รหัสหมายเหตุวัฒนธรรมไทยในบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ กับกระแสความสนใจประวัติศาสตร์ของประชาชน : โดย ดร.ชาติชาย มุกสง

กระแสของบุพเพสันนิวาส ละครอิงประวัติศาสตร์ย้อนยุคทองของอยุธยาสมัยพระนารายณ์ ทำให้คนไทยหันมาสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยกันยกใหญ่

หลายคน หลายแห่ง ต่างพากันโหนกระแสไม่เลิก ต่างฟินเว่อร์ไปกับออเจ้า จนแทบไม่มีใครจะมาตั้งคำถามหาข้อวิจารณ์อย่างจริงจังสักเท่าไหร่ อาจจะเกรงกลัวว่า วิจารณ์แล้วทำตัว “ไม่ไทย” หรือ “ไม่รักชาติ” เหมือนที่นำเสนอในละครก็เป็นได้

ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์และทำงานอาชีพด้านประวัติศาสตร์ จึงขอทำหน้าที่ค้นหาความหมายทางสังคมวัฒนธรรมจากรหัสที่ละครได้นำเสนอเอาไว้ ตามความเห็นติชมด้วยสุจริต
ประการแรก ความคลั่งไคล้สนใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมของสิ่งที่ละครนำเสนอว่าเป็นสมัยพระนารายณ์ เช่น การกินอยู่ ความเชื่อ คำพูดคำจาภาษาโบราณ อย่างออเจ้า โล้สำเภา ฯลฯ กลายเป็นกระแสของ “วัฒนธรรม
ป๊อป” ย้อนยุคร่วมสมัยของความเป็นไทยในประวัติศาสตร์ ที่ทุกคนอินไปกับมันได้ เพราะตั้งแต่เกิดเราถูกติดตั้งซอฟต์แวร์ความเป็นไทยตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาทุกระดับ

ทั้งนี้ เพราะนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้กลายเป็นการนำเสนอการตีความประวัติศาสตร์ให้เห็นว่าสัมพันธ์กับชีวิตของคนเราทุกคน เป็นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสมัยนิยมในยุคอดีตที่ทำให้เชื่อว่าเป็นอดีตของเราเอง

Advertisement

อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยนั้นแข็งทื่อไร้ชีวิตชีวา เพราะแทบไม่มีเรื่องราวของประชาชนคนธรรมดาและวิถีชีวิตคนธรรมดาปรากฏอยู่ในนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับตัวเรานัก

เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเรียกว่า “ราชาชาตินิยม” คือเป็นประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่ทรงทำเพื่อชาติบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เสมือนเป็นบทเรียนว่าเราก็ต้องทำเพื่อชาติเช่นนั้นเสียด้วย

หลายคนยอมรับว่า ละครเรื่องนี้จุดกระแสให้คนหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การตั้งคำถามกับความถูกผิดกับความรู้หรือความจริงทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งเกิดพื้นที่ถกเถียงวิวาทะกันทั่วไป เรียกว่าได้เปิดพื้นที่แห่งการถกเถียงและตีความประวัติศาสตร์ของประชาชนคนไทยกันครั้งใหญ่ จากเนื้อหาละครอิงประวัติศาสตร์

ในขณะเดียวกันนักเรียนประวัติศาสตร์หรือคนที่มีอาชีพด้านประวัติศาสตร์ควรจะต้องเปิดใจกว้างให้เกิดการถกเถียงและหาฉันทามติกันในหมู่ประชาชนกันอย่างกว้างขวางให้ดำรงอยู่ต่อไป คนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะตีความประวัติศาสตร์ในแบบฉบับของตนเองได้

ประวัติศาสตร์แห่งชาติควรเกิดขึ้นในกระบวนการให้สังคมได้ถกเถียงและหาข้อสรุปร่วมกันแบบนี้ มากกว่าการมานั่งชี้นิ้วถูกผิดของผู้รู้เพียงไม่กี่คน ในนามของอะไรก็ตาม

นักประวัติศาสตร์เองไม่ควรคิดว่าตนมีสถานะเหนือกว่าคนอื่น เป็นผู้รู้หรือเข้าถึงความเป็นจริงในอดีตได้ดีกว่าคนอื่น นี่ไม่นับว่าเราอาจจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ ดังข้อถกเถียงที่รับรู้กันในหมู่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่

การออกมาฟาดงวงฟาดงาว่าละครไม่เป็นประวัติศาสตร์ หรือคอยจับผิดว่าไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ ก็ใช่แล้ว เพราะเขาผลิตละครอิงประวัติศาสตร์และมีสิทธิจะตีความให้สังคมตัดสิน

