คุกลับอเมริกาในอุดร ถิ่นเดิมหัวหน้าใหม่ซีไอเอ : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

การไล่ นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยและจังหวัดอุดรธานีกลับมาถูกกล่าวถึงในหน้าข่าวระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากว่าที่ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (CIA) คนใหม่ จีน่า แฮสเปล มีประวัติว่าเคยเป็นหัวหน้าคุกลับหรือ Black site ของอเมริกาในไทยมาก่อน

จังหวัดอุดรธานีมีความเกี่ยวพันกับฐานทัพอเมริกามาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 1960-1970 โดยพื้นที่กองบิน 23 เป็นฐานบินของเครื่องบินขับไล่ F-4 Phantom และ F-5 Freedom fighter ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในการบินขึ้นไปคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดที่จะหย่อนระเบิดลงในเวียดนามเหนือและลาว ในแวดวงทัพฟ้ายุคนั้นมีชื่อเล่นให้กองบิน 23 ว่าเป็น Home of the Mig Killer จากวีรกรรมขับไล่ทำลายเครื่องบิน Mig ของค่ายคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ อุดรธานียังเป็นที่ตั้งของฐานเรดาร์เพื่อสอดแนมและควบคุมการจราจรทางอากาศของอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ “ค่ายรามสูร” อันเป็นค่ายทหารบกตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง ห่างจากตัวเมืองออกไปทางขอนแก่นราว 20 กิโลเมตร

เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับคุกลับอเมริกา “ค่ายรามสูร” จึงเป็นที่จับตามองทุกครั้ง นับแต่การเริ่มต้นของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 911 ในสมัยของ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างปี 2546-2549 ซึ่งเป็นช่วงที่ จีน่า แฮสเปล ว่าที่ผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่เคยประจำอยู่ที่อุดรธานี และมีประวัติการสอบสวนว่าได้ใช้การกรอกน้ำ และการขู่ว่าจะข่มขืนเพื่อรีดข้อมูล โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสภาคองเกรส และสหภาพยุโรป ได้เข้ามาสืบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวหลายครั้ง แต่ทั้งทางซีไอเอและทางรัฐบาลไทยต่างปฏิเสธเสียงแข็ง

อย่างไรก็ตาม ทั้งทางกองทัพบกและจังหวัดอุดรธานี มีความพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของค่ายรามสูร และเปิดเผยความจริงว่าไม่ได้มีคุกลับอยู่ จึงมีการสำรวจรื้อค้นและปรับภูมิทัศน์เพื่อเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว

Advertisement

หากคุยกับเด็กอุดรฯรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 20 ปี 99% แทบจะไม่มีใครรับรู้ว่าอุดรฯเคยเป็นฐานทัพอเมริกามาก่อน

เรื่องฐานทัพอเมริกาในอุดรฯนี่ จะว่าไปก็เป็นประวัติศาสตร์หวานอมขมกลืน เพราะเมืองอุดรเจริญรุ่งเรืองเติบโตมีผังเมืองมีสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงเศรษฐีเก่าหลายตระกูลก็รวยได้เพราะค้ากับทหารอเมริกา แต่ว่าพอตกมายุคใหม่ ค้าขายกับลาว การจะระลึกเรื่องนี้ก็เป็นบาดแผลที่ทำให้คนลาวไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก รวมถึงไทยเองก็ยังไม่เคยยอมรับการมีส่วนร่วม “สงครามลับในลาว” อย่างเป็นทางการ แม้ว่าอเมริกาจะเปิดเผยเอกสารและยอมรับชดใช้ค่าเสียหายให้กับลาวไปมากแล้วก็ตาม พ่อแม่ไม่เล่าให้ลูกฟัง ครูอาจารย์ไม่สอนไม่เล่าเกร็ดให้นักเรียน ทำให้ความทรงจำเมืองอุดรในฐานะฐานทัพอเมริกาเริ่มเลือนลางไป ร้านค้ายุคสงครามก็ถูกทุบทิ้งเปลี่ยนรุ่นเป็นร้านสมัยใหม่ เหลือแต่เพียงซากอาคารตามฐานทัพต่างๆ ที่ปิดไม่ให้คนเข้าเท่านั้น

การเปิด “ค่ายรามสูร” อันเคยเป็นฐานเรดาร์และฐานบัญชาการหนึ่งของอเมริกาในสมัยสงครามเวียดนาม-ลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องระมัดระวังและจัดการความละเอียดอ่อนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปพร้อมกับความมั่นคง เพื่อให้ความรู้กับประชาชนรุ่นใหม่ว่าเหตุการณ์บาดหมางดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีกกับเพื่อนบ้านที่ใกล้กันเพียงข้ามแม่น้ำโขงไปนี้

Advertisement

ส่วน “คุกลับ” ของอเมริกาในอุดรธานีนั้น แม้ทุกฝ่ายจะปฏิเสธว่าไม่รับทราบ ไม่มี ไม่รู้ แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างหนาหูปิดกันให้แซ่ดในเมืองอุดรตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ก็ระบุตรงกันว่า มิได้อยู่ในค่ายรามสูรหรอกแต่ไปอยู่ในบริเวณอำเภอบ้านดุงนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image