน “แปลกหน้า” อย่างยิ่งหากมองจากสายตา “สื่อ”

การเติบโตและแจ้งเกิดของพวกเขาล้วนมาจาก “โซเชียล มีเดีย” เช่นเดียวกับความรับรู้ต่อพรรคอนาคตใหม่ก็อยู่ในบริเวณของ “สื่อใหม่”

เป็นความคิด “ใหม่” ที่มากับ “สื่อใหม่”

การทำความเข้าใจต่อ “พรรคอนาคตใหม่” จึงต้องอยู่ภายใน “กระบวนทัศน์ใหม่” ทั้งในทางการเมืองและในทางความคิด

พรรคอนาคตใหม่สามารถแจ้งจดชื่อผ่าน กกต.ได้อย่างแน่นอน แม้จะมีเสียงต่อต้านและคัดค้านดังตั้งแต่เริ่มเสนอตัวเข้ามา

แต่จะ “แจ้งเกิด” โดย “ประชาชน” หรือไม่ ยังน่าคิด

น่าคิดว่าประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือไม่ น่าคิดว่ากระบวนทัศน์ใหม่นี้จะได้รับการขานรับจากสังคมในยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือไม่

เวลาจะให้ “คำตอบ” ในอีกไม่นาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image