แต่นักประวัติศาสตร์ต้องทำหน้าที่เสนองานของตนให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ให้สังคมเห็นและยอมรับถึงวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่อาศัยหลักฐานและความมีเหตุมีผลแบบมืออาชีพเข้าไปถกเถียงในประชาสังคมดังกล่าวอย่างเท่าเทียม ใคร/ชนชั้นไหนจะต้องการเสนอประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับของตนเป็นแบบใดก็ผลิตออกมา

ประเด็นถัดมา ประวัติศาสตร์แม้ว่าจะศึกษาอดีต แต่ก็สะท้อนถึงสังคมปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตของสมาชิกสังคมไม่น้อยไปกว่ากันเลย พูดง่ายๆ ว่าคนเราเขียนประวัติศาสตร์ให้กับปัจจุบันเพราะให้คนปัจจุบันเป็นผู้อ่านและเข้าใจมันจากปัจจุบัน

ดังนั้น ประวัติศาสตร์มักจะสะท้อนความคิดฝันของคนร่วมสมัยไว้เสมอ ในกรณีละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้คือความฝันของชนชั้นกลางที่เสียงดังอยู่ในสื่อสารมวลชนทุกแขนง สำแดงให้เห็นถึงสถานะทางสังคมการเมืองของชนชั้นกลางที่เปล่งผ่านละครเรื่องนี้ และผมออกจะสงสัยว่า เอาเข้าจริงแล้วทุกชนชั้นอาจมีความฝันถึงอดีตเช่นนี้ไม่ต่างกันไปนัก จากการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมาเหมือนกัน

แต่ที่เห็นได้ชัดคือ การฝันถึงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของชนชั้นกลางสมัยนี้ในสนามความหมายของการเมืองชนชั้นนำ นั่นคือบทบาทการเป็นผู้มีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุนการคงสถานะอำนาจนำทางการเมืองของชนชั้นนำให้คงอยู่ต่อไปในสังคมไทย

ไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางการเมือง และพอใจแค่การมีสิ่งละอันพันละน้อยทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางเองบ้าง เช่น การกินอยู่ การแต่งกาย และการพูดจาพอจะให้ฟินกันไป เพราะชนชั้นกลางเองก็ไม่มีและไม่ได้สร้างวัฒนธรรมของตนเองขึ้นมา คอยแต่จะลอกเลียนวัฒนธรรมชนชั้นสูงตลอดมา

อีกประเด็นที่สำคัญคือ การโหยหาอดีตที่ทุกคนเสพได้จากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ เสมือนว่าเมื่อเราอยู่ในภาวะสังคมการเมืองที่จะฝันถึงอนาคตไม่ได้ ก็จะหันไปหวนหาอดีตอันรุ่งเรืองมาทดแทน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อบ้านเมืองยุคไหนก็ตามที่มืดมนอนธการด้วยการปกครองแบบเผด็จการ การสร้างประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงยุคทองในอดีตก็จะเป็นกลไกทางอุดมการณ์สำคัญที่จะใช้มอมประชาชน ดังในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะมีสุโขทัยเป็นยุคทองให้ใฝ่ฝันหา และยุคทองของสมัยนี้คือยุคการค้านานาชาติรุ่งเรืองเหมือนสมัยพระนารายณ์นั่นเอง

ที่น่าสนใจในกระแสที่เกิดขึ้นตามมาอีกประการนั่นคือ ผู้ประกอบการไทยจะสามารถทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้า เช่น กระแสใส่ชุดไทยเที่ยวโบราณสถานก็นับเป็นการขายวัฒนธรรม เหมือนที่เกาหลีและญี่ปุ่นทำในสถานที่ท่องเที่ยวโบราณทั้งหลายเป็นปกติ

ความเป็นไทยที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นเจ้าของและตีความได้หลายรูปแบบนั้น ต้องสามารถต่อยอดมาทำให้เป็นสินค้าขายได้ในหลายหลากรูปแบบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญแห่งอนาคต

ดังที่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างเกาหลีใต้ที่เราจะเอาเป็นแบบอย่างได้สร้างเศรษฐกิจภาคนี้ของตนให้ร่ำรวยให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน ซึ่งข้อสำคัญคือ สิทธิและความเท่าเทียมกันในการตีความหมายและถอดรหัสของความเป็นไทยที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป และทำให้ “วัฒนธรรมไทย” เป็นสินค้าขายในระดับโลกได้ ไม่ใช่แค่เป็นละครฟินเว่อร์กันอยู่ในประเทศไม่ถึงเจ็ดสิบล้านกำลังซื้อเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image