‘วีระศักดิ์’ร่วมกิจกรรมปั่น Slow life เดินหน้ารวมกลุ่มอันดามัน-จับมือ ก.ทรัพยากรฯ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเขตอุทยานฯ

‘วีระศักดิ์’ ร่วมกิจกรรมปั่น Slow life ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เดินหน้ารวมกลุ่มอันดามันสู่’แอ่งท่องเที่ยว’-จับมือ ก.ทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเขตอุทยานฯ

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 29 เมษายน บริเวณริมชายหาดมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายศุภศักดิ์ ศรีหมาน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง, นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม, นายกฤษฎา รัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, น.ส.นันทวัน ศิริโภคพัฒน์ ผอ.สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานและร่วมกิจกรรม ปั่น Slow life ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมืองต้องห้ามพลาด โดยมี ดร.พิทักษ์พงษ์ ชัยคช ประธานชมรมกีฬาจักรยานจังหวัดตรัง ภาคราชการ เอกชน นักปั่นจักรยาน และประชาชน ร่วมกิจกรรม กว่า 800คน ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในพิธีเปิดกิจกรรมดังกล่าวด้วย

กิจกรรม ปั่น Slow life ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมืองต้องห้ามพลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง โดยการกระจายตัวนักท่องเที่ยวจากเมืองหลัก อีกทั้งเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ขบวนปั่นไปตามเส้นทาง ริมหาดราชมงคลฯ-สะพานฉางหลาง-อุทยานแห่งชาติ หาดเจ้าไหม-วงเวียนปากเมง-ริมหาดราชมงคลฯ ระยะทางประมาณ 38 กม.

นายวีระศักดิ์ เปิดเผยถึงการจัดตั้งเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดภาคใต้กลุ่มอันดามัน ว่า ขณะนี้มีพระราชบัญญัติ และนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่มีการประกาศเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหลายแบบ กลุ่มจังหวัดเป็นอีกแบบที่มีการประกาศ เพราะฉะนั้น กลุ่มจังหวัดอันดามันได้อยู่ในคณะกรรมการร่วมกันเรียบร้อย เพียงแต่ว่าต้องจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันไม่เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างจัด และแย่งแข่งกันเอง แต่ตรงกันข้ามหลายเมืองหลายแหล่งกลุ่มอันดามันหลายแห่งเป็นที่รู้จักกันในระดับโลก แล้วทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้เป็นแอ่งแห่งการท่องเที่ยว จากแหล่งก้าวสู่แอ่งจึงต้องมีความเชื่อมโยงแล้ว สามารถที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความรู้สึกว่า เมื่อมาเที่ยวแล้วจะไม่หยุดอยู่เฉพาะที่แหล่งใดแหล่งหนึ่ง แต่อยากเข้าไปขอมีประสบการณ์ร่วมการท่องเที่ยวแหล่งอื่นในแอ่งเดียวกัน

Advertisement

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ซึ่งอย่างนี้ประเทศไทยเรายังไม่เคยทำ แต่ถ้าหากว่าทำให้เกิดขึ้นได้ก็จะเห็นได้ว่า จะสามารถกระจายโอกาสทางด้านการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองทางการท่องเที่ยวต่างๆ ไปยังชุมชนรองชุมชนที่ยังอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวบางชุมชนเป็นชุมชนประมงเฉยๆ แต่ถ้าหากเข้ามาสู่กระบวนการพัฒนาร่วมกัน กระบวนการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม ทำให้เกิดความรู้สึกได้ว่า กลุ่มประมงชุมชนไม่ใช่มีอาชีพเฉพาะการจับปลา จับสัตว์น้ำทะเลขายเฉยๆแต่ยังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวด้วยซึ่งเป็นรายได้เสริม

