ครบ 3 ปีแก้ไอยูยูž ประมงไทย รอปลดล็อกž

ครบ 3 ปีแล้วที่อียูยื่น ใบเหลืองŽ ให้ไทยปฏิรูปอุตสาหกรรมการประมง แก้ปัญหาไอยูยู ฟิชชิ่ง (IUU fishing) หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ มาเข้มงวดกวดขันกับอุตสาหกรรมประมงไทย เช่น พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558, พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และยังมีกฎระเบียบต่างๆ อีกมากมาย

ขณะที่ชาวประมงจำยอมต้องปฏิบัติตามทั้งที่เต็มใจและไม่เต็มใจ เนื่องจากกฎหมายบางฉบับมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งปรับเงินเป็นล้าน ยึดเรือ เพิกถอนใบอนุญาต จนภาคประมงได้รับผลกระทบ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาประมงไทยหมักหมมมานาน ไม่มีการจัดระบบเรือให้ชัดเจน จึงเกิดปัญหาสะสมต่อเนื่องอย่างยาวนาน การจะแก้ปัญหาให้จบโดยเร็วก็คงเป็นเรื่องยาก ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวประมงที่ต้องปรับตัวตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด แม้บางครั้งจะออกกฎระเบียบโดยไม่ได้หารือกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จึงทำให้เกิดปัญหามากมายที่ชาวประมงไม่สามารถปฏิบัติตามได้

ดังนั้น การแก้ปัญหาไอยูยู ครบ 3 ปี ชาวประมงได้ปฏิบัติตามกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ และต้องปรับตัวในหลายด้าน ได้แก่ การลดจำนวนเรือประมงลง, การลดจำนวนเครื่องมือไม่เกินขนาด ตามหลักเกณฑ์กรมประมง เช่น อวนลาก 200 เมตรเหลือ 100 เมตร, การทำเอกสารต่างๆ ต้องมีความละเอียดมากขึ้น จากเดิมไม่ต้องทำเอกสารแต่อย่างใด

Advertisement

รวมทั้งการเข้า-ออกโดยไม่ต้องแจ้งใคร แต่ปัจจุบันต้องจดรายละเอียดเอกสารต่างๆ ตามที่ภาครัฐกำหนด เช่น การกรอกสมุดบันทึกการจับสัตว์, สัญญาจ้าง, หนังสือรับรองการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่นำเรือประมงเข้าหรือออก

นายมงคลบอกว่า การปรับตัวที่สำคัญคือค่าตอบแทนแรงงาน ที่เรืออวนลาก 1 คู่ จะต้องใช้แรงงาน 10-18 คน, เรืออวนล้อมขนาด 30-60 ตันกรอส จะต้องใช้แรงงาน 20 คน, ขนาด 60 ตันกรอส ขึ้นไป ใช้แรงงาน 30-50 คน ซึ่งเรือประมงทุกประเภทจะใช้เป็นแรงงานมีฝีมือคนไทย 2-4 คนคือ ไต๋ เอ็นจีเนียร์ นายท้าย ที่เหลือเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

ปัจจุบันภาคประมงเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจึงทำโครงการนำคนไทยลงเรือประมง โดยประสานกับสภาเกษตรกรจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยการเชิญชวนคนไทยที่ว่างเว้นจากการทำนามาทำงานในเรือประมง ในตำแหน่งผู้ช่วยนายท้ายและผู้ช่วยเอ็นจีเนียร์ หรือหากมีความสามารถก็ขยับขึ้นไปเป็นตัวจริง

ผู้ประกอบการประมงจะให้ค่าจ้างวันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดสมุทรสงครามเป็นเงินวันละ 318 บาท โดยกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาฝึกอบรมผู้สนใจลงเรือประมง

