ปธ.สภาวัฒนธรรมเพชรบูรณ์เล่าสู่กันฟัง’วิถีไทหล่ม’ อะไรคือ ‘พิธีเลียบบ้านเลียบเมือง’

ภาพโดย : Teerapong Srithum

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า อำเภอหล่มเก่าในอดีตได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบาง ทำให้มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เรียกว่า “วัฒนธรรมไทหล่ม”และยังนิยมเรียก”ชาวไทหล่ม” นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เกือบทุกหมู่บ้านทั้งในเมืองและนอกเมืองจะมีหอเจ้าพ่อเป็นที่สถิตอยู่ เจ้าพ่อเจ้านายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและคุ้มครองให้ความปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง และจะมีชื่อเรียกเจ้าพ่อประจำหมู่บ้านของต่างกันออกไป เช่น เจ้าพ่ออู่คำ เจ้าพ่อตอมาด เจ้าพ่อขุนซวง เจ้าพ่อสามดาว เจ้าพ่อหนองบัว เจ้าพ่อหนองดู่ เจ้าพ่อพระพรหม เจ้าพ่อหนองขาม เจ้าพ่อขุนจบ เจ้าพ่อวังเสื้อแดง และเจ้าพ่อสินชัย เป็นต้น

ภาพโดย : Teerapong Srithum

นายวิศัลย์กล่าวว่า เจ้าพ่อทุกองค์จะมีร่างทรงหรือคาบและมีบริวารเจ้าพ่อเป็นจำนวนมาก กฎเกณฑ์การเป็นร่างทรงและการกินดอง(พิธีเปลี่ยนร่างทรงเจ้าพ่อ) จะมีรายละเอียดมากมายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ประมาณเดือน 6 ของทุกๆ ปีจะมีการเลี้ยงปีเจ้าพ่อเจ้านายกันใหญ่โต มีการจัดเครื่องเซ่นบวงสรวง เข้าทรง และร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน ลูกศิษย์ลูกหาผู้นับถือเจ้าพ่อ ใครอยู่ที่ไหนก็จะกลับมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียง อีกทั้งเจ้าพ่อยังมีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เรียกว่า “การปัว” ให้แก่ผู้คนอีกด้วย

นายวิศัลย์กล่าวว่ายังมีพิธีอีกอย่างที่น่าสนใจที่เรียกว่า “เลียบบ้านเลียบเมือง” อยู่ใน”การเลี้ยงปี” ของเจ้าพ่อเจ้านายหอต่างๆในเมืองหล่ม จะมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละแห่ง เช่น บางหมู่บ้านจะสมมุติเป็นเพียงการเวียนรอบหอ จำนวนสามรอบถือเป็นการเลียบเมือง แล้วจึงส่งกระทง”ซำฮะ” บางหมู่บ้านจะทำการเดินรอบหมู่บ้านจริงๆ โดยชาวบ้านจะรอที่หน้าบ้านของตน โดยเตรียมของรับรองเจ้าพ่อเจ้านาย เช่น น้ำ เหล้าขาว หมากพลู บุหรี่ ฝ้ายผูกแขน และข้าวเหนียว เพื่อให้เจ้าพ่อ “กวดข้าว” เอาสิ่งอัปมงคลลงกระทงซำฮะ

ภาพโดย : Teerapong Srithum

“จะทำไปจนครบทุกบ้านจากนั้นเจ้าพ่อเจ้านายจะไปยังปากทางหมู่บ้านเพื่อส่งกระทงซำฮะหรือที่เรียกว่า ส่งผีหลวง จากนั้นจะยกทุงเขตทุงแดน (ธงหางยาวหรือตุง) พร้อมทั้งขีดขั้นปันแดน เพื่อไม่ให้ผีหลวงและสิ่งอัปมงคลหวนกลับมายังหมู่บ้านอีก แม้พิธีกรรมแต่ละแห่งจะต่างกัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือซำฮะหมายถึงการชำระสะสางสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้แก่คนในหมู่บ้าน แต่พิธีการเดินเลียบบ้านนี้ค่อยๆ ลดน้อยลงไป เพราะว่าใช้เวลานานบางแห่งคาบเจ้านายแก่ชราเดินไม่ไหว ก็เลียบเมืองโดยเดินรอบหอเอาก็มี” นายวิศัลย์ กล่าว

Advertisement

ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวว่า ภูมิปัญญาที่แฝงในพิธีกรรมเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ความรักความสามัคคีในชุมชนและความกตัญญูแล้ว ยังทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนในหมู่บ้าน รวมทั้งความเกรงกลัวและการละอายต่อการทำบาป เชื่อว่าหากทำไม่ดี คิดไม่ดี เจ้าพ่อจะไม่ให้ความคุ้มครอง จากความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวหล่มเก่าหรือชาวไทหล่มเมื่อโยกย้ายไปสร้างปักหลักสร้างถิ่นฐานใหม่ที่ไหนก็ตามก็จะนำความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้ไปปฏิบัติกันสืบต่อ ทำให้พิธีกรรมความเชื่อเรื่องการเลี้ยงเจ้าพ่อยังสามารถพบเห็นได้พื้นที่อื่นๆ เพียงแต่อาจจะแตกต่างไปตามกาลเวลาบ้างและแก่นแท้หรือรากเหง้า ส่วนใหญ่ก็ยังมาจากพื้นเพเดิมวัฒนธรรมไทหล่มแทบทั้งสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image