เปิด 2 วรรณกรรม อ่าน’อังกฤษยุคล่าอาณานิคม’ เมื่อสาวเมืองผู้ดีต้อง’ล่าสามี’ในอินเดีย กับชีวิต’ร้าวราน’ในประวัติศาสตร์พม่า

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 เดินมาเกินครึ่งทางแล้ว ประชาชนต่างให้ความสนใจและเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม และปีนี้ก็เป็นปีสำคัญของ “มติชน” ที่เปิดตัวหนังสือหลากหลายแนว โดยเฉพาะกระแสการสนใจประวัติศาสตร์ตาม “บุพเพสันนิวาส” ทางมติชนเองก็ไม่พลาดเช่นกัน มีการหยิบยกประวัติศาสตร์ไทยในสมัยพระนารายณ์มาให้ผู้คนเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก แน่นอนเมื่อมีประวัติศาสตร์ไทยแล้วไม่พลาดต้องมีประวัติศาสตร์โลก

มติชนจึงขอเปิดหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่นำเสนอให้แก่ผู้อ่านเพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องสนุก โดยการจับสองนักแปลคนเก่งคือ คุณสุภัตรา ภูมิประภาส และคุณธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์ ผู้ผ่านงานแปลมาอย่างช่ำชอง มีผลงานแปลออกมาให้กับวงการหนังสือมากมาย ซึ่งเรื่องนำที่มาแปลนั้น เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ “ยุคการล่าอาณานิคมของอังกฤษ” ทั้งสองเรื่องคือ “The Fishing Fleet กองเรือหาคู่” และ “The Glass Palace ร้าวรานในวารวัน”

การเมืองเรื่อง”หาคู่”

ผู้ชายคือของล้ำค่า สตรีคืนสินค้าส่งออก

เล่มแรกคือ “The Fishing Fleet” หรือในภาษาไทยว่า “กองเรือหาคู่” เขียนโดย Anne de Courcy ครั้งนี้มติชนได้ สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล “The King in Exile ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” และ “Thibaw”s Queen ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” มารับหน้าที่แปลหนังสือเล่มนี้

“The Fishing Fleet กองเรือหาคู่” เป็นเรื่องราวในยุครัฐบาลอังกฤษมีนโยบายเข้มงวดไม่ให้ชาวอังกฤษในอาณานิคมอินเดียข้องแวะหรือแต่งงานกับหญิงพื้นเมือง กิจการส่งเจ้าสาวข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษมาถึงอินเดียจึงถือกำเนิดขึ้น สาวๆ เหล่านี้เป็นทั้งผู้ดีและชนชั้นกลางอังกฤษทั่วไป ลูกสาวกลายเป็นสินค้าส่งออกชนิดใหม่ที่ครอบครัวในอังกฤษต่างอยากผลักดันให้ออกมา“ไล่ล่าสามี” ในขณะที่ผู้ชายเป็นรางวัลใหญ่ที่เหล่าหญิงสาวต่างก็จับจ้อง แก่งแย่งแข่งขันกันทำคะแนนให้ได้มา เพื่อมิให้ตัวพวกหล่อนเองถูกส่งกลับอังกฤษอย่างเหี่ยวเฉาและโดนตราหน้าเป็น “สินค้าตีคืน” การแข่งขันเข้มข้นมากกระทั่งผู้ชายอังกฤษในอาณานิคมอินเดียคือ “ของมีค่า” ซึ่งทำให้ชายอ้วนเตี้ยอัปลักษณ์ก็ยังมีราคาค่างวดและเป็นที่หมายปองขึ้นมาได้

Advertisement
จุดนัดพบของการล่าสัตว์ในบังกาลอร์ที่หนุ่มสาวมาพบเจอกัน

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทของ Ridley Scott ชนะการประมูลลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว แม้จะยังไม่มีข้อมูลปีที่เข้าฉายก็ตาม อีกทั้งกระแสตอบรับของผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นไปในทางบวก ชมว่าหนังสือมีประเด็นน่าสนใจ อ่านสนุก ผู้เขียนมีการค้นข้อมูลมาอย่างดี อ่านเพลิน ได้สาระ และยังมีประเด็นหวือหวาคาดว่าน่าจะถูกจริตนักอ่านทุกคน

