ย้ายบขส.เปลี่ยนเมืองให้ร้าง : คอลัมน์เดือนหงายที่ชายโขง

สถานีขนส่งประจำเมือง หรือที่เรียกกันติดปากติดหูว่า บขส.ของแต่ละจังหวัด เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและการเดินทางของผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางระหว่างอำเภอในจังหวัดเดียวกัน และการเดินทางระหว่างจังหวัดข้างเคียง

เมื่อมีคนเดินทางไปมามากขึ้นก็เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นในพื้นที่ของ บขส. จนขยายตัวเป็นชุมชนใหม่ขึ้นมาได้ สถานีขนส่งส่วนหนึ่งจึงเกิดขึ้นในรูปแบบการบริจาคที่ดินให้กับทางจังหวัดหรืออำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้สร้างเป็น บขส. แล้วเจ้าของที่ดินสร้างอาคารพาณิชย์รายรอบไว้เพื่อพัฒนาเก็บค่าเช่าหรือขายได้กำไร

เมื่อพื้นที่ บขส.เดิมเริ่มเป็นเมือง มีการจราจรมากขึ้นจนเกิดความแออัด และเมืองรอบ บขส.ได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นพื้นที่เมืองใหญ่ การแก้ไขของเมืองต่างๆ ในไทยมักจะเป็นการย้าย บขส.ออกไปยังพื้นที่รอบนอกห่างไปอีกครั้ง

โดยมักอ้างสภาพการจราจรติดขัดและมลพิษภายในเมือง รวมถึงการกระจายความเจริญสู่รอบนอก ซึ่งอาจมีเจ้าที่ดินหน้าใหม่ยินดีบริจาคที่ดินเพื่อพัฒนา บขส.ไปพร้อมกับอสังหาริมทรัพย์รอบๆ ของตัวเอง

Advertisement

และวัฏจักรนี้ก็จะวนไปตามความเจริญของเมืองที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้จริงจัง ทั้งยังเพิ่มปัญหาภายหลังการย้าย บขส.ที่ขัดแย้งกับจุดประสงค์อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปอีกด้วย

ตัวอย่างของการย้าย บขส.แล้วเกิดปัญหากระทบชาวเมืองที่เห็นได้รุนแรงแห่งหนึ่ง คือการย้ายรถโดยสารทุกชนิดไปรวมกันที่สถานีขนส่งแห่งที่ 3 (บขส.3) ของจังหวัดขอนแก่น โดยอ้างงานศึกษาของศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าจะช่วยลดความแออัดของการจราจรในเขตตัวเมือง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน ทำให้เดินทางต่อรถได้รวดเร็ว และรักษาความปลอดภัยได้

แต่เมื่อเกิดการย้ายรถโดยสารทั้งหมดขึ้นจริง ผลกระทบที่เกิดกับชาวเมืองกลับไม่ตรงตามงานศึกษาโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่ให้รถโดยสารที่บรรทุกคนได้ 30-40 คน เข้าไปยังพื้นที่เมืองและศูนย์ราชการที่คนจำเป็นต้องเข้ามาทำธุระ ก็ต้องอาศัยรถขนาดเล็กที่บรรทุกคนได้น้อยกว่าหลายคัน พื้นผิวการจราจรที่จำกัดก็ยิ่งแออัดมากขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

การต่อรถจากพื้นที่ บขส.นอกเมืองที่ห่างไกลก็ต้องมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลามากขึ้น โดยเฉพาะกับนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางมาจากต่างตำบลหรือต่างอำเภอแล้วต้องเรียนในตัวเมืองที่ต้องแบกภาระเวลาและเงิน

และเมื่อพื้นที่ บขส.ออกไปอยู่ไกลเมืองขนาดนั้นยังมีปัญหาความปลอดภัยของผู้เดินทางที่จำเป็นต้องต่อรถออกไปยามค่ำคืน เพราะรถประจำทางที่มีอยู่เดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้

นอกจากนี้ ทางเข้าออกของสถานีขนส่งใหม่ยังเกิดภาวการณ์จราจรติดขัดเมื่อถึงเวลารถเข้าพร้อมกัน เนื่องจากตั้งอยู่บนถนนใหญ่ที่มีทางเข้าออกจำกัด

สถานการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับกรณีปิดสนามบินดอนเมืองไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวในช่วงปี 2549-2551 เพราะพื้นที่ใหม่ไม่สามารถรองรับคนเดินทางได้ทั้งหมด อีกทั้งยังขาดความเชื่อมต่อกับพื้นที่ตัวเมืองที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยกำลังซื้อและจำนวนคนบวกกับอสังหาริมทรัพย์ของพื้นที่ใหม่ไม่สามารถเติบโตได้ทัน ทั้งยังปล่อยให้พื้นที่เดิมร้างไร้ประโยชน์และเสื่อมโทรมไปเป็นพื้นที่ทรุดโทรมเสี่ยงต่ออาชญากรรม

โจทย์ที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการจราจรและการเดินทางในระบบ บขส. คือการตอบว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนเดินทางถึงจุดหมายเร็วที่สุด มีจุดเชื่อมต่อน้อยที่สุด สูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

นครยุคใหม่ไฮเทคไม่ว่าจะเป็นโตเกียว ไทเป นิวยอร์ก ต่างปรับรูปแบบสถานีขนส่งให้อยู่ในใจกลางเมือง โดยจัดการช่องพื้นผิวจราจรพิเศษ ด้วยการเจาะอุโมงค์ หรือทำสะพาน นำรถจากทางหลวงนอกเมืองดิ่งเข้าใจกลางเมือง ก่อนที่จะกระจายด้วยระบบขนส่งมวลชนในเมือง

การปรับแนวคิดของ บขส.ในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อประชาชนคนเดินทางไม่ใช่เพียงแค่การอำนวยประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดินเพียงบางกลุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image