ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ขอ 10 ปีฟื้นสภาพป่า ‘บ้านพักตุลาการ’ ด้านเครือข่ายฯ เดินหน้าฟ้องศาล ปค.

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ จ.เชียงใหม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เนื่องในวันศาลยุติธรรม มีนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา (อดีตประธานสาลอุทธรณ์ภาค 5) และนายสวัสดิ์ สุขวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำข้าราชการตุลาการ และผู้ร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานราชการร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณด้านข้างศาลทางทิศใต้ และบริเวณบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ด้านหลังศาล ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ดอนแก้ว ถนนเลียบคลองชลประทาน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่มีการเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพอยู่ในขณะนี้

นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ไม่อยากจะโต้เถียง แต่ในมุมมองของเรา เราทำถูกต้องแล้วในแง่ของกฎหมาย และเป็นทรัพย์สินทำลายยาก ไม่ง่ายที่จะทำลายทิ้ง ที่ผ่านมามีติดต่อจะมาเรื่องรังวัดเขต ต้องเป็นส่วนกลางที่กรุงเทพฯ และนายบัณรส บัวคลี่ ตัวแทนเครือข่ายทำหนังสือสอบถามมาเรื่องโครงการปลูกป่าว่าใช้งบประมาณส่วนไหน ซึ่งได้โทรแจ้งว่าใช้เงินกองทุนจากผู้บริจาคของผู้พิพากษา แต่ไม่ได้มาขอเจรจาอะไร

“ทราบว่าวันที่ 2 เมษายน ไปรวมตัวกันอยู่ที่หน้าค่ายกาวิละ ก็บอกว่ามาคุยกับตนได้ แต่ขอคุยธรรมดา ก็เลยไม่ได้คุยกัน ซึ่งศาลไม่ได้รับการติดต่ออะไรจากฝ่ายทหารในการประชุมครั้แรก จนวันที่ 9 เมษายน ที่มีหนังสือเชิญมาแต่ในส่วนของสำนักงานศาลที่กรุงเทพฯ จะมีการประชุมอยู่แล้ว เลยแจ้งว่าให้รอผลการประชุมดีกว่า เรานิ่งเพราะเราถูกฝึกมาอย่างนี้ ให้พูดน้อย อดทน อย่าเป็นคู่พิพาท ฝึกมาอย่างนี้ หากมาแบบสุภาพบุรุษเชิญเลย” นายสวัสดิ์ กล่าว

นายชำนาญ กล่าวว่า ไม่ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด และมากที่สุด ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ขัดข้อง ศาลยุติธรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจประเด็นนี้ เพราะทั้งประธาน และผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้พิพากษามีหน้าที่หลักคือพิจารณาคดี ส่วนเรื่องอาคารสถานที่เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นฝ่ายจัดอำนวยความสะดวกให้ ประเด็นกฎหมายที่เครือข่ายอ้างถึง ต้องไปดูให้รอบคอบว่าใช้ได้จริงหรือเปล่า เพราะทรัพย์สินของแผ่นดิน ใครจะไปรื้อถอนทำลายมีความผิด ไม่สามารถทำได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.ต้องเสี่ยงภัยต่อการรับผิดชอบ ซึ่งไม่ง่ายเลย การใช้เงินของแผ่นดินมีระเบียบวินัย ใครจะไปคิดทุบรื้อทำลายไม่ได้ ส่วนจะไปพิจารณากันเป็นอย่างไร สำนักงานศาลยุติธรรมคงไม่ขัดข้อง

Advertisement

“สิ่งที่อยากจะเรียนคือ อีกไม่นานจะต้องมีคดีเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการฟ้องกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วใครจะพิจารณาหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่ ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ ทั้งภาคเลย เป็นเรื่องใหญ่ ท่านไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา ในขณะที่คดีเลือกตั้งต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะท่านต้องเดินทางมาไกลในการจะพิจารณาคดีอย่างไร น่าเป็นห่วง ที่อยากให้รื้อถอนไปแล้วให้ไปหาที่ใหม่ พื้นที่ไกลจากเมืองตั้ง 10 กิโลเมตร จะให้ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่เดินทางอย่างไร ท่านต้องพิจารณาตรงนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าอย่าเพิ่งรื้อ ให้ศาลอยู่ก่อน และให้ศาลปรับระบบสภาพสิ่งแวดล้อม แล้ว 10 ปีมาดูกันว่าสามารถฟื้นฟูให้เป็นสภาพป่าได้หรือไม่ เป็นทางออกอีกทางที่คิดว่าน่าจะดีกว่าจะรื้อถอน บริเวณที่ดินที่ก่อสร้างมีแค่ 89 ไร่เท่านั้น ถือว่าเล็กน้อยมาก และบริเวณบ้านพักก็เหลืออยู่แค่ 40 กว่าไร่ น้อยมาก เราไม่เอาเวลาไปแก้ไขปัญหาอื่นหรือ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การรื้ออย่างเดียว ขอเวลาแค่ 10 ปี แล้วเรามาว่ากันว่าบริเวณนี้ยังเป็นทะเลทรายค่อยมาดูกันอีกที” นายชำนาญ กล่าว

