เงินบาททรงตัวในกรอบแคบ จับตาปัญหาการค้าของสหรัฐฯ และจีน

แฟ้มภาพ

“เงินบาททรงตัวในกรอบแคบ ขณะที่ ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ แต่ภาพรวมยังปิดที่ระดับต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททรงตัว ใกล้เคียงระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขายต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงมา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากแรงซื้อในช่วงใกล้สิ้นเดือนจากในประเทศ ประกอบกับมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ รับข่าวที่จะมีการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้า เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค และเงินหยวนของจีน

ในวันศุกร์ (30 มี.ค.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 มี.ค.)

Advertisement

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาในประเด็นทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.พ. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามตัวเลข PMI เดือนมี.ค. ของประเทศชั้นนำอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,776.26 จุด ลดลง 1.00% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 23.66% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 63,764.82 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 490.65 จุด

Advertisement

ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนสั้นๆ ในช่วงต้นสัปดาห์ ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะร่วงลงในช่วงเวลาต่อมา ท่ามกลางแรงกดดันของหุ้นในกลุ่มธนาคารรับข่าวยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ ประกอบกับหุ้นกลุ่มพลังงานได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ และประเด็นต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นไทยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ดัชนี SET กลับมาฟื้นตัวขึ้นบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ จากรายงานเศรษฐกิจไทยเดือนก.พ. ที่ยังสะท้อนสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (2-6 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,765 และ 1,755 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,785 และ 1,800 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนมี.ค. ของประเทศแถบยุโรปและญี่ปุ่น และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image