พลทหารน้องใหม่ ที่ผู้บังคับบัญชาทหารทุกระดับชั้น ต้องใส่ใจดูแลเหมือนลูกหลานตนเอง : โดย พลโททวี แจ่มจำรัส

ในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี เป็นระยะเวลาสำคัญที่ชายไทยอายุ 21 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเป็นทหารกองประจำการในสำนักงานปลัดกระทรวง กองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ผู้เขียนในฐานะเป็นทหารเก่า ได้เคยผ่านหลักสูตรการฝึกทหารใหม่ของนักเรียนทหารทุกระดับ เคยเป็นผู้ฝึกทหารใหม่ เคยเป็นประธานการคัดเลือกทหาร และเคยปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นทั้งนายทหาร
สัญญาบัตร นายทหารประทวน นักเรียนทหาร ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และพลทหารกองประจำการด้วย ก็อยากจะทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ปกครองและสังคมว่า ถ้าได้เข้ามาเป็นพลทหารน้องใหม่แล้ว
จะได้อะไรๆ มากกว่าที่คิด ไม่ต้องกลัวระบบการฝึกและการปกครอง

อย่าพยายามวิ่งเต้นกับเจ้าหน้าที่สัสดี เพื่อไม่ต้องเป็นทหาร กองทัพลงโทษรุนแรงกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้นทุกนาย พร้อมขอบอกกับนายทหารรุ่นหลังๆ ที่ทำการปกครองบังคับบัญชาให้เห็นความสำคัญของน้องๆ พลทหารทุกคนที่เข้ามารับราชการในกองทัพว่า ต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นบุคคลสำคัญเหมือนกับลูกหลานตนเอง ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการดังนี้

1.น้องๆ พลทหารเป็นกำลังพลที่มีมากที่สุดในทุกเหล่าทัพ ในแต่ละปีงบประมาณมียอดพลทหารใหม่ที่ต้องการประมาณแสนนาย สังกัดกองทัพบกประมาณเจ็ดหมื่น สังกัดกองทัพเรือประมาณเกือบสองหมื่น สังกัดกองทัพอากาศประมาณเกือบหมื่นนาย และสังกัดกองทัพไทยและสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมรวมกันประมาณหมื่นนาย จากยอดชายไทยที่อายุครบเกณฑ์ทั้งหมดที่ต้องเรียกเข้ารับการคัดเลือกประมาณสามแสนห้าหมื่นคนต่อปี มีชายไทยสมัครใจเข้าเป็นทหารโดยไม่ขอจับสลากใบดำและแดงจำนวนมากพอสมควร บางหน่วยสมัครเต็มจำนวน แสดงว่ากองทัพเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนที่ต้องการเข้ามารับใช้ชาติบ้านเมืองโดยกองทัพดูแลให้มีรายได้เพียงพอแก่การดำรงชีพเช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับพร้อมประสบการณ์ชีวิตที่ไม่อาจซื้อหาได้ด้วยเงินทอง

Advertisement

มีคำกล่าวโบราณว่าถ้าเกิดเป็นชายไทยพุทธในชาตินี้ต้องทำ 2 อย่าง จึงจะเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวคือ 1) เป็นทหารรับใช้ชาติ และ 2) บวชใน
บวรพระพุทธศาสนาเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดาที่เลี้ยงดูมา

ในส่วนของกองทัพบกที่มียอดกำลังพลมากที่สุดกว่าเหล่าทัพอื่น กำลังพลที่มีมากที่สุดคือ พลทหารกองประจำการที่รับราชการอยู่ 2 ปี มียอดรวมกันประมาณ 120,000 นาย มากกว่านายทหารประทวน และนายทหารสัญญาบัตรรวมกัน และรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเป็นเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงพลทหารกองประจำการปีละมากกว่า 6,000 ล้านบาท ถ้าไม่มีพลทหารให้ปกครองบังคับบัญชา ก็จะไม่มีนายทหารที่เป็นผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกัน

2.น้องๆ พลทหารเป็นกำลังพลที่ทำงานหนักในทุกภารกิจที่ได้รับมอบ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติราชการสนามชายแดน การรักษาความมั่นคงภายใน การป้องกันประเทศ การช่วยเหลือประชาชน พัฒนาประเทศและการพัฒนาหน่วยงานที่สังกัด ฯลฯ ถือเป็นมดงานตัวจริง บางครั้งเสี่ยงตาย เสี่ยงทุพพลภาพ และลำบากตรากตรำทำงาน พร้อมกำลังพลประเภทอื่นๆ ด้วย ถ้าขาดกำลังพลทหารทั้งเก่าและใหม่นี้ งานต่างๆ ตามภารกิจจะไม่สำเร็จได้โดยสมบูรณ์เป็นแน่แท้

3.น้องๆ พลทหารเป็นกำลังพลที่เข้ามารับราชการทหารด้วยกฎหมายบังคับ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มีทั้งที่สมัครใจขอ
เข้าเป็นในวันตรวจเลือกและจับสลากได้ใบแดง (ในผลัด 1 ต้องเข้ากองประจำการใน พ.ค.และในผลัด 2 ต้องเข้ากองปะจำการใน พ.ย.ของปีนั้น) ไม่ได้สมัครใจเข้ามาทั้งหมดเหมือนนักเรียนทหารที่ต้องสอบแข่งขันเพื่อเข้ามารับราชการเป็นทหาร ทั้งสัญญาบัตรและประทวน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติต่อน้องๆ พลทหารดังกล่าวตลอดระยะเวลา 20 ปี หรือน้อยกว่า (ตามสิทธิลดระยะเวลาของกฎหมาย) จะปฏิบัติและดูแลด้วยความเข้มงวด ตึงเป๊ะ ไม่มีผ่อนสั้นผ่อนยาวเหมือนกับนักเรียนทหารอย่างนั้นหรือ น้องๆ พลทหารทุกคนมีพ่อแม่ญาติพี่น้องอยู่ข้างหลังอีก เฉลี่ยประมาณ 1:5 ถ้าได้รับการปฏิบัติและดูแลที่ดี ชื่อเสียงขององค์กรไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหมหรือเหล่าทัพก็จะดี เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นไปอีก และเมื่อปลดเป็นทหารกองหนุนแล้ว ก็ยังช่วยเหลือกองทัพและเป็นผู้นำชุมชนของประเทศชาติได้ตลอดไป

น้องๆ พลทหารที่เข้ามารับราชการแล้วจะต้องได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างดี จะขอยกตัวอย่างของกองทัพที่มีกำลังพลมากที่สุด โดยจะแบ่งเป็น 2 จำพวก คือ 1) พลทหารใหม่ และ 2) พลทหารเก่า สำหรับพลทหารใหม่ของกองทัพบกทุกคนเมื่อรายงานตัวเข้ากองประจำการในหน่วยทหารทั่วประเทศแล้วก็จะดำเนินการฝึกทหารใหม่ โดยต้องยึดถือตามระเบียบและหลักสูตรการฝึกทหารใหม่เบื้องต้นทั่วไปที่กรมยุทธศึกษาทหารบกกำหนดไว้ สำหรับทหารทุกเหล่าของกองทัพบก (10 สัปดาห์) พ.ศ.2551 ใช้รูปแบบการฝึกด้วยวิธีการฝึกที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติเป็นวิธีหลัก สำหรับการฝึกในรูปแบบอื่นๆ ให้ดำเนินการเป็นการฝึกเสริม ให้มีการอบรมส่งเสริมความรักชาติ ความสามัคคี การปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้รับผิดชอบการฝึกจะต้องสอดแทรกการอบรมตลอดห้วงการฝึก ให้ดูแลเรื่องสวัสดิการ ความเป็นอยู่ รวมทั้งขวัญกำลังใจ