“สนุก มีสีสัน บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอินเดียเเละอังกฤษที่เปิดมุมมองใหม่” คือคำจำกัดความของหนังสือเล่มนี้ที่สุภัตราได้บอกเล่าให้ฟัง

“ซื้อหนังสือเรื่องนี้มาจากอินเดีย พออ่านแล้วชอบมาก จึงเสนอให้ทางสำนักพิมพ์มติชน ใช้เวลามานานทางมติชนก็ตอบรับให้แปล ใช้เวลาแปลมากกว่า 6 เดือน เนื่องจากต้องทำความเข้าใจต้องศึกษาข้อมูลที่ใหม่อย่างเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้หญิงอังกฤษในยุคนั้น หรือสภาพสังคมวิถีชีวิตของอังกฤษเเละอินเดีย คำศัพท์การเดินเรือ เป็นต้น อีกทั้งผู้เขียนเป็นชาวฝรั่งเศสจะมีคำศัพท์ฝรั่งเศสมาปนบ้าง ซึ่งยากในการแปลจุดนี้”

Advertisement
แฟชั่นของสาวๆยุคนั้น-เป็นภาพของไลลาห์-วิงฟีลด์ที่เพิ่งเดินทางมาถึงอินเดีย

เมื่อถามถึง เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ ผู้แปลเล่าว่า หนังสือเล่มนี้ Anne de Courcy ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น โดยเขียนจากบันทึกหญิงชายชาวอังกฤษในยุคนั้นที่เขียนจดหมายถึงคนในครอบครัวของตนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่อยู่ในอินเดีย รู้สึกว่าจดหมายเหล่านี้ไม่มีการปรุงแต่ง เขียนไปตามความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนเหล่านั้นและแม้ไม่มีการปรุงแต่งแต่มีสีสันอยู่ในตัวของมัน

“การแปลหนังสือเล่มนี้ มีทั้งความสนุกและความยาก หนังสือเล่มนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบาก ความพยายามของผู้หญิงในยุคนั้นเพื่อที่จะเริ่มมีชีวิตใหม่ เป็นสารคดีที่ทำให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนทั้งของอังกฤษและอินเดีย ทั้งยังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกเพศทุกวัยไม่ใช่เเค่ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์เท่านั้น” สุภัตรากล่าว

“ร้าวรานในวารวัน”

ความเจ็บปวดของผู้คนแห่งลุ่มอิรวดี

เล่มถัดมาเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนผู้โด่งดังอย่าง Amitav Ghosh นักเขียนเอเชียใต้ที่เข้ารอบรางวัล Man Booker Prize อีกทั้งหนังสือเล่มนี้เป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงวรรณกรรมและประวัติศาสตร์อาณานิคม และเป็นแรงบันดาลใจของหนังสือ “The King in Exile หรือราชันผู้พลัดแผ่นดิน” คือ “The Glass Palace” หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ร้าวรานในวารวัน” แปลโดย ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์

“The Glass Palace ร้าวรานในวารวัน” โดดเด่นด้วยการผูกจินตนาการแต่งเรื่องผสานเข้ากับเรื่องราวและเหตุการณ์จริง มีทั้งความหวัง ความพลัดพราก การสูญเสีย ความผิดพลาด เสรีภาพ โอกาสและการเริ่มต้นใหม่ สอดแทรกบทบาททางเพศของหญิงและชาย The Glass Palace เป็นการหยิบยกฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเปลี่ยนชีวิตของผู้คนทุกระดับไปอย่างไรบ้าง ปัจเจกกับสังคมเดินไปด้วยกันในรูปแบบไหน และเนื่องจากนักเขียนเป็นชาวอินเดีย ถือว่านิยายเรื่องนี้ได้เล่าจากมุมมองของชาวอินเดียและชาวเมียนมาผู้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเอง ไม่ใช่มองจากมุมมองของเจ้าอาณานิคมที่พบกันทั่วไปในนิยายต่างประเทศ