นอกจากนี้ยังต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือแบบเอ็มโอยู เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยให้ค่าจ้างวันละ 12,000 บาท ทั้งนี้แรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมง นอกจากจะได้ค่าเหนื่อยตามที่กำหนดแล้ว หากลาป่วยหรือหยุดก็จะได้รับค่าจ้างตามปกติ และได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร จะได้รับสวัสดิการตามที่รัฐกำหนด เช่น ประกันอุบัติเหตุ, การทำงานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมงครึ่ง รวมทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ช่วงที่อยู่ในเรือกลางทะเลยังมีอาหารการกินอย่างดีวันละ 3-4 มื้ออีกด้วย

ดังนั้น ผู้ประกอบการภาคประมงที่ต้องการแรงงานต่างด้าว แจ้งความต้องการแรงงานไปยังสมาคมประมงท้องถิ่นต่างๆ ทั้ง 22 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่ นายศราวุธ โถวสกุล นายกสมาคมเรือประมงลากคู่สมุทรสงคราม กล่าวว่า สิ่งสุดท้ายที่ต้องปรับตัวคือการได้รับการประสานจาก ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้สนับสนุนให้ลูกเรือประมงตั้งสหภาพแรงงานไทยในเรือประมง เพื่อรองรับ พ.ร.บ.แรงงานประมง ฉบับใหม่ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการทำงานในภาคการทำประมง ปี 2007 (C188) โดยกำหนดให้ตัวแทนแรงงานร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งสมาคมเรือลากคู่สมุทรสงครามเตรียมเสนอตั้งสหภาพแรงงานไทยในลูกเรือแรงงานประมงนำร่องเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งสหภาพจะดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานทั้งระบบ จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น

รวมทั้งจะร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเอ็นจีโอจะทำงานร่วมกัน ในการกู้ภาพลักษณ์การทำประมงให้ดียิ่งขึ้น โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะดูแลผู้ประกอบการหากทำผิดต้องถูกลงโทษ ส่วนแรงงานที่สร้างปัญหาเอ็นจีโอจะดูแลแรงงานให้ทำตามระเบียบ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางประสานงานซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้

นายศราวุธกล่าวว่า แม้ชาวประมงจะต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากฐานค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดสมุทรสงครามที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดวันละ 318 บาท แต่ผู้ประกอบการเรือประมงก็ยินดี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีคนมาทำงานในเรือประมงมากขึ้น ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ในระยะยาว

ด้านนาย ซานเอ แรงงานประมงชาวเมียนมา กล่าวว่า ทำงานในเรือประมงมาแล้ว 2 ปี ได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนเดือนละ 10,500 บาท 1 ปีทำงานแค่ 8 เดือน 1 วันทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมง ช่วงที่เรือเข้าฝั่งหยุดทำประมงตามกฎหมายก็นั่งๆ นอนๆ ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ขณะที่ช่วงทำงานในเรือประมงหากป่วยก็ยังได้เงินเดือนครบทุกบาท

ปัจจุบันความเป็นอยู่ในเรือดีมาก มีห้องนอนที่เพียงพอ ห้องน้ำก็ถูกสุขลักษณะ อาหารการกินก็สดใหม่ ที่ขนจากฝั่งติดเรือออกไปด้วย วันไหนอยากกินอาหารทะเลก็นำสัตว์ที่จับได้มาทำเมนูต่างๆ เรียกได้ว่าอยู่สุขสบายอาหารการกินสมบูรณ์ จะมีก็เพียงเวลาออกเรือจะคิดถึงครอบครัว และจะเมาคลื่นก็เท่านั้น แต่ปัจจุบันก็มียาแก้เมาคลื่นให้รับประทานกันแล้ว

แม้ภาพชาวประมงในอดีตจะเลวร้าย แต่การแก้ปัญหาไอยูยูครบ 3 ปี ภาคประมงต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงไทยก้าวข้ามปัญหาไอยูยูมาได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 4-11 เมษายนนี้ อียูมีกำหนดการมาตรวจการแก้ไขปัญหาไอยูยูของประมงไทย

ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องแล้วแต่อียูตัดสิน!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image