การพิจารณาลงทัณฑ์ จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ซึ่งได้กำหนดการลงทัณฑ์ไว้ 5 สถาน คือ ภาคภัณฑ์ ทัณฑ์กรรม กัก ขัง และจำขังเท่านั้น ห้ามใช้วิธีการลงทัณฑ์ที่นอกเหนือจากนี้ โดยเฉพาะการ
ทำร้ายร่างกาย ให้มีมาตรการและการป้องกันในการรักษาความปลอดภัยระหว่างการฝึกทุกสถานี เพื่อป้องกันการสูญเสียจากการฝึก และให้ระมัดระวังเรื่องโรคลมร้อน

ในการฝึกสัปดาห์ 1-3 ให้ปฏิบัติตามคู่มือการป้องกันโรคลมร้อน (Heat stroke) ที่กรมแพทย์ทหารบกออกไว้ให้

การใช้ชีวิตทหารใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรอยต่อระหว่างชีวิตพลเรือนกับชีวิตทหาร ซึ่งทหารใหม่ทุกคนจะได้รับการฝึกและสอนอบรมตามระเบียบที่กองทัพบกกำหนด เพื่อให้เป็นทหารที่สมบูรณ์แบบเต็มตัว จะต้องได้รับการฝึกดังนี้

1)การฝึกบุคคลท่าเบื้องต้น เช่น ท่ามือเปล่า, ท่าอาวุธ, ฝึกแถวชิด
2)การฝึกความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ใช้ช่วงเวลาตอนเช้า, ตอนเย็น เช่น การฝึกกายบริหารด้วยท่าทางต่างๆ การวิ่งออกกำลังกาย การฝึกการต่อสู้ป้องกันตัว ฯลฯ
3)การฝึกวิชาทหารทั่วไป เช่น การติดต่อสื่อสาร การอ่านแผนที่และเข็มทิศ การปฐมพยาบาล และสุขอนามัย การข่าวเบื้องต้น การระเบิดทำลาย ทุ่นระเบิดกับระเบิด การป้องกันนิวเคลียร์ชีวรังสี ฯลฯ
4)การฝึกใช้อาวุธ เช่น ลูกระเบิดขว้าง การใช้ดาบปลายปืนและการยิงปืนชนิดต่างๆ ด้วยกระสุนซ้อมรบและกระสุนจริง
5)การฝึกทางยุทธวิธี เช่น การกำบังและซ่อนพราง การฝึกบุคคลทำการรบในเวลากลางวัน/กลางคืน เครื่องกีดขวาง การยิงประกอบการเคลื่อนที่ การลาดตระเวน ระวังป้องกัน การเคลื่อนย้ายทางยุุทธวิธี
การพักแรมในสนาม
6)การสอบอบรม เช่น คุณลักษณะทางทหาร แบบธรรมเนียมทหาร คุณธรรมของทหาร มารยาทและวินัยทหาร หน้าที่พลเมืองดี ความรักและการป้องกันประเทศ การปกครองระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย การเสริมสร้างปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองในหน่วยทหาร รัฐธรรมนูญไทยประวัติศาสตร์ ยาเสพติด เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ

ทั้งนี้ การฝึกดังกล่าวทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้อื่นผู้ช่วยครูฝึก ครูนายสิบและครูทหารใหม่ กองทัพบกมีหน่วยฝึกทหารใหม่นับร้อยหน่วย ทุกค่ายทหารทั่วประเทศ โดยหนึ่งหน่วยฝึกมีทหารใหม่
80-160 นาย มีผู้ฝึกหนึ่งนาย จัดจากผู้บังคับหมวดอาวุโสที่มีประสบการณ์ในการฝึก โดยรับผิดชอบการฝึกและปกครองทหารใหม่พร้อมๆ กันด้วย ผู้ช่วยผู้ฝึกอีก 1 นาย จัดจากผู้บังคับหมวดที่อาวุโสต่ำกว่าผู้ฝึกหรือจ่าสิบเอกอาวุโส ครูนายสิบ จัดจากนายสิบที่มีความรู้ความสามารถมีลักษณะท่าทางดี และดูแลทหารใหม่อย่างใกล้ชิด โดยจัดครูนายสิบ 1 นายต่อครูทหารใหม่ 1 นาย เช่น ครูทหารใหม่ 15 นาย ก็จัดครูนายสิบ 15 นาย ครูทหารใหม่จัดจากพลทหารที่สำเร็จการฝึกหลักสูตรครูทหารใหม่แล้ว เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือครูนายสิบ โดยครูทหารใหม่ 1 นายต่อทหารใหม่ 8 นาย

คุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้ฝึก ครูนายสิบ และครูทหารใหม่ต้องมี 1) ลักษณะทหารดี ความประพฤติเรียบร้อย อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด 2) แต่งกายสะอาดเรียบร้อยถูกต้องตามระเบียบ 3) มีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น จริงใจ ตั้งใจ ในการฝึก 4) มีการควบคุมบังคับบัญชาครูฝึกอย่างแน่นแฟ้น คุ้นเคย และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 5) อยู่ใกล้ชิดทหารใหม่ตลอดเวลา ดูแลทุกข์สุขของทหารอย่างทั่วถึง เอาใจใส่ต่อการเจ็บป่วยของทหารใหม่ 6) เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ครูฝึกและทหารใหม่ได้เป็นอย่างดีในทุกๆ เรื่อง เมื่อฝึกจบครบ 10 สัปดาห์แล้ว ก็ได้รับการทดสอบความรู้ และเข้าร่วมพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน สวนสนามในวันสาบานธง

หลังจากนั้นจึงเป็นพลทหารเก่าแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามหน่วยที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายต่อไป และผ่อนปรน กฎระเบียบต่างๆ ลงบ้างพอสมควร

การธำรงวินัยและเสริมสร้างลักษณะผู้นำทางทหาร หรือระบบ “ซ่อม” (MOLDING SYSTEM) เป็นคำศัพท์ทางทหารและวัฒนธรรมองค์กรของทหารตั้งแต่ยุคอดีตถึงปัจจุบันที่ใช้กันมาอย่างได้ผลที่กระทำเดี่ยวต่อตัวบุคคลและกระทำเป็นกลุ่มต่อทหารที่กระทำบกพร่องหรือผิดวินัยทหารเล็กๆ น้อยๆ อยู่ในอำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและ

ผู้กระทำผิดวินัยบกพร่องที่ไม่ต้องการให้มีการบันทึกไว้ในประวัติรับราชการไม่ว่าจะเป็นกำลังพลประเภทใด (โดยเฉพาะนายทหารสัญญาบัตรถ้าทำผิดวินัยทหารและถูกลงทัณฑ์ เช่น การทำทัณฑ์บน จะต้องรายงานถึง รมว.กห.และบันทึกลงในสมุดประวัติรับราชการ) ซึ่งกำลังพลที่กระทำบกพร่องก็ไม่ประสงค์เช่นนั้น จึงเป็นไปด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ถ้าผู้บังคับบัญชาจะเถรตรงก็ทำได้ แต่จะเป็นการตัดอนาคตรับราชการของผู้ใต้บังคับบัญชาทางอ้อม

ผู้กระทำความผิดที่เป็นนายทหารประทวนและพลทหารจึงยอมให้มีการปรับปรุงวินัยด้วยวิธีต่างๆ มีประโยชน์ถึง 4 อย่างคือ 1) เป็นการลงโทษให้หลาบจำเมื่อกระทำผิด 2) ให้ความเข้มแข็งของร่างกาย 3) รักษาระเบียบวินัยของหน่วยและ 4) เสริมสร้างบุคลิกและลักษณะผู้นำ

ตามหลักฐานตัวอย่างของกรมนักเรียนนายร้อย ซึ่งเป็นต้นแบบของหน่วยที่มีวินัยที่เข้มแข็งสุดของกองทัพบกที่ผลิตนายทหารสัญญาบัตร
ออกมารับใช้ประเทศชาติมาเป็นเวลานานมาก สำหรับ นนร.ใหม่ใช้ 2 ระบบคู่กัน ได้แก่