Amitav Ghosh นำเอาข้อมูลต่างๆ มาเขียนเป็นชีวิตตัวละครที่ให้ภาพชัดเจนมาก ผู้อ่านจะได้รู้จักโลกอาณานิคมอังกฤษในอินเดีย พม่า มลายู ในแบบที่มีชีวิตชีวาและสมจริงในรูปแบบเรื่องราว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ดังนั้น ประเด็นใหญ่จึงไม่ใช่ชีวิตครอบครัวกษัตริย์ แต่เป็นชีวิตของหลายฝ่ายที่ต้องเผชิญทั้งดีและร้าย ก็เพราะจุดเปลี่ยนที่อังกฤษเนรเทศพระเจ้าธีบอออกจากพม่า และบอกเล่าเรื่องราวเรื่อยมาผ่านสงครามโลกครั้งที่สองและจบลงในช่วงของยุคออง ซาน ซูจี

งานแต่งงานของโรสแมรี่ โคทส์เวิร์ธ กับ วิลเลียม เรดพาธ ปี 1936

“เป็นนิยายระดับมหากาพย์ สนุก เปิดมุมมองใหม่ ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์มากเกินไป คนเขียนสามารถสร้างเรื่องราวผ่านตัวละครที่เป็นบุคคลจริงในหน้าประวัติศาสตร์มาผูกเข้ากับตัวละครสมมุติที่สร้างขึ้นมาทำให้เห็นว่าตัวละครทุกตัวมีชีวิต” คือคำจำกัดความสำหรับ The Glass Palace ร้าวรานในวารวัน ที่ธีรศักดิ์บอกเล่าให้เราฟัง

เมื่อถามถึง ความยากง่ายในการแปลครั้งนี้ คุณธีรศักดิ์เล่าว่า ยากตรงที่หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เดินเรื่องตามเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เมียนมา อีกทั้งประวัติศาสตร์เมียนมาที่เป็นภาษาไทยมีน้อยและยังมีอีกหลายเรื่องที่ประเทศไทยยังไม่ได้ศึกษา หรือยังไม่มีความรู้ดีพอ เช่น พวกชื่อคน ชื่อเฉพาะทั้งหลาย ซึ่งโชคดีที่ได้ “มุก-ทิมา เนื่องอุดม” เป็นบรรณาธิการเรื่องนี้ เเละเนื้อหาในหนังสือเกิดตั้งแต่สมัยพม่าเปลี่ยนแผ่นดิน ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อยมาจนถึงยุคออง ซาน ซูจี ต้องมีการปรับเปลี่ยนสำนวนจากภาษาโบราณมาเป็นภาษายุคปัจจุบันตามเนื้อเรื่องอีกด้วย

ธีรศักดิ์ยังได้เล่าให้ฟังถึงการหาข้อมูลตัวละครในนิยายอีกว่า เนื่องจากนิยายเรื่องนี้นำบุคคลที่มีตัวตนจริงประวัติศาสตร์มาเป็นตัวละคร จึงต้องหาข้อมูลเยอะ อย่างในเรื่องจะสอดแทรกตัวละครที่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ไปมีปฏิสัมพันธ์กันตัวละครสมมุติในเรื่อง ต้องดูว่าบุคคลที่มีชีวิตจริงนี้เป็นใคร มีบทบาทอย่างไรเพื่อจะมาดูลักษณะท่าทาง การพูดของตัวละครตัวนี้ควรจะเป็นอย่างไรอีกด้วย

“สำหรับนิยายเรื่อง The Glass Palace นี้ผมคิดว่าเหมาะกับคนทั่วไป เหมาะกับทุกเพศทุกวัยเพราะเรื่องราวไม่ได้อิงประวัติศาสตร์มากเกินไป ทั้งยังสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่น่าเบื่อ อ่านสนุกแน่นอน” ธีรศักดิ์กล่าว

“The Fishing Fleet กองเรือหาคู่” และ “The Glass Palace ร้าวรานในวารวัน” เป็นหนังสือตอบโจทย์สำหรับบางคนที่เกิดคำถามขึ้นมาว่า “ประวัติศาสตร์” จะสนใจทำไมเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและน่าเบื่อ อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวคำหนึ่งว่า “เรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจอนาคต” จุดนี้เองสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้เริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์ควรจะเริ่มจากก้าวเล็กๆ อย่างการอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือการอ่านสารคดีเชิงประวัติศาสตร์เพื่อเปิดใจว่าประวัติศาสตร์นั้นสนุกและไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image