บันทึกถึงสยาม เรื่องของ ‘คอนสแตนติน ฟอลคอน’ ชายทรงเสน่ห์ ในอ้อมแขนฝรั่งเศส ‘กัปตันโชเว่’ เขียน ‘อัยการ’ แปล

วันที่ 24 มีนาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊ก ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล เรื่อง “เหตุบ้านการเมืองของสยามในละครบุพเพสันนิวาสจากมุมมองของคนฝรั่งเศส (ตอนที่ 1)” ใจความว่า

เมื่อครั้งที่ผมได้รับทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) ตามความต้องการของกรมบังคับคดี ไปศึกษากฎหมายต่อที่ประเทศฝรั่งเศสได้มีโอกาสถ่ายสำเนาหนังสือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามในระหว่างปี ค.ศ. 1680 ถึง 1907 (พ.ศ. 2223 ถึง 2450) ซึ่งเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ของกับตันโซเว่ โดยหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและสยามโดยอ้างอิงจากเอกสารภาษาฝรั่งเศสที่เขียนขึ้นทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และภายหลังจากนั้น

ผมเห็นว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจที่ได้มีการถ่ายทอดเหตุการณ์บ้านเมืองในสยามในสายตาของคนฝรั่งเศสว่ามีมุมมองและความคิดเห็นต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอย่างไร และโดยเฉพาะเป็นการถ่ายทอดจากต้นฉบับที่บันทึกเป็นภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีการแปลมาเป็นภาษาอื่นอีกที อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ จึงไม่ได้เขียนเรื่องนี้อย่างนักประวัติศาสตร์ แต่เขียนในฐานะผู้เล่าเรื่องราวของเนื้อหาที่ได้มาจากการสรุปและเรียบเรียงจากต้นฉบับที่มีผู้เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้สนใจต่อความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมืองของสยามในขณะนั้น จึงเป็นการเล่าเรื่องราวแบบไม่ได้ตั้งใจให้หนักสมอง แต่อาจจะพอได้อรรถรสทางประวัติศาสตร์และความรู้ติดไปบ้างเล็ก ๆน้อย ๆ”อัยการเกริ่นนำ

ตอนที่ 1

Advertisement

ชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาในสยามคือชาวโปรตุเกสโดยเข้ามาในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ปี ค.ศ. 1511 หรือ พ.ศ. 2054) และเริ่มเข้ามาปักหลักปักฐานอยู่อาศัยในอยุธยาในปี ค.ศ. 1646 (พ.ศ. 2189) สำหรับคณะมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาในสยามในปี ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205) และได้เริ่มตั้งสำนักการค้าของฝรั่งเศสในอยุธยาในปี ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) อยุธยาในขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของสยามที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในแดนตะวันออกไกลในเรื่องของความมั่งคั่ง และสถานที่ ปราสาทราชวัง ที่สวยงาม และกิจการค้าขายที่มีความตื่นตัว ทำให้ดึงดูดประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ให้เข้ามาสานสัมพันธ์อันดีกับสยามในช่วงเวลานั้น

คณะมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่เก่งกล้า เฉลียวฉลาด ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดพระองค์หนึ่งในสยาม การที่สมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีความรังเกียจผู้นับถือศาสนาอื่น ทำให้เป็นที่ดึงดูดพ่อค้าชาวยุโรปให้เข้ามาทำการค้าขายในสยามและสร้างความมั่งคั่งจากการค้า และเป็นเพราะอิทธิพลและชื่อเสียงเกียรติคุณของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย ทำให้คณะมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีจำนวนที่น้อย แต่ก็ได้รับการคาดหวังที่สูงกว่าชาวต่างชาติอื่น ๆ สิทธิในการเลือกนับถือศาสนาและความเชื่อที่เป็นอิสระของสยามนั้น มองเซ็นเยอร์ เดอลาม็อต-ล็องแบรต์ สังฆราชแห่งเบริธ ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลกนี้ที่จะพบเจอศาสนาต่างๆ มากไปกว่านี้ และได้รับอนุญาตให้เลือกนับถือศาสนามากกว่าสยามอีกแล้ว”

ขณะที่บาทหลวงฝรั่งเศสคณะเยซูอิตซึ่งเดินทางมาสยามพร้อมกับเมอซีเออร์เดอโชมงต์ มุ่งหาหนทางทำให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก พระเจ้าชาห์แห่งเปอร์เซียก็ได้ส่งราชทูตมาสยามเพื่อมุ่งหวังให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถทำให้สมเด็จพระนารายณ์เปลี่ยนมานับถือศาสนาอื่นได้