1.ระบบการปลูกฝัง และเสริมสร้างลักษณะผู้นำ ที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ปฏิบัติที่จะต้องให้ใช้การออกกำลังกาย ครั้งหนึ่งให้สั่งได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 1) ยึดพื้น 20 ครั้ง 2) กระโดดทิ้งย่อ 20 ครั้ง 3) วิ่งไม่เกินระยะทาง 1,000 เมตร 4) พุ่งหลัง 1 นาที 5) ยืน-นั่ง-นอน-กลิ้งตัว 1 นาที 6) หมอบ-คลาน-คืบ 1 นาที ห้ามสั่งการปฏิบัติอื่นใดนอกเหนือไปจากรายการที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อได้สั่งให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ห้ามมิให้สั่งปฏิบัติการอื่นใดโดยต่อเนื่อง ต้องให้ได้พักในระหว่างการปฏิบัติในแต่ละเรื่อง หากการปฏิบัติได้ดำเนินไปเกินขอบเขตหรือเกิดการบาดเจ็บ ผู้บังคับบัญชามีสิทธิระงับการปฏิบัตินั้นได้ โดยมีข้อห้ามของการปรับปรุงลักษณะผู้นำต้องยึดถือหลักดังต่อไปนี้ 1) กระทำโดยเจตนาเพื่อที่จะให้บังเกิดผลตามความมุ่งหมาย 2) มีความพอดีเหมาะสมกับลมฟ้าอากาศและกาลเทศะ 3) ไม่ล่วงเกินบรรพบุรุษ ไม่ผิดศีลธรรม
และมนุษยธรรม 4) ไม่ผิดสุขอนามัย ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย
5) ไม่แกล้ง หรือกระทำการด้วยอาการบันดาลโทสะ อาฆาต หรือแก้แค้น
6) การปฏิบัติใดๆ ต้องไม่ถูกเนื้อต้องตัว 7) ห้ามทำการปลูกฝังและเสริมสร้างลักษณะผู้นำในบางเวลาและสถานที่ เช่น โรงพยาบาล ขณะฝึกฝนและศึกษา ขณะรับประทานอาหาร และหลังแตรนอน (เว้นเมื่อได้รับอนุญาต)

2.ระบบการสร้างเสริมลักษณะทหารของ นนร.ใหม่ คือการฝึกให้ นนร.ใหม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยมีท่าฝึกที่ต้องออกกำลังกายในการสร้างเสริมลักษณะทหารของ นรร.ใหม่ มีดังนี้ 1) ยุบข้อหรืออื่นๆ ทำนองยุบข้อสั่งได้ไม่เกินครั้งละ 20 ครั้ง 2) จักรยานลม
1 นาที 3) ยืน นั่ง นอน กลิ้งตัว 1 นาที 4) หมอบ คลาน คืบ 10 เมตร วิ่ง 400 เมตร ห้ามสั่งการปฏิบัติท่าอื่นนอกจากท่าที่กำหนดไว้นี้ การปฏิบัติใดๆ ต้องไม่เกิน 3 นาที เมื่อครบ 3 นาทีแล้วต้องหยุดพักผ่อน 5 นาทีก่อน จึงจะสามารถสั่งการปฏิบัติต่อไปได้ ทั้งนี้จะต้องไม่สั่งในท่าเดิมเกิน 2 ครั้ง

นอกจากนั้นมีระเบียบ รร.จปร.ว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤติและการลงทัณฑ์นักเรียนนายร้อย พ.ศ.2552 ให้ผู้บังคับบัญชา อาจารย์พิจารณาใช้มาตรการทางปกครองแก่นักเรียนนายร้อยที่ประพฤติบกพร่องอีกดังต่อไปนี้
1) ว่ากล่าวตักเตือน คือการที่ผู้บังคับบัญชาได้ทำการอบรมสั่งสอนด้วยวาจาซ้ำอาจจะมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานก็ได้
2) ตัดสิทธิ คือการตัดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น ยืดเวลาปล่อยพักผ่อนออกนอกโรงเรียนให้ช้ากว่าปกติ ฯลฯ
3) การธำรงวินัย คือให้กระทำการว่ากล่าวตักเตือน หรืออบรมสั่งสอนควบคู่กับการออกกำลังกายหรือให้ทำงานหรือกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพอุปนิสัย หรือจริยธรรมของนักเรียนตามที่กรมนักเรียนนายร้อยรักษาพระองค์กำหนด

