สูงวัยไทยไต่ระดับ11.3ล้านคน-สำนักงานสถิติเล็งออกนโยบายหนุนมีลูกเพื่อชาติ

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้สำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย ปี 2560 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ภาวะสุขภาพ การเกื้อหนุน ตลอดจนลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ซึ่งเก็บข้อมูลตัวอย่าง 83,880 ครัวเรือน ระหว่างเดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2560 โดยได้รายงานผลการสำรวจแก่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว เพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ และนโยบายของชาติ สอดคล้องกับสภาพสังคม

นายภุชพงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจประชากรผู้สูงอายุในปี 2560 เป็นครั้งที่ 6 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 11.3 ล้านคน คิดเป็น 16.7% จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2537 มีจำนวนผู้สูงอายุ 6.8% ปี 2545 มีจำนวนผู้สูงอายุ 9.4% ปี 2550 มีจำนวนผู้สูงอายุ 10.7% ปี 2554 มีจำนวนผู้สูงอายุ 12.2% และปี 2557 มีจำนวนผู้สูงอายุ 16.7% ขณะที่เมื่อแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุประจำปี 2560 ออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ ผู้สูงอายุวัยต้น (60-69ปี) ผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79ปี) และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80ปีขึ้นไป) พบว่า ผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัยต้น 57.4%

นายภุชพงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามโครงสร้างด้านประชากรของประเทศไทยเข้าสู่การเป็น สังคมสูงวัย (Aged society) ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% โดยคาดว่าในปี 2564 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20% ทำให้เข้าสู่ สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในปี 2574 จะมีจำนวนประชากรถึง 28% ทำให้เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ควรสนับสนุนให้ประชาชนเริ่มต้นการออมตั้งแต่วัยทำงาน ทั้งสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีบุตร ตามแนวนโยบายมีลูก เพื่อชาติของรัฐบาล รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมและอาชีพเสริมให้กับผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ อีกทั้งขยายอายุการทำงานให้มากกว่า 60 ปี เป็นต้น

ขณะที่อัตราการพึ่งพิงในปี 2560 พบว่าประชากรวัยทำงาน 100 คน จะต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุและเด็ก จำนวน 51 คน นอกจากนี้การสำรวจพบว่าแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุ มาจากบุตร 34.7% มาจากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 31% มาจากการได้รับเบี้ยยังชีพจากราชการ 20% ทั้งนี้จำนวนกลุ่มผู้สูงอายุเพียง 5.8% ที่มีเงินเหลือเก็บในช่วงวัยเกษียณ มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่าย 50.3% มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายในบางครั้ง 25.4% และมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย 18.5%

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image