ร้านปลาร้า-แม่ค้าส้มตำโคราชมั่นใจรัฐออกกม.มาตรฐานทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น(ชมคลิป)

ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้า ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยระบุว่าคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องปลาร้าเป็นมาตรฐานทั่วไป ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับปลาร้า ตั้งแต่คำอธิบายกระบวนการผลิต ส่วนประกอบ และเกณฑ์คุณภาพซึ่งประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพที่ต้องคลุกเคล้ากันพอดี ไม่แห้งหรือเละเกินไป เนื้อปลานุ่ม หนังไม่ฉีกขาด มีสีตามลักษณะเฉพาะของเนื้อปลา กลิ่มหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไม่มีกลิ่นคาว เหม็นอับ เหม็นเปรี้ยว ไม่มีพยาธิ หรือสิ่งแปลกปลอมเจือปน เป็นต้น

วันที่ 18 เมษายน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการแผงขายปลาร้า ที่ตลาดสดย่าโม ภายในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ปรากฏว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าปลาร้า ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ โดยนายประสิทธิ์ วงศ์กำไร อายุ 51 ปี เจ้าของร้านขายปลาร้า ในตลาดย่าโม กล่าวว่า สำหรับร้านของตนนั้น จะจำหน่ายของหมักของดองทุกชนิด อาทิ ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ปลาจ่อม ปูดอง น้ำปลาร้า และปลาร้าดิบ ซึ่งแต่ละวันจะมีลูกค้ามาสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นบรรดาพ่อค้า แม่ค้า ร้านส้มตำ ที่ต้องซื้อปลาร้าไปเป็นวัตถุดิบในการทำส้มตำขาย ทั้งนี้โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะมีการออกประกาศเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานปลาร้า เพราะจะได้ยกมาตรฐานให้กับปลาร้าทั่วประเทศ และเป็นผลดีทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในกระบวนการผลิต รวมถึงความสะอาดต่างๆ ด้วย โดยตนเชื่อว่าการประกาศเป็นกฎหมายครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตปลาร้าแน่นอน แต่จะส่งผลดีทำให้ขายดีมากยิ่งขึ้นด้วย

นางแพรวพรรณ ดีสันเทียะ อายุ 50 ปี แม่ค้าร้านส้มตำแห่งหนึ่ง ที่เป็นลูกค้ามาซื้อปลาร้า กล่าวว่า ตนเองนั้นเปิดร้านขายส้มตำข้างทาง อยู่ในตัวเมืองนครราชสีมา ซึ่งแต่ละวันจะใช้ปลาร้าเป็นวัตถุดิบจำนวนมาก ทั้งนี้สำหรับปลาร้าที่นิยมใส่ส้มตำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปลาร้าดิบ เพราะจะมีกลิ่นหอม และรสชาติดีกว่า ส่วนปลาร้าสุก จะได้รับความนิยมน้อยกว่า แต่ลูกค้าบางรายที่อยากได้ในเรื่องของความสะอาดปลอดภัย ก็จะสั่งให้ใส่ปลาร้าสุกแทน ส่วนการที่รัฐบาลจะออกเป็นกฎหมายกำหนดมาตรฐานปลาร้านั้น ตนก็เห็นด้วย เพราะอย่างน้อยก็จะได้ทำให้ผู้ผลิตปลาร้าทั่วประเทศ ได้มีความตื่นตัวในเรื่องของการเพิ่มความสะอาดในการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคด้วย ทั้งนี้สำหรับการเลือกซื้อปลาร้าของตนเองนั้น ปัจจุบันก็จะเลือกซื้อเฉพาะที่ร้านประจำ ซึ่งมีความสะอาดน่าเชื่อถือได้ แต่เพื่อเพิ่มความมั่นใจก็ยังต้องนำไปหมักเองอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปประกอบส้มตำขาย เพื่อเพิ่มความหอมของปลาร้า และเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าที่มาซื้อส้มตำด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image