“ผมคิดว่าในขณะที่เรากำลังภูมิใจกับรายได้ของประเทศที่สูงขึ้นเรื่อยๆจนกระทั้งทะลุ 20 % GDP ของประเทศ เราต้องสามารถตอบคำถามกับคนตัวเล็กๆซึ่งอยู่ตามที่ห่างไกลว่า เขาได้อะไร การที่เรามาช่วยทำให้เกิดการอนุรักษ์ ตัวกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นการท่องเที่ยว เมื่อก่อนการท่องเที่ยวหมายถึงมาดูของสวยๆ แต่วันนี้จะนำพาให้เกิดเห็นภาพของความงดงามของการท่องเที่ยว ความงดงามมองด้วยตาไม่ได้แต่ถ้าได้เข้าไปสัมผัส เสริมการมีส่วนร่วมสร้างประสบการณ์ เราจะมองเห็นถึงความงามของความหลากหลายทางชีวภาพที่ประชาคมที่อยู่ในพื้นที่ อยู่กันเองที่สามารถเอื้อเฟื้ออำนวยต่อกันได้ ความงามเหล่านั้นทำให้เรารู้จักว่า จานอาหารที่จะอยู่ที่ไหน ถ้ามาจากที่นี่เรารู้ทันทีว่า มีความงดงามในเบื้องหลังของมัน” นายวีระศักดิ์ กล่าว

ต่อข้อคำถามที่ว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ มักจะเกิดปัญหาขึ้นแม้แต่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมามีการทำงานแบบต่างคนต่างทำ แต่เมื่อตนมาเป็นรัฐมนตรี ได้มีการลงนามร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตกลงจะให้มีการประชุมกันเป็นประจำ พร้อมทั้งจัดทำโครงสร้างให้ปลัดของทั้ง 2 กระทรวงเป็นประธานกรรมการร่วม รัฐมนตรีว่าการทั้ง 2 กระทรวงเป็นที่ปรึกษาร่วม และให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านแผนของกระทรวงการท่องเที่ยวเป็นฝ่ายเลขานุการร่วม ทำให้การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในเขตอุทยานฯจะได้มีความร่ววมือกันมากขึ้น

Advertisement

โดยก่อนหน้านี้ นายสวัน เสน่หา ประธานชมรมการท่องเที่ยวและโรงแรมหาดปากเมง พร้อมสมาชิกชมรมฯยื่นหนังสือต่อ นายวีระศักดิ์ เพื่อขอความช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมของทางชมรมและการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดและภายในหาดปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

“ชมรมการท่องเที่ยวและโรงแรมหาดปากเมง ได้ก่อตั้งโดยการวมตัวของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในพื้นที่หาดปากเมง เมื่อปี พ.ศ.2559 เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของหาดปากเมงอันเป็นการตอบสนองต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดตรัง แต่ในการทำกิจกรรมต่างๆที่ผ่านมา ประสบปัญหาอุปสรรคหลายประการ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของชมรมการท่องเที่ยวและโรงแรมหาดปากเมงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว

“ทาง ชมรมฯจึงขอรับการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวของหาดปากเมง ด้านสาธาณูปโภค สนับสนุนผลักดันให้มีถนน 4 เลนจากเมืองตรัง-หาดปากเมง ระยะทาง 40 กม. พร้อมทั้งติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง 2) จัดให้มีป้ายแสดงสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องรับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการท่องเที่ยว 3) ปรับปรุงระบบไฟส่องสว่างบริเวณหาดปากเมง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 4)สนับสนุนสิ่งก่อสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เช่น ที่ทิ้งขยะบริเวณชายหาด

ด้านการเชื่อมโยงเครือข่ายท่องเที่ยว 1) สนับสนุนการจัดตั้งเครือข่ายการท่องเที่ยวกลุ่มอันดามัน 6 จังหวัดเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม 2)ส่งเสริมสนับสนุน กลุ่มชมรมต่างๆให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนและเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงต่อกัน ด้านกิจกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยว 1)สนับสนุนงบประมาณการจัดงาน อนุรักษ์หอยตะเภาและเทศกาลเดือนสิบจังหวัดตรัง 2) สนับสนุนงบประมาณการจัดงานลอยกระทงใหญ่ที่สุดในโลกกลางทะเลตรัง 3)สนับสนุนงบประมาณการจัดงานสงกรานต์อุโมงค์น้ำหาดปากเมง และ 5)สนับสนุนการจัดงาน ดูดาวเค้าท์ด่วน์หาดปากเมงในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยนายวีระศักดิ์ รับหนังสือและรับปากว่าจะไปดูแลให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image