นายชำนาญกล่าวอีกว่า พวกเราก็รักเชียงใหม่ไม่น้อยกว่ารักดอยสุเทพ รักป่าดอยสุเทพ และรักแม่ปิงไม่น้อยกว่าคนเชียงใหม่ ที่ผ่านมาไม่ได้มีภาคประชาชนคนไหนมาพูดคุยก่อนการก่อสร้าง ไม่เห็นเครือข่ายที่ว่านี้เลย ยินดีที่ท่านจะมาทำความเข้าใจ แต่ขอให้มาที่ศาล ท่านอยากเห็นภาพศาลไปคุยในค่ายทหารหรือ ประชาชนอยากเห็นหรือ ต่อไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการฟ้องคดี ในความเห็นส่วนตัวของตนนะ ทางออกมีคือเอาข้อเท็จจริงมาพูด ท่านกล่าวหาว่าตัดไม้ไปหมื่นต้น ไม่มี ขณะก่อสร้าง ไม่มี ถ้ามีตนไม่ไห้ตัด ตนเป็นคนสั่งห้ามไม่ให้ตัดต้นไม้ แต่ให้ล้อม และร่นเขตก่อสร้างลงมาจากเดิมสุดเขตจรดอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะต้องตัดไม้ จึงให้รักษาผืนป่าไว้ 58 ไร่ ไม่มีการตัดต้นไม้

“ยืนยันว่าจะไม่ฟ้องร้อง ท่านที่พูดจาพูดเท็จ หรือในเชิงหมิ่นประมาท ท่านรู้อยู่แก่ไจว่าท่านพูดอะไรออกมา ศาลอยากแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ไปใช้กฎหมายกับประชาชน อยู่ร่วมกันได้ บรรดาเครือข่ายทั้งหลายอย่าโกรธแค้นอะไรเลย มาพูดกันดีๆ และเรายินดีพูดคุยกับบรรดาแกนนำทั้งหมด ไม่ใช่เวทีสาธารณะนะ ถ้าท่านไม่เชื่อศาลแล้วท่านจะไปเชื่อใคร ผมเป็นประธานศูนย์ไกล่เกลี่ย ถ้าต้องไปไกล่เกลี่ยในค่ายทหาร ก็ต้องยุบตำแหน่งผม ไปพบผมที่กรุงเทพฯ ก็ได้ คุยกันต่อหน้าสื่อมวลชนก็ได้ ผมยินดี ไม่เกี่ยงเลย เมื่อสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ราชพัสดุ ของบถูกต้อง มีการควบคุม มี สตง.ตรวจสอบ ยิ่งมีเครือข่ายตรวจสอบการก่อสร้างยิ่งต้องระมัดระวัง สอบถามวิศวกรควบคุมงานเรื่องระบบน้ำเสียในพื้นที่ก่อสร้าง บอกว่าดีมาก ไม่มีการถมลำห้วยแม้แต่ลำเดียว ไม่มีไฟป่า น้ำป่า เพราะน้ำภูเขาจะตก และไหลลงห้วยนวมินทร์ 40 เมตร หากล้นจากอ่างนวมินทร์ก็จะไหลเข้าสู่บ้านพักซึ่งมีการทำสะพานข้ามกว้าง 20 เมตร และไหลไปลงห้วยตึงเฒ่า ไม่กระทบระบบนิเวศ สามารถให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับต้นน้ำลำธารตรวจสอบได้” นายชำนาญ กล่าว