และยังมีระเบียบ รร.นายร้อย จปร.ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติประจำสัปดาห์และประจำวันของนักเรียนนายร้อย พ.ศ.2557 ให้มีการจัดเวรเตรียมพร้อมและกักบริเวณ โดย นนร.ที่ถูกสั่งลงโทษให้เดินทัณฑ์โดยปฏิบัติดังนี้
1) การแต่งกายชุดฝึก ประกอบเครื่องสนามหนัก 8.5 กิโลกรัม และปืนไม้
2) วันเวลาเดินในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น. เส้นทางเดินถนนหน้ากองร้อยของแต่ละกองพัน เป็นการทำโทษไม่ให้ นนร.คนอื่นกระทำความผิดตาม

และมีห้องหมายเลข 18 ให้สำหรับขังนักเรียนนายร้อยด้วย

ระบบการซ่อมเพื่อธำรงวินัยและเสริมสร้างคุณลักษณะผู้นำทาง
ทหารของ รร.นายร้อย จปร.จึงเป็นแนวทางและได้มีการนำไปใช้ใน ร.ร.ทหารทุกประเภท และหน่วยทหารทุกหน่วยแต่ต้องลดระดับความเข้มข้นลงด้วยการใช้การออกกำลังกายแทนการถูกตัดคะแนนความประพฤติ (ที่ใช้ใน ร.ร.ทหาร) การไม่บันทึกประวัติรับราชการและเป็นการทำโทษทางร่างกายและจบหรือเสร็จสิ้นไปในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวน ทำให้เสียเวลาทางด้านธุรการไปโดยไม่คุ้มค่า

กองทัพในโลกนี้ไม่มีทหารคนใดที่ไม่มีข้อบกพร่องเล็กน้อยทางด้านวินัย ผู้บังคับบัญชาเมื่อพบข้อบกพร่องต้องลงโทษเพื่อให้หลาบจำ จะได้ไม่กระทำความผิดซ้ำหรือกระทำความผิดสำคัญขึ้นอีกในอนาคตเป็นการเตือนสติไปในตัว ซึ่งอาจจะผิดกับวัฒนธรรมองค์กรของส่วนราชการอื่นๆ ที่อาจมองผ่านความผิดเรื่องเล็กน้อยไป

การลงโทษด้วยการให้ทำโทษตัวเองแทนด้วยการออกกำลังกายนั้น ก็มีบางหน่วยพลิกแพลงเพิ่มเติมอีก เช่น ควงสว่าน กระโดดกบ กระโดดตบ ปั่นจิ้งหรีด แทงปลาไหล สก๊อตจั๊มพ์ สะพานโค้ง ฯลฯ และการแสดงท่าทางพิเรนต่างๆ ผิดธรรมชาติของมนุษย์ที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ บางท่าทางอาจก่อให้เกิดอันตรายผิดหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น รวมทั้งนายทหารเวรผู้ใหญ่และนายทหารเวรประจำวันของหน่วย โดยเฉพาะเวลากลางคืนที่ต้องกวดขันกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ถ้าฝ่าฝืนก็ต้องลงโทษเป็นความผิดเฉพาะบุคคลตามความเหมาะสมต่อไป

จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญของนายทหารสัญญาบัตรและประทวนทุกท่านว่า ในทุกหน่วย ทหารทุกคนคือเพื่อนร่วมตาย ต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมเสมอภาคกัน โดยเฉพาะน้องๆ พลทหารกองประจำการทั้งทหารใหม่และเก่า ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนญาติพี่น้องและลูกหลานตนเอง และทหารทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในผลการกระทำของตน ที่ต้องไม่เสื่อมเสีย ส่งผลมาถึงชื่อเสียงของกองทัพที่ตนเองสังกัดและกระทรวงกลาโหมได้

 

พลโททวี แจ่มจำรัส
ข้าราชการบำนาญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image