สถานีคิดเลขที่12 อนาคต 16เม.ย.61 โดย ปราปต์ บุนปาน

ก่อนหน้าเทศกาลสงกรานต์ ละครฮิต “บุพเพสันนิวาส” ได้อวสานอำลาผู้ชมไปอย่าง “แฮปปี้เอนดิ้ง”
ทั้งสำหรับแฟนๆ ที่ตามติดหน้าจอ และเหล่าตัวละครหลักในเนื้อเรื่อง

ในระดับครัวเรือน “การะเกด/เกศสุรางค์” ก็มีความสุขกับ “คุณพี่เดช” และญาติมิตรรายอื่นๆ

ขณะที่ในระดับอาณาจักร รัฐประหารขับไล่ “ฝรั่งเศส” ของ “พระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์” ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

ใครที่ได้ชมละครตอนจบคงรู้สึกสะดุดใจพอสมควร เมื่อ “เกศสุรางค์” ในร่าง “การะเกด” นั้นมิได้เดินทางย้อนกลับสู่อดีต ด้วยบทบาทสถานะของผู้เฝ้ามองดูความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยอยู่ห่างๆ ณ วงนอก

Advertisement

แต่เธอยังทำในสิ่งที่บางคนเรียกว่า “สปอยล์ประวัติศาสตร์” หรือ “แทรกแซงอดีต”

กล่าวคือ “เกศสุรางค์” ดันนำเอาความรู้ที่ได้จากการอ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์ในปัจจุบัน/อนาคต ไปแปรเปลี่ยนเป็นคำชี้แนะเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อประกอบการตัดสินใจทางการเมืองของกลุ่มขุนนางที่กำลังจะก่อรัฐประหารในอดีต

ไม่ว่าสิ่งที่นางเอก “บุพเพสันนิวาส” ทำลงไปจะเหมาะสมหรือไม่?

ทว่าสำหรับผู้มีอำนาจ (หรือผู้เล่นเกมชิงอำนาจ) ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ยุคใด ซึ่งยังคาดคะเน “ภาพอนาคต” ของตนเองและสังคมที่พวกตนพยายามยึดกุมอยู่ ได้ไม่ชัดเจนกระจ่างแจ้งนัก

การมี “ศาสดาพยากรณ์” เช่น “การะเกด/เกศสุรางค์” มาช่วยทำนายอนาคตให้อย่างแม่นยำ ก็คล้ายจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

แต่อย่างที่ทุกคนทราบนั่นแหละ ว่าทั้งหมดนี้มันเป็นแค่ “ละคร” และ “นิยาย”

ย้อนกลับไปยังช่วงที่ “บุพเพสันนิวาส” ประสบความสำเร็จถึงขีดสุด ผู้ใหญ่หลายท่านในคณะรัฐมนตรีพยายามวาดฝันว่าละครเรื่องนี้คือ “อำนาจละมุน” หรือภาพลักษณ์เชิดหน้าชูตาของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซึ่งอาจได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

ในภาวะที่เรายังไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้ว “บุพเพสันนิวาส” จะไปได้ไกลแค่ไหน? บนเส้นทางสาย “อินเตอร์” ก็มีข่าวบันเทิงเล็กๆ ชิ้นหนึ่งปรากฏขึ้น

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ได้ประกาศรายชื่อหนังที่ถูกคัดเลือกเข้าฉายในเทศกาลประจำปีนี้อย่างเป็นทางการ

มี “หนังไทย” เรื่องหนึ่งได้รับคัดเลือกให้ไปฉายในสาย “Special Screenings” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นพิเศษเฉพาะทางสังคมและการเมือง

หนังเรื่องดังกล่าวมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Ten Years Thailand”

จากข้อมูลเบื้องต้นที่เริ่มเผยแพร่ออกมา ภาพยนตร์ความยาวประมาณชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้จะประกอบด้วยหนังสั้นสี่เรื่อง โดยสี่ผู้กำกับ

ได้แก่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยคว้ารางวัล “ปาล์มทองคำ” ของคานส์จากหนัง “ลุงบุญมีระลึกชาติ”, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งหนังคาวบอยไทยสไตล์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” ของเขาเคยไปเปิดตัวที่คานส์เมื่อปี 2544, อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้เคยมีผลงานสร้างชื่ออย่าง “วันเดอร์ฟูลทาวน์ เมืองเหงาซ่อนรัก” และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินด้านภาพเคลื่อนไหวรุ่นยังบลัด ที่เพิ่งมีผลงานซึ่งนำเอานวนิยาย “ข้างหลังภาพ” มาตีความ/ขยายความใหม่

“Ten Years Thailand” ถือเป็น “น้อง” หรือ “พันธมิตร” ของหนังเรื่อง “Ten Years” ฉบับฮ่องกง ที่ออกฉายเมื่อสามปีก่อน

ในหนังเรื่องนั้น บรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกงจำนวนห้าราย ได้มาร่วมกันตั้งคำถามถึง “อนาคต” ของบ้านเกิดเมืองนอนภายใต้อำนาจรัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง

เช่นเดียวกับ “Ten Years” เวอร์ชั่นไทย ที่คนทำหนังทั้งสี่รายจะมาร่วมจินตนาการถึงประเทศของพวกเขาภายในช่วงเวลาอีกสิบปีข้างหน้า เพื่อสร้างสรรค์บทสนทนาและภาพสะท้อนว่าด้วยสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน

ไม่ว่าจะเล่นสนุกกับ “อดีต” หรือครุ่นคิดเกี่ยวกับ “ปัจจุบัน” ทั้ง “บุพเพสันนิวาส” และ “Ten Years Thailand” ล้วนให้ความสำคัญแก่ “อนาคต” เหมือนๆ กัน

“อนาคต” จึงกลายเป็นประเด็นหลักที่ถูกใส่ใจร่วมกันโดยคนหลายกลุ่มในสังคมไทยร่วมสมัย

ตั้งแต่คนชั้นกลางในอุตสาหกรรมบันเทิง เรื่อยไปจนถึงคนในแวดวงการเมือง ที่อย่างน้อยก็มีชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” และ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” อุบัติขึ้นมา

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image