นักวิชาการเสนอจัดเลือกตั้งบนบล็อกเชน ชูข้อดีแยะ

นายอาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การเลือกตั้งทั่วไปของไทยครั้งล่าสุดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,800 ล้านบาท และคาดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจใช้จ่ายสูงถึง 5,800 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถประกันได้ว่าจะไม่มีการสวมสิทธิหรือการทุจริต จึงเป็นที่มาของการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้ง โดยแนวคิดระบบเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แบบรวมศูนย์ และแบบกระจายศูนย์

นายอาณัติ กล่าวว่า ตอนนี้รัฐน่าจะลองคิดว่าจะทำการเลือกตั้งแบบร่วมศูนย์เหมือนเดิมหรือทำแบบกระจาย โดยจะทำอย่างไรให้ระบบมันเกิดได้จริง บล็อกเชนสามารถนำไปประยุกต์ในหลายด้าน ส่วนใหญ่เป็นการทดแทนคนกลาง เช่น การโอนเงินระหว่างกัน การสร้างบัญชีทรัพย์สิน เช่น ทะเบียนที่ดิน การเก็บข้อมูลคนไข้ ตลอดจนการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งบนบล็อกเชนท์สามารถแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งแบบดั้งเดิม และระบบการเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมศูนย์

โดยมีข้อดีในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 15 บาท สะดวกและปลอดภัย โดยผู้เลือกตั้งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตลงคะแนนได้ มีความโปร่งใส โดยผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการใช้สิทธิของตนเองบนฐานข้อมูลบล็อกเชนได้ โดยยังคงความเป็นส่วนตัวเนื่องจากการระบุตัวตนจะผ่านหมายเลขของผู้เลือกตั้ง ซึ่งเป็นความลับ และความปลอดภัย ระบบฐานข้อมูลแบบบล็อกเชนท์สาธารณะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเกือบ 1 ล้านเครื่อง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะ hack ระบบ หรือแม้แต่คนที่เป็นผู้ดูแลระบบก็ไม่สามารถทุจริตได้ เพราะสามารถตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูลและโปรแกรมการลงคะแนนที่เรียกว่า Smart Contract ซึ่งทั้งสองอย่างถูกเก็บอยู่บน

นายอาณัติ กล่าวว่า ฐานข้อมูลบล็อกเชน ไม่ใช่เครื่องแม่ข่ายของหน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งแต่อย่างใด ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 และกฎหมายในปัจจุบันหลายฉบับเอื้อให้มีการเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีการพูดถึงระบบการเลือกตั้งที่โปร่งใส มั่นคง และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ทำให้ยังเป็นปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ เช่น การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมจากผู้ประกันตน 14 ล้านคน ประเมินว่ามีค่าใช้จ่าย 3,000 ล้านบาท และยังเป็นปัญหาที่ทำให้ยังไม่สามารถเลือกตั้งตามกฎหมายได้ หรือการเลือกตั้งตัวแทนผู้สมัครฯ ของพรรคการเมือง ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคแต่ละพื้นที่ต้องมีการเลือกตั้งที่เรียกว่า Primary Vote ดังนั้น การใช้ระบบเลือกตั้งแบบกระจายบนบล็อกเชน จึงสามารถเป็นตัวเลือกหนึ่งในการตอบโจทย์เหล่านี้ อีกประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง คือการสร้างความสะดวกให้แก่ประชาชน จะทำให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการเมืองระยะยาวของประเทศที่จะพัฒนาไปสู่การเมือง 4.0 ยุคประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image