คลังอัดเงินเพิ่มอีก 5 พันล.แก้หนี้นอกระบบ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ที่ธนาคารออมสินได้รับอนุมัติครม. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อโครงการดังกล่าวใกล้เต็มวงเงินแล้ว โดยวงเงินดังกล่าวเป็นการนำไปปล่อยกู้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั่วไปที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เป็นต้น กำหนดวงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย มีระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นางสาวกุลยา กล่าวว่า นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีสินเชื่อและเงื่อนไขลักษณะเดียวกัน ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 ของ ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 ดังนั้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินสามารถขอสินเชื่อได้ทั้งที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินได้

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ในส่วนสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 450 ราย ใน 66 จังหวัด ในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้ว 181 ราย ใน 51 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 144 ราย ใน 48 จังหวัด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้น ๆ วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate)

นายพรชัย กล่าวต่อว่า จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 10,249 บัญชี รวมเป็นเงิน 273.51 ล้านบาท มีสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 67 บัญชี คิดเป็นเงิน 2.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.53 ของสินเชื่อคงค้างรวม ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. อนุมัติสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้เป็นทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบแทนหนี้นอกระบบ จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 228,180 ราย เป็นเงิน 10,127.15 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 214,007 ราย เป็นเงิน 9,509.55 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 14,173 ราย เป็นเงิน 617.60 ล้านบาท

Advertisement

นายพรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ถึง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการจับกุมผู้กระทำผิดรวมทั้งสิ้น 2,139 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image