นายชำนาญกล่าวต่อว่า ศาลไม่เคยนัดกับใครไปเจรจาในค่ายทหาร ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เคยนัดไปคุยในค่ายทหาร สิ่งสำคัญคือหน้าที่ของเราคือตัดสินอย่างยุติธรรม เที่ยงธรรม ศรัทธาของประชาชนน่าจะอยู่ที่ตรงนี้ เรื่องบ้านพักเรื่องเล็กน้อยมาก อย่าเอามาเป็นเหตุให้เสื่อมศรัทธาศาลยุติธรรมเลย เพราะผู้พิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องเลย หากเสื่อมศรัทธาต่อผู้พิพากษา จะอันตราย ในฐานะผู้พิพากษา หน้าที่คือทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อย่าเอาบ้านพักแค่เนื้อที่ 89 ไร่ มาโจมตีว่าทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อศาล มันคนละเรื่องกัน ผมคิดไม่ออกว่าจะผนวกพื้นที่เข้าไปในเขตอุทยานฯ อย่างไร เป็นไปได้อย่างไร มันกลับกันเลย จากอยู่ในอุทยานฯ แล้วเพิกถอนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ขอเวลา 10 ปี ว่าให้ผู้พิพากษาอยู่ และปรับปรุงพัฒนาเข้ากับระบบสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหาน่าจะไปในเชิงนี้ การที่ท่านทุบทำลายเท่ากับท่านทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพยากรของชาติ เงิน 600 ล้านบาท หินปูนทรายเท่ากับว่าท่านทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายทรัพย์สินของชาติ จะเอาอย่างนั้นหรือ

“หากว่าศาลเว้นที่ไว้ 58 ไร่ จะปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็นคำมอกหลวง พยูง หรือต้นไม้ในพื้นที่ จะเป็นสัญลักษณ์ว่าต่อไปจะไม่มีใครบุกรุกขึ้นไปอย่างที่ห่วงกังวลไปจนจรดอุทยานฯ ไม่ใช่แค่นั้นนะ ด้านซ้ายด้วย จะมีพื้นที่ราชพัสดุที่ไม่ใช่เขตอุทยานฯ ตลอดแนว จะไม่มีใครบุกรุกขึ้นไปอีก เพราะมีผู้พิพากษาดูแลอยู่ ไม่มีแนวบรรทัดฐานให้ใครบุกรุกได้อีก ผมดีใจนะที่ท่านทั้งหลายหวงแหน เป็นการกระตุ้นให้ทุกคนรักป่า แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วทำอย่างไรให้ดี และกลับสู่สภาพเดิมให้ดีที่สุด ดีกว่าไปทำลายทรัพย์สิน ดีกว่ายื่นคำขาดอย่างนี้ อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ไม่ได้ใหญ่โตหรูหราอะไรเลย ลองเทียบกับบ้านหัวหน้าศาลจังหวัด หรือศาลแขวงเท่านั้น” นายชำนาญ กล่าว

นายชัชวาล ทองดีเลิศ จากมูลนิธิสืบสานล้านนา เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า คงเป็นกิจกรรมของศาลในการสร้างภาพพจน์ที่ดี แต่ฤดูกาลนี้ปกติเขาจะไม่ปลูกต้นไม้กัน เพราะอากาศร้อน และแล้ง ต้องใช้น้ำมากในการดูแล และโอกาสรอดน้อย เพราะปกติเขาจะปลูกกันในราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน แต่ก็ไม่อยากมองว่าเป็นการสร้างภาพ ถือว่าเป็นเรื่องดีๆ ก็แล้วกัน แต่สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การก่อสร้างบ้านพักตุลาการที่ถูกเรียกว่าหมู่บ้านป่าแหว่ง เป็นการก่อสร้างที่ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อนที่จะดำเนินการนั้น เป็นสิ่งที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าขบคิดกันมาตลอด เพราะจริงๆ แล้วควรทำประชาพิจารณ์ และตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราพยายามส่งสัญญานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ศาลออกมาอ้างว่าทำทุกอย่างถูกกฎหมายทุกประการ

“เราคงต้องมาดูข้อเท็จจริงกัน เพราะเริ่มมีคณะ และกลุ่ม กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หากหลังวันที่ 29 เมษายน ไม่มีความชัดเจน ชาวเชียงใหม่จะเริ่มเคลื่อนไหวใหญ่ พร้อมเดินหน้ากระบวนการฟ้องศาลปกครองคู่กันไป เพราะปมของการก่อสร้างบ้านพักตุลาการมีหลายประเด็นที่ต้องรวบรวม รวมทั้ง การตัดต้นไม้หวงห้าม โดยเฉพาะไม้สักที่เห็นจากภาพถ่ายหลายมุม หากเรื่องเดินหน้าถึงขั้นฟ้องศาลปกครอง ก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงทุกเรื่อง ซึ่งทีมทนายจะทำหน้าที่นั้นอย่างเข็มแข็ง” นายชัชวาล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image