สกู๊ปพิเศษ: สรุป-ปิดจ๊อบ ตีตั๋ว-จัดแถว ‘แรงงานต่างด้าว’

การจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยแบบผิดกฎหมาย ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ที่กระทรวงแรงงาน จัดตั้งขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561

เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์-วันที่ 31 มีนาคม 2561 ในช่วงท้ายๆ เปิดช่องทางให้บริการเพิ่มเติม ที่ศูนย์โอเอสเอสตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะไปยื่นแบบฟอร์มพร้อมเอกสารประกอบที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือจะลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง
ได้เสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

หากไม่นับรวมแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยด้วยระบบ
เอ็มโอยู กระทรวงแรงงานประเมินว่ามีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ผิดกฎหมายต้องจัดทำทะเบียนประวัติ ณ ศูนย์โอเอสเอส จำนวน 1,379,252 คน

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม เวลา 24.00 น. มีแรงงานต่างด้าวรายงานตัวแล้ว 1,194,709 คน เป็นผลมาจากการปรับขั้นตอนและการเปิดบริการ 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา

Advertisement

พบว่านายจ้างได้นำแรงงานต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนที่ศูนย์โอเอสเอสกันอย่างคับคั่ง

แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่จะต้องดำเนินการที่ศูนย์โอเอสเอส แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.แรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ทั้งที่พิสูจน์สัญชาติและยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบัตรหมดอายุเมื่อวันที่
1 พฤศจิกายน 2560 โดยกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้วจะอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ส่วนที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ

Advertisement

2.แรงงานกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) แบ่งเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้ว และได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 จะอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และกลุ่มที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ มีเพียงใบจับคู่เท่านั้น และได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 เพื่อพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ

3.แรงงานกลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีทั้งกรณีที่พิสูจน์และไม่พิสูจน์สัญชาติ โดยแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติแล้วจะอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และแรงงานที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติจะอนุญาตให้ทำงานได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลประกาศว่ามีเป้าหมายให้แรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (VISA) ขออนุญาตทำงาน ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน หรือทำประกันสุขภาพ เพื่อให้ฐานข้อมูลของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว สามารถรู้ว่าแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ที่ใด ทำงานกับนายจ้างรายใด

พร้อมทั้งมีทะเบียนประวัติของแรงงานต่างด้าว เพื่อใช้ในการบริหารจัดการ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ และเพื่อให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ เป็นแรงงานที่เข้าเมืองและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวจะไม่ขยายเวลาให้อีก

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้สัมภาษณ์ว่า แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประมาณ 1.3 ล้านคนเศษ จะต้องรายงานตัวทำทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561

หากแรงงานต่างด้าวคนใดไม่ได้รายงานตัวในเวลาที่กำหนดจะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ไม่มีการผ่อนผันใดๆ อีก

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่รายงานตัวแล้วจะได้รับการนัดหมายให้ไปดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจโรค ขอใบอนุญาต และตรวจลงตราวีซ่า ซึ่งทุกกระบวนการจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561

“ในการเปิดให้แรงงานต่างด้าวรายงานตัวนั้นผ่าน 3 ช่องทาง ซึ่งเปิดให้รายงานตัวตลอด 24 ชั่วโมง และสิ้นสุดในเวลา 24.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2561 คือ 1.รายงานตัวผ่านศูนย์โอเอสเอส 2.ไปยื่นแบบฟอร์มพร้อมเอกสารประกอบที่สำนักงานจัดหางาน ซึ่งมีจำนวน 86 จุดทั่วประเทศ และ 3.ลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ กกจ.เพียงเข้าไปกรอกข้อมูลพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว ระบบจะส่งข้อความสั้น (SMS) เข้ามือถือเพื่อนัดหมายเวลาทำทะเบียนประวัติ ตรวจโรค ขอใบอนุญาต และตรวจลงตราวีซ่าŽ” นายอนุรักษ์กล่าว

ข้อกังวลสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ไปรายงานตัวภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 จะมีผลเป็นอย่างไร นายอนุรักษ์ชี้แจงว่า แรงงานต่างด้าวคนนั้นจะไม่สามารถอยู่ใน
ราชอาณาจักรไทยได้

เพราะหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะมีการออกตรวจจับพวกที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายเพื่อส่งตัวกลับประเทศต้นทาง และหากพบว่าต่างด้าวคนใดมีการทำงานด้วย จะมีความผิดฐานเข้าทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในส่วนของแรงงานต่างด้าวมีโทษปรับ 5,000-10,000 บาท และจะถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักร

ส่วนนายจ้างจะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากพบว่าทำผิดซ้ำสอง จะถูกปรับเพิ่มเป็น 50,000-200,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 1 ปี

พร้อมกับถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ห้ามจ้างงานแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

“หลังจากวันที่ 31 มีนาคมนี้ ในกระบวนการจัดทำทะเบียนประวัติของแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะแล้วเสร็จทันวันที่ 30 มิถุนายนนี้แน่นอน โดยจะจัดระบบคิวนัดวัน เวลาล่วงหน้า แต่ขอความร่วมมือทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างด้าวไปแสดงตัวและจัดทำให้เอกสารที่เหลือให้ตรงตามเวลานัด เพราะหากผิดนัดอีกจะถูกตัดสิทธิทันทีเช่นกันŽ” นายอนุรักษ์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image