Advertisement

ในเรื่องของการค้าขายทางทะเลในแดนตะวันออกไกลจากอินเดียไปถึงจีนในขณะนั้น ล้วนอยู่ในการผูกขาดของชาวฮอลันดา ซึ่งมีความได้เปรียบในการเริ่มต้นเดินเรือก่อนประเทศอื่น และชาวฮอลันดายังได้เข้ามาสร้างหลักปักฐานอย่างใหญ่โตและเจริญรุ่งเรืองในสยาม ซึ่งชาวสยามเองก็มีความเกรงกลัวในเรื่องการขยายอาณานิคม และความละโมบโลภมากของชาวฮอลันดา สมเด็จพระนารายณ์ทรงหวั่นเกรงในเรื่องนี้เช่นกัน พระองค์จึงต้องแสวงหาหนทางที่จะได้รับความช่วยเหลือจากชาติยุโรปอื่นที่มีอำนาจ และทรงมองเห็นว่าชาวฝรั่งเศสเท่านั้นที่จะช่วยปกป้องสยามจากแผนการของชาวฮอลันดาได้ ประเทศฝรั่งเศสจึงได้รับความเอื้อเฟื้อเป็นอย่างดีจากกษัตริย์สยามและชาวสยามในขณะนั้น

สำหรับเรื่องราวของคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constance Phalkon) นั้น เดลองส์ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทฝรั่งเศสในอินเดียเล่าว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดที่จะสนทนากับคอนสแตนติน ฟอลคอนเป็นอย่างมาก โดยพระองค์มักจะสนทนากับเขาราวสองหรือสามชั่วโมงอยู่บ่อยครั้ง

บาทหลวงเดอชัวซีซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทูตคณะแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ได้พูดถึงคอนแสตนติน ฟอลคอน ว่า “ยิ่งได้สนทนากับ เมอซีเออร์กงสต๊องซ์แล้วยิ่งพบว่า เขาเป็นคนที่มีเสน่ห์ เก่ง ฉลาดเฉลียว มีความสุขุมรอบคอบ เขาสามารถฟังคนพูดร้อยคน ตอบคำถามร้อยคำถาม ได้ภายในครึ่งชั่วโมง เป็นคนที่มีความชัดเจนเด็ดขาด ตัดบทไม่พูดมากกับพวกที่ชอบพูดจาน้ำท่วมทุ่ง เป็นคนที่มีความสามารถรอบรู้ตั้งแต่เรื่องการเมืองไปจนถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็รู้ไปหมด อีกทั้งยังเป็นนักเจรจาต่อรองและเป็นสถาปนิกที่เก่งอีกด้วย”
ถึงแม้ว่าความสนใจของสมเด็จพระนารายณ์ที่มีต่อฝรั่งเศสจะเป็นสิ่งผลักดันให้คอนสแตนติน ฟอลคอน มีความใกล้ชิดกับฝรั่งเศสเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสยามและฝรั่งเศส แต่ในขณะที่คอนสแตนติน ฟอลคอนทำงานเพื่อประโยชน์ของสยาม ขณะเดียวกันเขาก็ทำเพื่อประโยชน์ เพื่อความมั่งคั่ง และเพื่ออนาคตที่มั่นคงของตัวเองด้วย การพึ่งพาอำนาจและอิทธิพลจากต่างประเทศเพื่อปกป้องคุ้มครองให้ตนเองอยู่ในสยามได้อย่างมั่นคงปลอดภัยเป็นสิ่งที่เขามองหา และเขามองว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่เหมาะสมที่จะแสดงบทบาทนี้ ผลประโยชน์ในสยามจึงผลักดันให้คอนสแตนติน ฟอลคอนเข้าสู่อ้อมแขนของฝรั่งเศสอย่างคนที่ผ่านการไตร่ตรองรอบคอบแล้ว

ท่านผู้สนใจสามารถติดตามอ่าน เหตุบ้านการเมืองของสยามในละครบุพเพสันนิวาสจากมุมมองของคนฝรั่งเศส ตอนที่ 2 ได้ในครั้งต่อไป” ดร.ธนกฤต จบไว้เพียงเท่านี้ให้รออ่านตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image